“เรือด” หรือชื่อภาษาอังกฤษคือ “Bed bug” เป็นแมลงตัวเล็ก ๆ สีน้ำตาลเข้ม ตัวแบนและกลมรี ไม่มีปีก ดังนั้นจึงบินไม่ได้ เมื่อกล่าวถึงขนาดตัว ถ้าหากไม่ได้กินเลือดขนาดตัวจะค่อนข้างเล็กประมาณครึ่งเซนติเมตรเท่านั้น แต่ถ้าได้กินเลือดเข้าไปตัวจะพองขยายออกได้เป็นสองเท่าหรือประมาณ 1 เซนติเมตรเลยทีเดียว
ตัวเรือดมักจะอาศัยอยู่ตามรอยแยกหรือรอยแตกของเตียง ขอบที่นอน ฐานเตียง ตู้ลิ้นชัก พื้นใต้พรม ผนังที่แตกออก ตู้เสื้อผ้า ขอบหน้าต่าง ผ้าม่าน กรอบรูป หรือแม้แต่ในกระเป๋าเดินทางตัวเรือดก็อยู่ได้เช่นกัน การที่ตัวเรือดไปหลบซ่อนอยู่ในกระเป๋าเดินทางนี่เองทำให้มันสามารถเดินทางและแพร่พันธุ์ไปในหลายพื้นที่ทั่วโลก และกำจัดได้ยากเนื่องจากกำจัดออกได้ไม่หมด หนำซ้ำตัวเรือดยังออกไข่ได้อย่างรวดเร็ว โดยเรือดตัวเมียวางไข่วันละประมาณ 1-5 ฟอง แต่ก็อาจจะมากถึง 12 ฟองต่อวันได้ ตลอดช่วงชีวิตเรือดตัวเมียจะวางไข่มากถึง 500 ฟอง รวมทั้งการที่ตัวเรือดทนทานต่อยาฆ่าแมลง จึงต้องใช้วิธีผสมผสานหลายอย่างในการกำจัด ซึ่งจะกล่าวถึงในตอนท้าย
วงจรชีวิตของเรือดมีทั้งหมด 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะไข่ ระยะตัวกลางวัย และระยะตัวเต็มวัย โดยระยะตัวกลางวัยของเรือดยังประกอบไปด้วยระยะย่อย ๆ อีก 5 ระยะ ซึ่งต้องอาศัยการกินเลือดเพื่อให้เกิดการเจริญเติบโตของ
ตัวกลางวัยจากระยะหนึ่งไปสู่อีกระยะหนึ่ง แต่ตัวเรือดนี้ก็ทนทานมากเช่นเดียวกัน ในภาวะที่ขาดแคลนอาหาร (ไม่มีคนหรือสัตว์ให้ดูดเลือดกิน) เรือดสามารถอยู่ได้นานถึง 3-4 เดือน โดยที่ไม่ต้องดูดกินเลือดใด ๆ ทั้งสิ้น
ปกติเรือดจะออกจากที่หลบซ่อนเพื่อออกมาหากินในเวลากลางคืนหรือที่มืด โดยตัวเรือดจะตรวจจับคาร์บอนไดออกไซด์และความร้อนที่ร่างกายปล่อยออกมา เวลาตัวเรือดกัดจะมีลักษณะค่อนข้างจำเพาะ คือจะกัดเป็นแนวตามรอยของหลอดเลือด ทำให้เห็นรอยกัดเป็นตุ่มเรียงกันเป็นแถว ตุ่มที่โดนกัดมักอยู่บริเวณนอกร่มผ้า เช่น หน้า คอ มือ แขน ขา เป็นต้น มักจะมีอาการคัน ตุ่มที่เกิดขึ้นเนื่องจากร่างกายทำปฏิกิริยาต่อโปรตีนในน้ำลายของตัวเรือด ในรายที่มีอาการแพ้มากอาจก่อให้เกิดลมพิษ ตุ่มน้ำพองใส หรือแม้กระทั่งทำให้เกิดอาการแพ้แบบรุนแรงได้
เมื่อถูกตัวเรือดกัดแล้วจะทำอย่างไร
หากไปท่องเที่ยวในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย เมื่อตื่นนอนมาแล้วพบว่าตามตัวมีตุ่มนูนแดงคัน โดยเฉพาะถ้าตุ่มนั้นเรียงเป็นแนวเส้นตรง ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจถูกตัวเรือดกัด การรักษาเป็นแบบรักษาตามอาการ เช่น ถ้ามีอาการคันเพียง
เล็กน้อยอาจจะไม่ต้องทายาหรือรับประทานยาแก้แพ้เลยก็ได้ แต่หากท่านใดมีอาการคันมากหรือตุ่มนูนแดงใหญ่มากอาจจะใช้ครีมสเตียรอยด์ทาในระยะเวลาสั้น ๆ ร่วมกับการรับประทานยาแก้แพ้ แต่ถ้ามีอาการรุนแรง แผลมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน อาจจำเป็นต้องทายาหรือรับประทานยาปฏิชีวนะร่วมด้วย ตัวเรือดนี้ไม่ได้จำเพาะว่าจะต้องอาศัยอยู่ตามที่พักที่ไม่สะอาดหรือไม่ค่อยได้รับการดูแลเท่านั้น แต่สามารถอยู่ได้ในหลายสภาพแวดล้อม ตั้งแต่โรงแรม
ห้าดาว โฮสเทล หอพัก หรืออพาร์ทเมนท์ต่าง ๆ ที่มักมีคนมากหน้าหลายตาเดินทางเข้าออกห้องพักเป็นประจำ
แล้วทำอย่างไรจึงจะกำจัดตัวเรือดได้อย่างเด็ดขาด
