แม้มีข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพกล่าวว่า การดื่มเหล้าในปริมาณที่พอเหมาะลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการเส้นเลือดหัวใจตีบ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ การดื่มเครื่องดื่มประเภทนี้มักก่อให้เกิดการเสพติดซึ่งต้องเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ จนพ้นระดับของประโยชน์ เข้าสู่ระดับของอาการพิษสุราเรื้อรังได้ไม่ยากนัก
จริง ๆ แล้วผู้ที่ต้องการลดความเสี่ยงต่ออาการเส้นเลือดหัวใจตีบสามารถใช้วิธีออกกำลังกายแทนได้ เพราะขณะ
ออกกำลังกายหัวใจต้องสูบฉีดเลือดแรงขึ้น ทำให้สามารถลดความเสี่ยงต่อการที่หลอดเลือดหัวใจตีบ หรือในประเด็นที่ต้องการได้สารต้านอนุมูลอิสระจากไวน์นั้น สามารถเลี่ยงไปดื่มน้ำองุ่นหรือน้ำผลไม้สีเข้มอื่น ๆ แทนได้ ที่สำคัญคือ ต้องทำควบคู่ไปกับการควบคุมปริมาณไขมันในอาหารให้พอเหมาะ
เหล้านั้นเป็นเครื่องดื่มที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท แล้วเหตุใดเหล้าซึ่งถูกจัดเป็นสารเสพติดนี้กลับได้รับการยอมรับในหลายส่วนของสังคมโลก คำตอบก็เป็นอย่างที่รู้กันว่า เครื่องดื่มชนิดนี้ทำให้ผู้ดื่มมีความสุขโดยไม่คำนึงถึงคนรอบข้าง สามารถกระทำการใด ๆ โดยขาดสติยั้งคิด ซึ่งหลายครั้งมีผลต่อเนื่องว่าเหล้าเป็นสาเหตุที่ทำให้คนดี ๆ ตายไปปีละมากมายด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยผู้ตายส่วนหนึ่งไม่ได้มีความประสงค์ในการสัมผัสเครื่องดื่มประเภทนี้แม้แต่น้อย แต่กลับต้องตายในอุบัติเหตุทางรถยนต์ โดยฝ่ายผู้กระทำเป็นผู้เมาขาดสติแล้วขับรถพาผู้โดยสารไปสู่สัมปรายภพ หรือขับรถเหาะข้ามเกาะกลางถนนไปชนรถซึ่งขับอยู่ดี ๆ บนถนนฝั่งตรงข้าม ทำให้มีคนซึ่งไม่รู้อิโหน่อิเหน่ตายโดย
ใช่เหตุ
ตัวเเอลกอฮอล์ในเหล้านั้นเป็นสารเคมี ซึ่งเมื่อเสพเข้าไปถึงระดับหนึ่งจะออกฤทธิ์กดการทำงานของสมองให้หยุดการคิดไตร่ตรอง รู้สึกผ่อนคลายสบายจิต เคลิบเคลิ้มจนหลุดไปจากโลกปัจจุบัน จึงมีผู้นิยมเสพติดในลักษณะที่ยากต่อการถอนตัวกลับมาเป็นคนปกติได้ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงกำหนดห้ามการดื่มเหล้าเป็นศีลข้อ 5 สำหรับคนดีมีสติ
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา (พ.ศ. 2550-2559) คนไทยดื่มเหล้าทุกประเภทที่ผ่านการเสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฏหมาย (ไม่รวมประเภททำเถื่อนหรือแอบนำเข้าตามชายฝั่งทะเลหรือชายแดนที่เป็นป่า) ในปริมาณค่อนข้างคงที่ในแต่ละปี ดูจากในปี พ.ศ. 2553 มีการดื่มเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์ราว 830 ล้านลิตร เรื่อยมาจนปี พ.ศ. 2558 ที่มีรายงานว่า ปริมาณคงยังอยู่ในระดับ 828 ล้านลิตร ตัวเลขอาจมีขึ้นลงบ้างในแต่ละปี เข้าใจว่าเป็นไปตามจำนวนนักดื่มที่ตายจากไป แต่ก็มีผู้เสพหน้าใหม่เข้ามาทดแทนแบบต่อเนื่อง
