ดื่มน้ำอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ

นพ.ชวโรจน์ เกียรติกำพล อายุรแพทย์

0
1631
ดื่มน้ำ

คำถามหนึ่งที่หมอมักจะดีใจเมื่อถูกถามก็คือ “เราจะดื่มน้ำอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ” ความเข้าใจเรื่องการดื่มน้ำของเรามักถูกสอนกันต่อ ๆ มาว่า “ดื่มน้ำมาก ๆ สิดี ยิ่งดื่มมากยิ่งดีต่อร่างกาย เรื่องแบบนี้ไม่เห็นต้องไปถามหมอให้เสียเวลาเลย”

ในความเป็นจริงก็คือ การดื่มน้ำนั้นเป็นเรื่องดีต่อสุขภาพก็จริง แต่ต้องใส่วงเล็บไว้ด้วยนะครับว่า ดื่มอย่างพอเหมาะกับสภาพร่างกายของคนคนนั้นครับ ไม่ใช่ว่าทุกคนดื่มน้ำให้มาก ๆ เข้าไว้แล้วจะดีเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นหมอจึงอยากชวนผู้อ่านทุกท่านไปทบทวนและปรับความเข้าใจบางอย่างของการดื่มน้ำกันครับ

การดื่มน้ำให้ดีต่อสุขภาพของเรานั้น คือการดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม มักจะมีคำสอนที่บอกเล่าต่อ ๆ กันมานะครับว่า เราควรดื่มน้ำกันให้ได้อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว แต่ทว่าเราทุกคนนั้นมีความแตกต่างกันของสภาพร่างกายและสุขภาพครับ การดื่มน้ำปริมาณเท่าไหร่จึงขึ้นอยู่กับอายุ สภาพภูมิอากาศ ความหนักของการออกกำลังกายในช่วงนั้น การตั้งครรภ์ การให้นมบุตร หรือสภาวะความเจ็บป่วยและโรคประจำตัวของคนผู้นั้นอีกด้วย

60-70 เปอร์เซนต์ของน้ำหนักตัวของเราคือ “น้ำ” ครับ และทุกส่วนในร่างกายของเราล้วนต้องการน้ำในการทำหน้าที่ต่าง ๆ ให้เป็นปกติ น้ำจะช่วยให้ไตสามารถขับของเสียต่าง ๆ ในเลือดให้ออกจากร่างกายในรูปปัสสาวะ นอกจากนี้น้ำยังช่วยเปิดหลอดเลือดให้มีการไหลเวียนนำสารอาหารไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายอีกด้วย หมอขอยกเทคนิคและประโยชน์ของการดื่มน้ำให้ดีต่อสุขภาพมาฝากผู้อ่านดังนี้ครับ

  1. ไม่จำเป็นต้อง 8 แก้วเสมอไป เรามักเคยชินกับคำแนะนำมานานเหมือนที่หมอเขียนไว้ข้างต้น แต่ในความเป็นจริงก็คือคนเรานั้นมีการสูญเสียน้ำออกจากร่างกายกันตลอดเวลา เราจึงต้องการน้ำในปริมาณที่เพียงพอ คือผู้ชายประมาณ 3 ลิตรต่อวัน และผู้หญิงประมาณ 2 ลิตรต่อวัน หมอว่าเราจำตัวเลขโดยเฉลี่ยเป็นปริมาณแบบนี้น่าจะถูกต้องกว่าครับ
  2. ดื่มน้ำน้อยกลับดีเมื่อมีภาวะไตเสื่อมแบบเรื้อรัง ในผู้ป่วยโรคไตเสื่อมแบบเรื้อรัง (Chronic kidney disease) นั้น ควรที่จะจำกัดปริมาณน้ำให้เหมาะสมตามระยะของโรคมากกว่าครับ เพราะการดื่มน้ำมากเกินไปอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ภาวะน้ำคั่งในร่างกาย (Volume overload) จนเกิดผลเสียหลายอย่างต่อร่างกายได้ครับ
  3. ดื่มน้ำมากเกินไปอาจเกิดอันตรายได้ การตั้งใจดื่มน้ำมากจนเกินไป เช่น ดื่มน้ำปริมาณมากกว่า 6-8 ลิตรต่อวัน อาจส่งผลเสียร้ายแรงต่อร่างกายได้นะครับ เพราะจะทำให้สมดุลของน้ำและปริมาณโซเดียมในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบเฉียบพลัน เกิดภาวะโซเดียมในร่างกายต่ำมากอย่างรุนแรง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการชัก ระดับการรับรู้ที่ผิดปกติ อาเจียนอย่างรุนแรงได้ครับ
  4. สีปัสสาวะช่วยบ่งบอกความเหมาะสม การดื่มน้ำที่เหมาะสมนั้นให้ถือหลักการง่าย ๆ ว่า สามารถช่วยดับความกระหายน้ำและทำให้ปัสสาวะเราเป็นสีเหลืองจาง ๆ หรือไม่มีสีครับ เมื่อใดก็ตามที่ปัสสาวะมีสีเข้มขึ้น บ่งบอกได้ว่าในวันนั้นร่างกายของเราน่าจะเริ่มขาดน้ำ ควรดื่มน้ำเพิ่มขึ้นเป็นปริมาณอย่างน้อย 5 ลิตรหรือ 6 แก้วต่อวันครับ
  5. การดื่มน้ำช่วยป้องกันการเกิดนิ่วและการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้ การเกิดนิ่วและการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะนั้นเป็นปัญหาที่ส่งผลทำให้เกิดภาวะไตวายได้บ่อย ๆ ซึ่งการดื่มน้ำที่เพียงพอจะสามารถป้องกันการจับตัวกันของผลึกนิ่วในทางเดินปัสสาวะ นอกจากนี้การดื่มน้ำยังช่วยให้มีการสร้างปัสสาวะมากขึ้นทำให้ร่างกายสามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อออกไปได้ดีขึ้นอีกด้วย
  6. การดื่มน้ำช่วยป้องกันการบาดเจ็บของไตหลังการทำหัตถการต่าง ๆ ได้ ในปัจจุบันแพทย์มีการส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติมมากขึ้นหลายอย่างทั้งการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การฉีดสีเพื่อตรวจหาพยาธิสภาพที่หลอดเลือดในอวัยวะต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งวิธีการตรวจและสารเคมีบางอย่างที่ใช้ตรวจนั้นอาจทำอันตรายต่อไตได้เช่นกัน การดื่มน้ำในปริมาณที่มากขึ้นก่อนรับการตรวจเพิ่มเติมเหล่านี้สามารถป้องกันการบาดเจ็บของไตได้เป็นอย่างดีครับ

จะเห็นว่าการดื่มน้ำอย่างเหมาะสมนั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพของเราหลายอย่างนะครับ และน้ำในที่นี้ก็คือน้ำเปล่าที่สุกสะอาดก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เรามีสุขภาพดีครับ

Resource: HealthToday Magazine, No.209 September 2018