การกำจัดตัวเรือดต้องอาศัยหลายวิธีประกอบกัน โดยใช้ทั้งความร้อน สารเคมี และการจัดการสภาพแวดล้อม
- การใช้ความร้อน โดยการนำเครื่องนอนจำพวกผ้ามาต้มในน้ำเดือดอย่างน้อย 10 นาที หรืออบผ้าด้วยเครื่องอบผ้า (Dryer) ที่อุณหภูมิอย่างน้อย 60 องศาเซลเซียสเป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที การใช้เครื่องพ่นไอน้ำร้อนหรือการใช้เครื่องทำความร้อน (Heater) อบให้ห้องอุณหภูมิสูงถึง 60 องศาเซลเซียสเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
- การใช้สารเคมีพ่นกำจัดแมลง โดยต้องฉีดทุกซอกทุกมุมที่อาจจะเป็นแหล่งหลบซ่อนของตัวเรือด ส่วนการพ่นหมอกควันกำจัดแมลงที่เรามักเห็นพ่นเพื่อกำจัดลูกน้ำยุงลายนั้นเป็นวิธีการที่ไม่ได้ผล ไม่สามารถกำจัดตัวเรือดได้ ในต่างประเทศมีวิธีการรมก๊าซซึ่งต้องดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ แต่ในประเทศไทยยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้
- การจัดการสภาพแวดล้อม หลังจากกำจัดตัวเรือดให้หมดไปแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการปรับปรุงห้องพัก โดยอุดรอยรั่วต่าง ๆ ไม่ให้ตัวเรือดเข้าไปอาศัยอยู่ตามรอยแตกหรือรอยแยก เช่น รอยแยกระหว่างพื้นกับผนัง รอยต่อของเตียง เป็นต้น
จะป้องกันตัวเรือดเวลาไปพักตามสถานที่ท่องเที่ยวได้อย่างไร
เวลาที่เราไปเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ต้องหัดสังเกตห้องพักที่เรากำลังจะเข้าไปพักอาศัยว่ามีแหล่งของตัวเรือดหรือไม่ โดยอันดับแรกคือ มองหาตัวเรือด ซึ่งอาจจะพบได้น้อยเนื่องจากเรือดมักจะหลบซ่อนในเวลากลางวัน และออกหากินในเวลากลางคืนหรือช่วงที่ห้องปิดไฟมืด อาจจะสังเกตจุดดำ ๆ ซึ่งเป็นมูลของเรือดตามตะเข็บที่นอน ใต้ผ้าปูที่นอน หรือรอยแยกต่าง ๆ นอกจากมูลของเรือดแล้วอาจจะพบไข่ของเรือดเป็นกระจุกรวมตัวกัน ลักษณะเป็นเม็ดเรียว ๆ
สีขาวขนาดเล็ก (1-1.5 มิลลิเมตร) หรือหากแม่บ้านทำความสะอาดไม่ดี อาจพบคราบเลือดของคนบนผ้าปูที่นอนได้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยบ่งบอกว่าน่าจะมีตัวเรือดอาศัยอยู่
ถ้าสงสัยว่ามีตัวเรือดควรขอเปลี่ยนห้องพักโดยทันที และเมื่อเข้าพักแล้วไม่ควรวางกระเป๋าเดินทางไว้บนพื้น เนื่องจากตัวเรือดอาจเดินมาตามพรมและเข้าไปหลบซ่อนในกระเป๋าเดินทางได้ การใช้ยากันแมลงที่มี DEET (Diethyltoluamide) เป็นส่วนประกอบจะช่วยลดจำนวนการกัดลงเท่านั้น แต่ไม่ได้ช่วยป้องกันตัวเรือดได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนกับแมลงหรือยุงชนิดอื่น ๆ
จะเห็นได้ว่าตัวเรือดอยู่ได้ในหลาย ๆ ที่ แพร่พันธุ์ง่าย และตายยาก การสังเกตลักษณะของห้องให้ดีก่อนเข้าพักจะช่วยป้องกันได้ส่วนหนึ่ง เพราะถ้าหากโดนตัวเรือดกัด นอกจากจะเที่ยวไม่สนุกแล้ว ยังมีรอยกัดเป็นตุ่มแดงไปทั้งตัว หมดสวยกันเลยทีเดียว ด้วยความปรารถนาดีค่ะ…หมอพลอย
ข้อมูลอ้างอิง
- http://www.bjmp.org/content/rise-worlwide-bed-bugs-and-cimicosis
- http://nih.dmsc.moph.go.th/login/showimgurl.php?id=765&url=http://nih.dmsc.moph.go.th/login/filedfil/Bed%20bugs.pdf
- หนังสือเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว เรื่อง ปัญหาทางผิวหนังที่พบบ่อยในนักท่องเที่ยว หน้า 194 และ 199
Resource: HealthToday Magazine, No.205 May 2018