ใจ – กาย ความสัมพันธ์ที่พิสูจน์ได้!

นพ.นริศ เจนวิริยะ ศัลยแพทย์

0
1713

รายงานในวารสารการแพทย์ The Lancet กล่าวว่า นักวิจัยได้ทำการทดลองในผู้หญิงวัยกลางคนจำนวน 720,000 คน และติดตามดูแลผลเป็นเวลาหลายปี จากการศึกษาพบว่า คนที่มีความรู้สึก “สุข” มักจะมีสุขภาพดีกว่า แต่คนที่รู้สึก “ทุกข์” ก็ใช่ว่าจะมีสุขภาพไม่ดีเสมอไป

อารมณ์มีผลต่อการรักษา

คนไข้ที่อารมณ์ไม่ดีอาจมีผลเสียต่อการทำหัตถการหรือการผ่าตัดได้ จากรายงานการศึกษาเมื่อเดือนธันวาคม 2015 ทดลองในคนไข้ที่กำลังจะเข้ารับการสวนหลอดเลือดหัวใจจำนวน 230 คน โดยให้คนไข้ทำแบบสอบถามเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ก่อนเข้ารับการสวนหัวใจ ผลปรากฏว่าคนไข้ที่มีอารมณ์ไม่ดีจะมีผลเสียจากการทำหัตถการมากกว่า เช่น หัวใจเต้นช้าลง ความดันเลือดตก

คนไข้มีอารมณ์ไม่ดีอาจมีผลเสียต่อการทำหัตถการหรือผ่าตัดได้  จากรายงานการศึกษาเมื่อเดือนธันวาคม 2015 ที่เขาทำการทดลองในคนไข้ 230 คนซึ่งกำลังจะเข้ารับการสวนหลอดเลือดตรวจหัวใจ ก่อนเข้ารับการสวนหัวใจคนไข้ได้รับแบบสอบถามถึงอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ  เขาพบว่าคนไข้ที่มีอารมณ์ไม่ดีจะมีผลเสียจากการทำหัตถการมากกว่า เช่นหัวใจเต้นช้าลง ความดันเลือดตก

โกรธก่อโทษ

ผลการศึกษาในปี 2015 กล่าวว่า ความโกรธจัดเป็นเหตุให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (heart attack) ภายใน 2 ชั่วโมง เป็นอัตราที่มากกว่าคนไม่โกรธ 8.5 เท่า ในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในซานฟรานซิสโก มีชาวอเมริกันป่วยด้วยโรคนี้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากเนื่องจากความเครียด ที่เป็นเช่นนั้นอาจเป็นเพราะว่าเวลาโกรธร่างกายจะหลั่งสารฮอร์โมนที่ทำให้เกิดการบีบตัวของหลอดเลือดแดง ทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น ซึ่งมีผลทำให้เลือดไหลยากขึ้น เลือดมีการแข็งตัวมากกว่าปกติ เป็นผลให้มีการอุดตันหลอดเลือดแดงที่สำคัญ เช่น ที่หัวใจ ทำให้หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

สุขช่วยลดการอักเสบ

การมีความรู้สึกสุขใจมีผลให้จำนวนสารเคมีที่ทำให้เกิดการอักเสบในร่างกายลดลงได้ การลดลงนี้มีความสัมพันธ์กับ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 จนถึงโรคข้ออักเสบ อันนี้เป็นผลการศึกษาเล็กๆ ในปี 2015 ซึ่งทำในนักศึกษามหาวิทยาลัย โดยให้นักศึกษากรอกแบบสอบถามเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก ผลการศึกษาพบว่าความรู้สึกสุขใจมีผลให้เกิดการลดการอักเสบมากกว่าคนที่ไม่มีความสุข

กรรมฐานกับไขมันสัมพันธ์กัน

คุณรู้ไหมว่ากรรมฐานกับไขมันมีความสัมพันธ์กัน จากรายงานการศึกษาในเดือนตุลาคม 2015 พบว่าคนที่มีสมาธิจิตใจตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบันมีไขมันในร่างกายน้อยกว่าคนที่ไม่มีสมาธิ โดยชายหญิงที่ไม่มีสมาธิหรือมีน้อยเป็นโรคอ้วน (obesity) มากกว่าคนที่มีสมาธิถึง 38% นักวิจัยคิดว่าคนที่มีสมาธิกินอาหารที่มีประโยชน์มากกว่าและกินจำนวนน้อยกว่า อย่างเช่นการศึกษาหนึ่งในอดีตที่พบว่าคนที่ทำลูกเกดกรรมฐาน คือเคี้ยวลูกเกดอย่างช้าๆ และทั่วถึง ระหว่างที่เคี้ยวก็พยายามให้น้ำและเนื้อลูกเกดละเลงไปบนต่อมรับรสของลิ้นจนทั่ว และเพ่งที่ความรู้สึกของลิ้นที่พยายามลิ้มรสชาติลูกเกดทุก ๆ อณู และในขณะเดียวกันก็คิดจินตนาการไปด้วยความรู้คุณของควายที่กำลังไถนา ชาวนากำลังดำนา และคิดถึงแม่โพสพและรุกขเทวดาประจำต้นข้าว ฯลฯ กว่าจะกินลูกเกดเสร็จแต่ละเม็ดก็คงจะหายหิว ทำให้กินอาหารได้น้อยลง ลูกเกดกรรมฐานจึงช่วยลดน้ำหนักได้

คิดติดลบทำสมองเสื่อมได้

จากการศึกษาที่มหาวิทยาลัยเยลพบว่า คนที่คิดติดลบเรื่องความแก่จะมีสมองเสื่อมมากกว่า คือสมองส่วนฮิปโปแคมปัสฝ่อลง และมีจำนวนพลัค (plaque) เพิ่มมากขึ้น ซึ่งทั้งสองอย่างนี้เป็นสัญลักษณ์ของโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์

ความคิด จิตใจ และอารมณ์ มีผลต่อสุขภาพแน่นอน ท่านอาจจะหลีกเลี่ยงผลเสียอย่างที่กล่าวถึงข้างบนโดยฝึกทำกรรมฐาน ตอนแรกก็ทำอานาปานสติกรรมฐาน เพ่งที่ลมหายใจเข้าออก หรือยุบหนอพองหนอ พอทำได้บ้างแล้วก็ฝึกวิปัสสนา คือการเพ่งดูกาย เวทนา ความรู้สึก จิต และธรรม สิ่งที่เขาสอนให้ทำในสำนักวิปัสสนาคือการนั่งหลับตา เพ่งเวทนา (ความรู้สึก) จากหัวจรดเท้า และจากเท้าไปหัว เมื่อทำจนคล่องและออกมาใช้ชีวิตจริงก็ให้นำทักษะการทำวิปัสสนามาใช้ทุกขณะจิต เพ่งไปที่จิตของตัวเอง คอยสังเกต เมื่อตัวเองคิดติดลบก็ให้รู้ว่าคิดติดลบ เพ่งไปนานเข้าความคิดติดลบก็จะหายคลายไป อารมณ์อย่างอื่น เช่น อารมณ์โลภ โกรธ หลง อิจฉาริษยา ฯลฯ ก็ทำได้เหมือนกัน เมื่อทำแบบนี้จนเก่งแล้ว ความทุกข์ของเราจะทุเลาเบาบางจนกระทั่งสูงสุดคือหายไป พร้อมกับได้สุขภาพที่ดีมาแทน  

 

Resource: HealthToday Magazine, No.178 February 2016