หนทางเลี่ยงมะเร็ง: ไม่อยู่นิ่ง ให้นมลูก ดื่มกาแฟ

รศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการ

0
1248

ข้อแนะนำในการปฏิบัติตนเพื่อลดความเสี่ยงของมะเร็งในความเห็นของ World Cancer Research Fund ที่จะเล่าถึงในบทความนี้ เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ไม่ยาก เพราะเป็นเรื่อง “การทำตัวไม่อยู่นิ่ง” แต่สำหรับกรณี “การให้นมลูก” อาจต้องชั่งใจเพราะต้องมีสามีก่อน ส่วน “การดื่มกาแฟ” นั้นให้ความหวังพร้อมความน่ากังวลบางประการ

การทำตัวไม่อยู่นิ่ง (Physical activity)

เป็นปัจจัยลดความเสี่ยงของมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ เต้านม (ของสตรีหมดประจำเดือน) และมดลูก มนุษย์เงินเดือนมักต้องการคนมาคอยบังคับ ชี้นิ้วแนะให้วิ่ง ชี้นำให้กระโดด เพื่อให้ร่างกายได้ขยับพร้อมได้เหงื่อออกมา จึงต้องไปเสียเงินให้กับสถานออกกำลังกายต่าง ๆ ทั้งที่แต่ละท่านสามารถออกแรงได้เองในแต่ละวันอย่างพอเพียง โดยหัดทำงานบ้านเอง ถ้าบ้านอยู่ในเมืองไม่ไกลจากที่ทำงานและมีความปลอดภัยพอ น่าจะเดินบนทางเท้าบ้าง (ถ้ามี) เฉพาะเที่ยวกลับบ้าน เนื่องจากรถในเมืองใหญ่มักติดเป็นธรรมดา ดังนั้นจะยืนหรือนั่งเฉย ๆ ในรถปรับอากาศทำไม และถ้ามีพื้นที่ในบ้านก็ควรทำสวนปลูกต้นไม้บ้าง เพื่อให้ได้มีโอกาสตัดกิ่งไม้เป็นการออกแรง

มนุษย์เงินเดือนมักต้องการวันหยุดคือ วันอาทิตย์ (สำหรับข้าราชการได้วันเสาร์ด้วย) เพื่อนอนพักเฉย ๆ ด้วยความเข้าใจ (ผิด) ว่า เป็นการฟื้นฟูสภาพร่างกายให้กลับสู่สภาพเดิม ทั้งที่ในช่วงวันทำงานนั้น มนุษย์เงินเดือนมักสะสมขยะอารมณ์ในร่างกาย ซึ่งควรอย่างยิ่งที่จะขจัดทิ้งออกไปกับเหงื่อในวันหยุดพักผ่อน

การเล่นกีฬาให้เป็นเรื่องเป็นราว ได้สนุกแบบเด็กได้วิ่งเล่น สมองได้คิดถึงสิ่งอื่นที่ไม่ใช่งาน และได้มีการหลั่งฮอร์โมนเอ็นโดฟิน (endorphin) สามารถทำให้ร่างกายสดชื่นขึ้น พร้อมสิ่งตอบแทนที่คุ้มค่าที่สุดคือ น้ำหนักที่ลดลงหรืออย่างน้อยก็คงที่ ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงของมะเร็ง

การให้นมลูก (Breast feeding)

เป็นพฤติกรรมที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม มีงานวิจัยในวารสาร The Lancet เมื่อปี 2002 กล่าวถึงการศึกษาในสตรีราว 150,000 คน ที่ให้นมลูกนาน 12 เดือน (ไม่ว่าจะมีลูกคนเดียวหรือหลายคน) แล้วพบว่า มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมเพียงร้อยละ 4.3 ของแม่ที่หวงตัวไม่ให้นมลูก

