‘โรคสมาธิสั้น’ เป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้ในทุกประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย จากการศึกษาพบว่าร้อยละ 5-8 ของเด็กไทยวัยเรียนเป็นโรคสมาธิสั้น โดยเด็กจะมีความบกพร่องใน 3 ด้าน ได้แก่ ขาดสมาธิ หุนหันพลันแล่น และซน ไม่อยู่นิ่ง เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจึงมักมีปัญหาด้านการเรียนรู้และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสภาพชีวิตในอนาคต อย่างไรก็ตามหากเด็กสมาธิสั้นได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นร่วมกับได้รับการพัฒนาศักยภาพด้านบวกที่มีอยู่อย่างเหมาะสม จะช่วยให้เด็กสามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้ไม่แพ้ใคร
สังเกตอาการโรคสมาธิสั้น
โรคสมาธิสั้น เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง โดยมีปัจจัยสำคัญคือ ‘พันธุกรรม’ อาการที่บ่งชี้ว่าเด็กอาจเป็นโรคสมาธิสั้นแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มอาการ คือ
1. ขาดสมาธิ (Attention deficit) เด็กจะไม่สามารถคงสมาธิในการทำสิ่งต่าง ๆ ได้ตามที่ควรจะเป็น วอกแวกง่าย ขาดความรอบคอบ เช่น เขียนหนังสือตก ๆ หล่น ๆ โดยไม่ได้เกิดจากการเขียนไม่ได้ แต่เกิดจากการที่รีบทำมากเกินไปจนผิดพลาด เด็กกลุ่มนี้จะไม่ค่อยชอบกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิมาก ๆ นอกจากนี้เด็กจะมีลักษณะคิดเร็ว คือคิดเรื่องนี้อยู่ดี ๆ ก็เปลี่ยนไปคิดเรื่องใหม่ จนบางครั้งดูเหมือนคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง เพราะในขณะที่ทุกคนกำลังพูดคุยกันถึงเรื่องหนึ่งอยู่ แต่เขากลับเปลี่ยนไปคุยเรื่องอื่นแล้ว ทั้งยังมักขี้ลืมแม้แต่สิ่งที่ต้องใช้หรือปฏิบัติเป็นประจำ เช่น ลืมเอาดินสอไปโรงเรียน ทำยางลบหายเป็นประจำ หรือหาหนังสือเรียนไม่เจอบ่อย ๆ เพราะจำไม่ได้ว่าเอาไปวางไว้ตรงไหน ครูสั่งงานอะไรก็จำไม่ค่อยได้ เป็นต้น
2. ซน ไม่อยู่นิ่ง (Hyperactivity) เด็กกลุ่มนี้จะอยู่นิ่งไม่ค่อยได้ จึงไม่สามารถนั่งฟังครูสอนได้ตลอดทั้งคาบเรียน ต้องลุกเดิน หรือยุกยิกตลอดเวลาต่างจากเด็กวัยเดียวกัน เมื่อพาไปเที่ยวนอกบ้านก็จะวิ่งซุกซนไปทางนู้นทางนี้อย่างไม่กลัวหลง มีพลังเยอะเหมือนมีเครื่องยนต์อยู่ในตัว ถ้าต้องนั่งเฉย ๆ บางทีก็จะเขย่าขาหรือแกะโน่นแกะนี่ไปเรื่อย บางครั้งก็เล่นโลดโผน เสี่ยงอันตราย ขาดความระมัดระวัง
3. หุนหันพลันแล่น (Impulsivity) เด็กจะมีลักษณะใจร้อน นึกจะทำอะไรก็ทำเลย ชอบพูดแทรก ถ้าเล่นเกมมักไม่ค่อยทำตามกฎกติกา หรือบางครั้งคิดจะยืมของเพื่อนก็หยิบมาเลยโดยที่ไม่ได้ขอทั้งที่ในใจคิดว่าจะขอยืม อันที่จริงเด็กรู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ แต่ยับยั้งชั่งใจตนเองไม่ค่อยได้
