จากเซลล์ประสาทกระจกเงาสู่การรักษาโรคด้วยกระจกเงา

ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช อายุรแพทย์ระบบประสาทและสมอง

0
1574
เซลล์ประสาทกระจกเงา

คุณเคยเห็นเพื่อนของคุณอ้าปากหาวหวอดจนทำให้คุณอดอ้าปากหาวไปด้วยไม่ได้บ้างหรือไม่ หรือ คุณเดินผ่าน
งานศพ เห็นผู้คนร้องไห้แล้วน้ำตาคุณก็รื้นออกมาหรือไม่ ความรู้สึกดังกล่าวมักเกิดขึ้นเป็นประจำจนคุณไม่ได้สงสัย
ถึงปรากฏการณ์อันน่าสนใจของสมองมนุษย์ แต่หากในวงการประสาทวิทยาหรือผู้ที่ศึกษาเรื่องสมองต่างรู้จัก
ปรากฎการณ์นี้ว่ามันเกิดจากการตอบสนองของ
เซลล์ประสาทกระจกเงาหรือ “Mirror neurons”

จุดกำเนินของเซลล์ประสาทกระจกเงา

นักประสาทวิทยา Giacomo Rizzolatti จากมหาวิทยาลัยปาร์มา ประเทศอิตาลี เป็นผู้ค้นพบเซลล์ประสาทกระจกเงา ซึ่งทำงานอยู่ที่สมองส่วนสั่งการ ในขณะที่เขาทำการทดลองพฤติกรรมของลิงที่เลียนแบบพฤติกรรม และค้นพบว่ามันเกิดจากเซลล์ประสาทชุดหนึ่งที่ทำงาน เมื่อมีการรับข้อมูลจากภายนอก และการตั้งชื่อมันว่า
เซลล์ประสาทกระจกเงานี้ก็เป็นคำเรียกที่เข้าใจได้ง่ายและตรงความหมายที่สุด 

ในสังคมมนุษย์ เซลล์ประสาทกระจกเงาถือว่ามีความสำคัญในเชิงสังคมเป็นอย่างมาก เพราะการตอบสนองต่อพฤติกรรมและความรู้สึกของคนอื่นทำให้มนุษย์เรามีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ทำให้มีการตอบสนองในการให้ความช่วยเหลือ นอกจากนี้ในเด็กทารก การมีเซลล์ประสาทกระจกเงายังช่วยให้เด็กมีความสามารถเรียนรู้พฤติกรรมในการเลียนแบบเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังคลอด ซึ่งนี่จะทำให้เกิดการพัฒนาสมองของเด็กด้วย

จากเซลล์ประสาทกระจกเงาสู่การรักษาด้วยกระจกเงา

ในปัจจุบันมีการนำความรู้เรื่องเซลล์ประสาทกระจกเงามาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคสมอง เรียกว่าการรักษาด้วยกระจกเงาหรือ “Mirror therapy” โดยใช้การกระตุ้นสมองส่วนที่สูญเสียด้วยการเลียนแบบสมองที่ปกติเพื่อให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น

ในผู้ป่วยที่มีสมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับการสั่งงานสูญเสียไป ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรงที่แขนหรือขาข้างที่สมอง
ส่วนนั้นควบคุมอยู่ โดยโรคที่ทำให้เกิดความผิดปกติดังกล่าวมีหลายสาเหตุ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง สมองถูกกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุหรือจากการผ่าตัด เป็นต้น การรักษาด้วยการใช้กระจกเงาคือ การที่ให้กระจกสะท้อนแขนหรือขาข้างที่ดี และซ่อนแขนหรือขาข้างที่มีอาการอ่อนแรงไว้หลังกระจก จากนั้นผู้รักษาจะออกคำสั่งให้ผู้ป่วยขยับแขนหรือขาข้างที่ดีในท่าทางต่าง ๆ พร้อมกับให้ผู้ป่วยมองภาพสะท้อนจากกระจกไปด้วย และให้พยายามเคลื่อนไหวแขนหรือขาข้างที่อ่อนแรงเช่นกัน สมองของผู้ป่วยจะมองเห็นการเคลื่อนไหวของแขนหรือขาข้างที่ดี
และจะไปกระตุ้นเซลล์ประสาทกระจกให้สั่งการสมองข้างที่สูญเสียการทำงานไป และนั่นก็จะทำให้การฟื้นของเซลล์ประสาทมีความรวดเร็วขึ้น

นอกจากการใช้การรักษาด้วยกระจกเงาในผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนแรงแล้ว ในทางการแพทย์ยังนำมาใช้ในการรักษาอาการปวดจากโรคสมอง ได้แก่ กลุ่มอาการปวดเฉพาะที่แบบซับซ้อน (Chronic Regional Pain Syndrome, CRPS) ที่เกิดจากสมองส่วนรับความรู้สึกเจ็บผิดปกติไป โดยโรคนี้ ผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนแรงร่วมกับอาการปวด มีอาการบวมจากระบบประสาทที่ควบคุมเส้นเลือดทำงานผิดปกติ การรักษาสามารถทำได้โดยใช้การกายภาพบำบัดด้วยการเคลื่อนไหว การใช้ยาต้านอักเสบร่วมกับการรักษาด้วยกระจกเงา

กลุ่มอาการปวดอื่น ๆ ที่ใช้การรักษาด้วยกระจกเงา ได้แก่ กลุ่มอาการปวดหลอน (Phantom limb pain) ที่เกิดจากสูญเสียแขนหรือขา แต่สมองส่วนรับความรู้สึกกลับหลอนว่ายังมีอวัยวะส่วนนั้นอยู่และมักมีอาการปวดบริเวณนั้น
ร่วมด้วย ซึ่งการรักษาด้วยกระจกเงาจะทำให้เซลล์ประสาทเกิดการจัดเรียงตัวใหม่ และรับรู้ว่าความรู้สึกเจ็บไม่ได้มีอยู่จริง

หลาย ๆ ครั้งที่การค้นพบทางประสาทวิทยานำไปสู่ความเข้าใจในพฤติกรรมและธรรมชาติของการเป็นอยู่ของมนุษย์และสังคม นอกจากนี้ยังนำไปสู่การพัฒนาการรักษาโรค ซึ่งจากการค้นพบเซลล์ประสาทกระจกเงาจนนำไปสู่การรักษาโรคสมองนี้ก็เป็นตัวอย่างได้เป็นอย่างดี

Resource: HealthToday Magazine, No.211 November 2018