ในปี พ.ศ. 2545 รัฐบาลเก็บภาษีสรรพสามิตของสุราและเบียร์ได้ 53,940 ล้านบาท ต่อมาอีกสิบปีคือ พ.ศ. 2555 ภาษีเก็บได้เพิ่มเป็น 118,393 ล้านบาท และข้อมูลล่าสุดที่ได้จากเว็บ thaipublica.org เมื่อปี 2557 คือ 141,213 ล้านบาท โดยมีคำอธิบายถึงเหตุที่เก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นว่า มีการขึ้นภาษีสินค้ากลุ่มนี้ และค่านิยมในการเมาของคนไทยยังคงเหนียวแน่น แบบว่าคำสอนทางศาสนาพุทธที่มีอยู่ในระบบการศึกษาภาคบังคับนั้นดูจะก่อประสิทธิผลเฉพาะคนที่ยังไง ๆ ก็ไม่ดื่มต่อให้ไม่ต้องสอน (ความหมายคือ ดีมาแต่กำเนิด)
ในปี พ.ศ. 2558 ข้อมูลระบุว่า ภาษีเหล้าเบียร์ที่เก็บได้คือ 142,602 ล้านบาท จากตัวเลขนี้ท่านผู้อ่านคงเห็นได้ว่า ถ้าคนไทยส่วนหนึ่งกลับใจหันมาทำตามที่ได้อาราธนาศีลข้อ 5 ต่อหน้าพระแล้ว บางองค์กรในประเทศไทยอาจลำบาก เพราะมูลค่าภาษีบาปที่ต้องนำส่งไปให้องค์กรเหล่านั้นได้ใช้กันสบายมือต้องลดลง แต่ผลดีที่เกิดต่อประเทศเราคือ สามารถลดค่าใช้จ่ายในการบำบัดโรคของผู้ประสบเคราะห์กรรมเนื่องจากการดื่มได้เป็นแสนล้านบาทเช่นกัน
ข้อมูลที่หลายท่านอาจไม่ทราบคือ เหล้านั้นถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของ สารก่อมะเร็งกลุ่ม 1 โดย IARC (International Agency for Research on Cancer) ซึ่งหมายความว่า เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์เนื่องจากมีหลักฐานสนับสนุนทั้งทางระบาดวิทยาและการศึกษาในสัตว์ทดลอง
เอ็ททิลเเอลกอฮอล์ซึ่งเป็นสารเคมีหลักในเหล้าที่ถูกดูดซึมผ่านทั้งกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กนั้น เมื่อเข้าสู่กระแสโลหิตแล้ว ส่วนหนึ่งถูกส่งไปสมองทำให้เกิดอาการเมา ในขณะที่หลายส่วนถูกส่งไปที่ตับแล้วถูกเอ็นซัมในเซลล์ตับเปลี่ยนให้เป็นสารที่เรียกว่า อะเซ็ตตัลดีไฮด์ ซึ่งถูกเปลี่ยนต่อไปเป็นอะเซ็ตติลโคเอนไซม์เอซึ่งเป็นสารชีวเคมีชนิดเดียวกันกับที่ได้จากการที่เซลล์ย่อยคาร์โบไฮเดรตและไขมัน
ประเด็นที่น่าสนใจคือ อะเซ็ตตัลดีไฮด์เป็นสารที่ไม่เสถียรนัก จึงมีโอกาสเปลี่ยนไปเป็นอนุมูลอิสระ (ซึ่งเมื่อเกิดในเซลล์แล้วสามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเปลี่ยนเซลล์ปกติเป็นเซลล์มะเร็ง) ได้ง่าย ดังนั้นเซลล์ตับจึงต้องใช้สารต้านอนุมูลอิสระที่ละลายน้ำคือ วิตามินซีไปจัดการควบคุมให้การเปลี่ยนอะเซ็ตตัลดีไฮด์ไปเป็นอะเซ็ตติลโคเอนไซม์เอนั้นตลอดรอดฝั่ง นี่คือเหตุผลหนึ่งที่อธิบายว่า ทำไมคนที่ติดสุราจึงต้องการวิตามินซีสูงกว่าคนทั่วไป
สำหรับผู้ที่ดื่มเหล้าพร้อมกินกับแกล้ม มีการพิสูจน์มานานแล้วว่า อาหารปิ้งย่างรมควัน อาหารเนื้อสัตว์ (ทอดไฟแรง ตุ๋นไฟอ่อน ต้มเปื่อย) ไส้กรอกฝรั่งหรือกุนเชียงจีนและไก่สามอย่างซึ่งมีถั่วลิสงคั่วนั้นต่างมีสารพิษชนิดที่เป็น
สารก่อมะเร็งในมนุษย์ ปนเปื้อนอยู่ ดังนั้นผู้ดื่มที่นิยมกินกับแกล้มจึงมีโอกาสเป็นมะเร็งตับได้สูง ในขณะที่ผู้ดื่มเหล้าอย่างเดียวมักได้รับรางวัลเป็นอาการตับแข็ง ซึ่งก็ตายง่ายเช่นกัน
มีประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้ที่นิยมดื่มเหล้านั้นมักมีความประมาทในเรื่องความปลอดภัยของอาหาร จึงนิยมกินอาหารดิบๆ เช่น หอยนางรม ปลาร้าดิบ หรือเนื้อสัตว์อื่น ๆ ที่ปรุงไม่สุกพอ เช่น พล่าชนิดต่าง ๆ จึงเป็นหนทางที่ทำให้ผู้กินเข้าไปติดเชื้อพยาธิ์ ซึ่งหลายชนิดเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งตับ
Resource: HealthToday Magazine, No.205 May 2018