เด็กสมาธิสั้นส่วนใหญ่แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีอาการขาดสมาธิเป็นอาการเด่น และกลุ่มที่อาการซนและหุนหันพลันแล่นเป็นอาการเด่น โดยเด็กส่วนใหญ่ประมาณ 60-70% จะมีอาการทั้งสองกลุ่มใหญ่ แต่ก็มีบางส่วนที่มีอาการขาดสมาธิเพียงอย่างเดียว คือ ไม่ได้เป็นเด็กซน เด็กกลุ่มนี้จะได้รับการช่วยเหลือน้อยกว่าเพราะว่าไม่ได้สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ใคร อย่างไรก็ตามเด็กสมาธิสั้นทุกคนควรได้รับการรักษา เพื่อให้เด็กสามารถเรียนหนังสือ ทำกิจกรรม และใช้ชีวิตได้ตามศักยภาพของตนเอง
สมาธิสั้น ผลกระทบหากไม่รักษา
การรักษาโรคสมาธิสั้นนอกจากการใช้ยาเพื่อรักษาอาการต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว การที่พ่อแม่ คุณครู คนรอบข้าง
รวมทั้งตัวเด็กเองมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ จะช่วยให้เด็กรับมือกับโรคได้มากขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคสมาธิสั้นไม่ตรงนัก เช่น มองว่าคนสมาธิสั้นต้องก้าวร้าว หรือมีปัญหากับทุกคน ซึ่งเด็กสมาธิสั้นจำนวนหนึ่งเป็นเช่นนั้นจริง เพราะเขาจะซน หุนหันพลันแล่น ถ้าคนรอบข้างอย่างเช่นพ่อแม่ไม่เข้าใจก็จะตำหนิ ครูไม่เข้าใจก็จะดุ ทำการบ้านไม่เสร็จก็จะลงโทษ ซึ่งเด็กสมาธิสั้นอาจรู้สึกว่าเด็กคนอื่นก็ทำผิดเหมือนกันแต่ทำไมเขาโดนดุอยู่คนเดียวโดยลืมไปว่าเขาทำผิดบ่อยกว่าคนอื่น จนอาจทำให้คนที่อยู่ใกล้มีอคติกับเขา และตัวเขาเองก็เริ่มมีอคติกับคนอื่นเช่นกัน เกิดเป็นความคับข้องใจว่าทำไมโลกนี้ไม่ยุติธรรม ส่งผลให้เด็กเริ่มต่อต้านพ่อแม่ ต่อต้านสังคม ฝ่าฝืนกฎระเบียบ
นอกจากนี้เด็กสมาธิสั้นบางส่วนจะมองว่าตัวเองแย่ ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ มีแต่คนตำหนิ บางรายมีอาการซึมเศร้าหรือออกแนววิตกกังวล แต่ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่แสดงออกทางพฤติกรรมเกเรหรือแสดงออกทางจิตใจและอารมณ์
พวกเขาเหล่านี้ล้วนมีแนวโน้มที่จะหันเข้าหายาเสพติด ซึ่งจะตามมาด้วยปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย จากการศึกษาพบว่าเด็กสมาธิสั้นมีโอกาสติดยาเสพติดมากกว่าเด็กทั่วไปถึง 10 เท่า และประมาณ 20-30% ของเด็กที่มีพฤติกรรมก่อกวนหรือต่อต้านสังคม (เช่น เด็กที่ยกพวกตีกัน เด็กแว้น) เป็นเด็กสมาธิสั้นที่ไม่ได้รับการรักษา แต่เหตุการณ์
เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นหากเด็กได้รับการรักษาโรคสมาธิสั้นตั้งแต่ระยะแรก ๆ ร่วมกับความเข้าใจจากพ่อแม่และคนรอบข้าง จะช่วยให้เด็กสามารถเติบโตขึ้นเป็นคนที่มีคุณภาพ สร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้
ข้อดีและวิธีส่งเสริมศักยภาพเด็กสมาธิสั้น
