แผ่นหลังของมนุษย์ประกอบด้วยกล้ามเนื้อแผ่นใหญ่หลายมัดที่ช่วยในการพยุงกระดูกสันหลังและทำให้ลำตัวตั้งตรง ในชีวิตประจำวันเราใช้งานกล้ามเนื้อหลังอยู่ตลอดเวลาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน ยืน นั่ง รวมถึงการออกกำลังกายและเล่นกีฬาเกือบทุกประเภท มนุษย์เราใช้หลังเพื่อช่วยพยุงลำตัวและช่วยในการเคลื่อนไหว ยิ่งไปกว่านั้นแผ่นหลังอาจจะถูกใช้ในการรับแรงต้านในการเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกายที่มีการกระทบกระแทกโดยตรง เช่น การยกน้ำหนัก หรือกีฬาที่ต้องใช้แรงส่งอย่างการตี ขว้าง โยน เป็นต้น
การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา อาจส่งผลต่อหลังได้ 3 ส่วน
- กระดูกสันหลัง มีลักษณะเป็นปล้องตั้งแต่คอถึงก้นกบ ส่วนของกระดูกสันหลังที่ได้รับผลกระทบจากการออกกำลังกายมากที่สุดคือ กระดูกสันหลังส่วนเอว ตำแหน่งที่กระดูกสันหลังแต่ละชิ้นเชื่อมต่อกัน เรียกว่าข้อต่อกระดูกสันหลัง ช่วยให้กระดูกสันหลังเคลื่อนไหวได้ และระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละชิ้นจะมีหมอนรองกระดูกสันหลังคั่นอยู่ ภายในหมอนรองกระดูกมีลักษณะคล้ายเจลลี หากหมอนรองกระดูกฉีกขาดและส่วนชั้นในเคลื่อนออกมากดทับเส้นประสาทจะทำให้เกิดอาการปวดตามมาได้
- กล้ามเนื้อหลัง ยึดติดอยู่กับกระดูกสันหลังโดยมีเส้นเอ็นที่ยึดกระดูกแต่ละชิ้นเข้าไว้ด้วยกัน
- เส้นประสาทไขสันหลัง ในช่องโพรงกระดูกสันหลังจะมีเส้นประสาทไขสันหลังจำนวน 3 คู่ ทำหน้าที่รับความรู้สึกและสั่งงานไปยังอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย หากได้รับบาดเจ็บอาจส่งผลให้เกิดอาการชาหรืออ่อนแรงได้
2 อาการบาดเจ็บที่พบบ่อย
- กล้ามเนื้อหลังอักเสบ จะมีอาการปวดหลังตั้งแต่บริเวณบั้นเอวขึ้นไป อาจเป็นข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง อาการปวดมีได้ตั้งแต่ปวดเมื่อยจนกระทั่งรุนแรง ปวดตลอดเวลา และกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง สาเหตุเกิดจากการใช้กล้ามเนื้อหลังที่ผิด ไม่มีการยืดหยุ่นกล้ามเนื้อแผ่นหลังช่วงก่อนและหลังออกกำลังกาย ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและกล้ามเนื้ออักเสบ
- ปวดกลางบั้นเอว (กระเบนเหน็บ) มีอาการปวดเฉพาะกึ่งกลางบั้นเอวมักปวดเมื่อเคลื่อนไหวหรือเอี้ยวตัว สาเหตุเกิดจากการเคลื่อนของกระดูกอ่อนบริเวณหลังส่วนที่ต่อกับกระดูกเชิงกราน เนื่องจากเป็นส่วนที่เคลื่อนไหวอยู่เสมอ จึงได้รับบาดเจ็บบ่อยกว่าบริเวณอื่น
ป้องกันการบาดเจ็บที่หลัง
เมื่อมีอาการปวดหลังให้หยุดออกกำลังกายแล้วประคบด้วยน้ำแข็ง 15-30 นาที รับประทานยาแก้ปวดหรือยาคลายกล้ามเนื้อ หากอาการไม่ดีขึ้นใน 3 วัน ให้รีบพบแพทย์ เมื่อหายดีแล้วให้บริหารกล้ามเนื้อหลังให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ และป้องกันโรคปวดหลังหรือการบาดเจ็บที่หลังเรื้อรังสำหรับผู้ที่มักประสบปัญหาปวดหลังควรหลีกเลี่ยงกีฬาโบว์ลิ่ง เทนนิส กอล์ฟและยกน้ำหนัก แนะนำให้เปลี่ยนมาเล่นกีฬาชนิดอื่น เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยานพายเรือ หรือเดิน จะช่วยบรรเทาอาการปวดหลังได้
สัญญาณอันตราย ควรไปพบแพทย์
- ปวดหลังเรื้อรังติดต่อกันนาน 3 เดือน
- ปวดร้าวลงสะโพก ขา จนถึงน่องหรือเท้า
- ปวดเฉียบพลันและไม่ทุเลาลงแม้ได้พัก หรือปวดรุนแรงจนเคลื่อนไหวไม่ได้
- ปวดหลังจากได้รับอุบัติเหตุ เช่น หกล้ม
- ปวด ร่วมกับมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ คือ ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ ขาอ่อนแรง ชาที่ขา เท้า หรือรอบทวารหนัก เนื่องจากอาจเป็นภาวะฉุกเฉินของกระดูกสันหลัง เช่น หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือกระดูกสันหลังเคลื่อน
Resource: HealthToday Magazine, Issue no. 182, APRIL 2016