มาในปี 2009 มีรายงานหนึ่งในวารสาร Archives of Internal Medicine กล่าวว่า จากการศึกษาในสตรี 60,000 คน พบว่าสตรีที่มีประวัติการให้นมลูกมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมต่ำกว่าสตรีที่ไม่ให้นมลูกถึงร้อยละ 60 และในปี 2014 วารสาร Journal of the National Cancer Institute พบว่า สตรีที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวแอฟริกัน ซึ่งปกติมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมสูงนั้น มีความเสี่ยงลดลงถ้ามีโอกาสให้นมลูก มีสมมุติฐานกล่าวว่า ช่วงการให้นมลูกนั้นแม่ไม่มีประจำเดือนทำให้เต้านม (รวมถึงมดลูก) ไม่ต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนเอสโตรเจน (ซึ่งถูกปรักปรำอย่างมีเหตุผลว่าเป็นสารก่อมะเร็ง) ชั่วคราว จึงเป็นการทำให้เซลล์ของเต้านมแข็งแรงขึ้นในการต้านการกลายพันธุ์ที่เกิดเองจนกลายเป็นมะเร็ง

อีกสมมุติฐานหนึ่งนั้นกล่าวว่า ช่วงที่ผู้หญิงตั้งท้องไปจนถึงให้นมลูกนั้น แม่ (ที่ดี) มักหยุดการสูบบุหรี่ร่วมด้วยงดเหล้า (พักตับแม้ไม่ได้เข้าพรรษา) และดูแลสุขภาพตน มากกว่าการแต่งหน้าทาปากเพื่อไปสนุกสนานนอกบ้าน ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวน่าจะเป็น บุญตามสนอง ที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม

กาแฟ

มีข้อมูลจากการวิจัยว่า การดื่มกาแฟเป็นประจำ (แบบคนธรรมดาทั่วไป) ช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งที่ตับและมดลูก อย่างไรก็ดียังไม่มีใครสามารถระบุปริมาณการดื่มที่แน่นอนว่ากี่แก้วจึงลดความเสี่ยงได้

ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า กาแฟ ซึ่งมีแคฟฟีอีนที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามักบังคับให้สินค้าที่มีสารนี้ผสมต้องติดฉลากเตือนผู้บริโภคว่า ไม่ควรดื่มเกินเท่านั้นเท่านี้ต่อวัน แต่ทำไมนักวิชาการจึงกล่าวว่า การดื่มกาแฟช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งบางชนิดได้

คำอธิบายนั้นไม่ยากเพราะเป็นที่รู้กันว่า กาแฟนั้นเวลาคั่ว (ซึ่งใช้ความร้อนต่ำและมีอากาศน้อย) ต้องเกิดควัน ซึ่งมีสารก่อมะเร็งกลุ่มโพลีไซคลิกอะโรเมติไฮโดรคารบอน (พีเอเอช) และสารอื่น ๆ เป็นองค์ประกอบ ลอยขึ้นเหนือเมล็ดกาแฟแล้วควบแน่นหล่นลงไปเคลือบอยู่บนเมล็กกาแฟที่กำลังถูกคั่ว ในทางพิษวิทยาแล้วสารแปลกปลอมในอาหารซึ่งรวมถึงสารก่อมะเร็งนั้น เมื่อผ่านกระแสเลือดไปสู่ตับด้วยปริมาณไม่มากนัก สารพิษจะถูกเซลล์ตับเปลี่ยนแปลงให้หมดฤทธิ์เพื่อขับออกจากร่างกายด้วยระบบเอ็นซัม ซึ่งตามหลักการทางชีวเคมีแล้ว สารที่ถูกเอ็นซัมเปลี่ยนแปลงได้ย่อมเป็นตัวกระตุ้นการเพิ่มเอ็นซัมนั้น ดังนั้นสารพิษในกาแฟปริมาณน้อย ๆ จึงกระตุ้นให้เอ็นซัมเปลี่ยนแปลงสารพิษสูงขึ้น มีผลให้สารพิษอื่น ๆ ถูกขับออกจากร่างกายเร็วขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดีการดื่มกาแฟเพื่อลดความเสี่ยงของมะเร็งต้องเป็นการดื่มหลังอาหาร เพราะแคฟฟีอีนในกาแฟเป็นสารกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อย ดังนั้นการดื่มกาแฟในช่วงท้องว่างอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดแผลเนื่องจากน้ำย่อยกัดกระเพาะอาหาร การเป็นแผลที่อวัยวะนี้อย่างเรื้อรังย่อมเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้

 

Resource: HealthToday Magazine, No.197 September 2017