เด็กสมาธิสั้นใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสีย อันที่จริงเด็กกลุ่มนี้ก็มีข้อดีอยู่มากเช่นกัน เพียงแต่ผู้ดูแลต้องเข้าใจและส่งเสริมเขาในทางที่ถูก เพื่อให้เด็กสามารถดึงพลังด้านบวกออกมาใช้ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมศักยภาพในตัวเด็ก ข้อดีของเด็กสมาธิสั้น ได้แก่
- เด็กสมาธิสั้นมีพลังเยอะ เราต้องนำพลังของเขามาใช้ในทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์ เช่น ให้ช่วยทำงาน หรือพาไปฝึกเล่นกีฬาอะไรก็ได้ เพราะเด็กกลุ่มนี้พลังเยอะ เล่นได้ไม่เหนื่อย เด็กบางคนได้เป็นนักกีฬาระดับประเทศเลยก็มี
- เด็กสมาธิสั้นเป็นคนคิดรวดเร็วและนอกกรอบ จึงเหมาะกับงานที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์ เพราะความคิดของเขาจะไม่ยึดติด คิดอะไรพลิกแพลงได้เรื่อย ๆ ไม่ชอบคิดแบบเดิมซ้ำ ๆ เพราะรู้สึกว่าน่าเบื่อ นับเป็นข้อดีของคนสมาธิสั้นคือมีไอเดียใหม่ ๆ เยอะ แต่ข้อที่ควรระวังคือ เขาจะไม่สามารถตามไอเดียนั้นได้อย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องมีคนมารับช่วงนำไอเดียของเขาไปสานต่อ
- เด็กสมาธิสั้นเข้ากับคนได้ง่าย โดยพื้นฐาน เด็กสมาธิสั้นจะเข้ากับคนง่ายในระดับหนึ่งเนื่องจากเป็นคนไม่ขี้อาย มีลักษณะ Impulsivity คือนึกจะทำอะไรก็ทำเลย อาการนี้หากมากเกินไปจะกลายเป็นข้อเสีย แต่ถ้าเป็นแบบพอประมาณ จะทำให้เขาทำความรู้จักกับคนใหม่ ๆ ได้ง่าย มีสังคม มีเพื่อนฝูงเยอะ
เนื่องจากเด็กสมาธิสั้นไม่ชอบทำอะไรที่ต้องจดจ่อ พ่อแม่จึงควรชวนเด็กมาทำกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกสนุกก่อน พยายามหาจุดเด่นของเขามาก่อให้เกิดประโยชน์ เช่น ให้ช่วยทำนู่นทำนี่ อยู่โรงเรียนแทนที่ครูจะให้นั่งอยู่กับที่เฉย ๆ ก็ให้เอาสมุดไปแจกเพื่อน ไปช่วยลบกระดานดำ และควรกล่าวคำชมแก่เด็กด้วย เด็กสมาธิสั้นส่วนใหญ่มักถูกต่อว่าเพราะพฤติกรรมที่เกิดจากโรค เด็กที่ถูกต่อว่าบ่อย ๆ จะรู้สึกไม่อยากทำอะไร แต่ถ้าได้รับคำชม เด็กจะยิ่งมีกำลังใจ ดังนั้นหากให้เด็กทำอะไรแล้วต้องชมด้วยว่าเขาทำอะไรได้ดี มีประโยชน์อย่างไร คำชมเหล่านี้จะเป็นแรงผลักดันให้เขาอยากทำสิ่งที่ดีมีประโยชน์มากขึ้น และในขณะเดียวกันควรฝึกให้เด็กได้ทำกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมเรื่องสมาธิ เช่น การเล่านิทานให้เด็กฟัง แล้วฝึกให้เด็กเล่าบ้าง การต่อเลโก้หรือจิ๊กซอว์ต่าง ๆ ที่สำคัญคือกิจกรรมต้องมีความหลากหลาย อย่าฝึกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกเบื่อ
จะเห็นได้ว่าเด็กสมาธิสั้นมีความสามารถในหลายด้านและมีศักยภาพเหมือนกับเด็กทั่วไป การรักษาที่เหมาะสมและการดูแลด้วยความเข้าใจของคนรอบข้าง จะยิ่งช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้ พัฒนาทักษะ และประสบความสำเร็จในชีวิตได้ไม่แตกต่างจากเด็กทั่วไป
Resource: HealthToday Magazine, No.209 September 2018