แต่งห้องใหม่ คลายซึมเศร้า

ภูมรินทร์ ณ วิเชียร มัณฑนากร

0
2705

เพื่อนดิฉันโทรศัพท์มาปรึกษาว่า คุณพ่อป่วยเป็นโรคซึมเศร้า กลับมาพักรักษาอาการที่บ้าน ต้องการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของบ้านใหม่ ควรจัดบ้านอย่างไรที่จะช่วยให้ท่านแจ่มใสและหายป่วยได้เร็วขึ้น จึงขอให้เพื่อนพาไปดูบ้านเธอหน่อยว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้าง

เมื่อไปถึงก็พบว่า บ้านเป็นบ้านเดี่ยว สูง 3 ชั้น มีสนามหญ้าหน้าบ้านที่กว้างพอเป็นสนามบอลย่อม ๆ ได้เลยค่ะ ลักษณะของบ้านดูจากภายนอกแล้วเป็นบ้านที่ปลูกและอยู่อาศัยมานาน สอบถามดูได้ข้อมูลว่า คุณพ่อและครอบครัวอาศัยอยู่ที่นี่มานานเกือบ 40 ปีแล้ว บ้านอายุขนาดนี้ คุณ ๆ คงนึกออกนะคะว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ประมาณว่าเป็นบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ พื้นปูด้วยไม้ปาร์เก้สีน้ำตาลเข้ม เฟอร์นิเจอร์เป็นไม้สักแกะสลักลายสวยงาม มีตู้สำหรับโชว์ของสะสมโบราณ ของตกแต่งในบ้านก็จะเป็นของที่คุณพ่อสะสมมานาน แต่ละชั้นของบ้านจะแบ่งเป็นห้องรับแขก ห้องทานข้าว ชั้น 3 จะเป็นห้องนอนลูก สำหรับคุณพ่อซึ่งป่วย ไม่สามรถเดินขึ้นชั้นบนได้ จึงจัดให้ท่านนอนที่ห้องชั้นล่าง

ดิฉันมีโอกาสได้พบคุณพ่อด้วย ดูแล้วท่านก็ดูเหมือนคนปกติ พูดคุยกับพวกเราเป็นปกติ เพื่อนบอกว่าท่านจะมีอาการเป็นระยะๆ ต้องควบคุมด้วยการรับประทานยา ดิฉันสังเกตดูภายในห้องนอนของท่าน ห้องจะปิดทึบหมด หน้าต่างมีนะคะ แต่ถูกปิดด้วยผ้าม่านสีเทาที่หนาทึบ แทบจะไม่มีแสงสว่างจากภายนอกเล็ดลอดเข้ามาได้เลย สีของห้องทาด้วยสีครีมหม่น ๆ เตียงนอนเป็นไม้สัก ภายในห้องเปิดแอร์เย็นฉ่ำ มีคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะอยู่ 1 เครื่องเท่านั้น ดิฉันดูแล้วรู้สึกว่าบรรยากาศภายในห้องนี้ทำให้รู้สึกเหงา เศร้า หดหู่ จึงบอกเพื่อนว่าถ้าต้องการเปลี่ยนแปลงบ้าน ให้จัดการเปลี่ยนแปลงห้องของคุณพ่อก่อนเป็นอันดับแรก แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนห้องอื่น ๆ จึงให้คำแนะนำไปดังนี้

  • ห้องนอน ควรเปลี่ยนสีใหม่ โดยการทาสีอ่อน เช่น สีเขียวอ่อน สีเหลืองอ่อน เพราะสีต่าง ๆ มีผลต่อความคิดและอารมณ์ เช่น สีเหลืองให้ความรู้สึกกระปรี้กระเปร่า สีแดงให้ความรู้สึกมีพลัง สีเขียวให้ความรู้สึกสดชื่นร่มเย็น และสีที่อ่อนนั้นจะทำให้ห้องที่แคบและทึบดูกว้างและสว่างขึ้น
  • ผ้าม่าน ให้เปลี่ยนเป็นผ้าม่านสองชั้น เป็นม่านสีขาวครีมโปร่งสำหรับเวลากลางวันที่ต้องการแสงสว่างส่องเข้ามาในห้อง อีกชั้นหนึ่งใช้เป็นม่านทึบ ใช้ผ้าสีอ่อน มีลวดลายบ้างก็จะทำให้ห้องดูมีชีวิตชีวาขึ้น สร้างบรรยากาศที่สดชื่นด้วยแจกันดอกไม้สด เพิ่มมุมสบายด้วย easy chair สักตัวสำหรับนั่งพักผ่อน ควรอยู่ใกล้หน้าต่างหรือประตูที่เชื่อมติดกับพื้นที่สีเขียวภายนอกบ้าน เป็นการดึงเอาบรรยากาศภายนอกเข้าสู่ภายใน และเชื่อมพื้นที่อื่น ๆ ให้สามารถเข้าถึงห้องนอนได้โดยสะดวก เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกโดดเดี่ยว
  • ตกแต่งผนังห้องด้วยภาพวิวหรือภาพธรรมชาติ เพื่อสร้างความรู้สึกผ่อนคลาย หลีกเลี่ยงการประดับสิ่งของที่เกี่ยวพันกับอดีต หรือความทรงจำที่ทำให้ท่านกังวล
  • การใช้แสงสว่างภายในห้องนอน ควรใช้แสงที่พอเหมาะไม่สว่างหรือมืดเกินไป ใช้แสงเน้นเฉพาะบริเวณ เพื่อสร้างบรรยากาศ เช่น เน้นบริเวณที่แขวนภาพ หรือตั้งโคมไฟข้างเตียงสำหรับอ่านหนังสือ แสงโดยรวมควรเป็นแสงเหลืองนวล (warm white) ซึ่งเป็นแสงที่เหมาะสำหรับการพักผ่อน
  • เพิ่มกลิ่นหอมของอโรมา เช่น กลิ่นลาเวนเดอร์ กลิ่นวานิลลา กลิ่นมะลิ หรือกลิ่นที่ท่านชอบ กลิ่นหอมเหล่านี้จะช่วยให้ร่างกายสดชื่น ผ่อนคลาย หลับสบายขึ้น
  • ด้านนอกบ้าน ควรสร้างกิจกรรมการจัดสวนดอกไม้หรือพืชผักสวนครัว เพื่อให้ท่านได้ออกกำลังกายเล็ก ๆ น้อย ๆ บริเวณสนามหญ้าควรมีเก้าอี้สนามสำหรับพักผ่อนหรือพบปะเพื่อน ๆ ญาติสนิท และทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ได้ปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันที่จำเจ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ

หลังจากให้คำปรึกษาไปไม่นาน เพื่อนโทรศัพท์มาบอกข่าวดีว่า ได้ทำตามคำแนะนำ พบว่าอาการของคุณพ่อดีขึ้น อารมณ์ดี สดชื่นแจ่มใส ดิฉันแอบดีใจเล็ก ๆ อันนี้ต้องยกเครดิตให้เพื่อนเพราะดูแลเอาใจใส่ท่านอย่างดี การจัดบริเวณบ้านนั้นเป็นเพียงส่วนเสริมทางหนึ่งเท่านั้น คุณ ๆ ที่มีญาติหรือคนใกล้ชิดที่ป่วยด้วยโรคเครียด หรือมีอาการซึมเศร้าลองนำวิธีนี้ไปปรับใช้นะคะ รับรองว่าได้ผลค่ะ

 

Resource : HealthToday Magazine, No.199 November 2017