เบื่ออาหาร

พญ.ปณิชา ตั้งตรงจิตร แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป

0
2848
เบื่ออาหาร

อาการเบื่ออาหาร หลัก ๆ ก็คือ อาการสูญเสียความอยากที่จะกินอาหารไป หมายถึง ต่อให้มีอาหารจานโปรดมาวางอยู่ตรงหน้า ก็ไม่รู้สึกอยากจะเอาใส่ปากนั่นเองค่ะ ต่างกับอาการอิ่มเร็ว (Early satiety) ตรงที่อาการอิ่มเร็วเป็นอาการที่รู้สึกอยากจะกิน แต่กินไม่ได้มากเท่าที่ใจอยาก

โรคทางกาย ไข้ทางใจ สาเหตุเบื่ออาหาร

สาเหตุของอาการเบื่ออาหารนั้นมีหลายอย่าง ทั้งสาเหตุที่เกิดจากโรคทางกายและสาเหตุที่เกิดจากไข้ทางใจ

ปัจจัยทางจิตวิทยา หรือ ไข้ใจ ที่ส่งผลให้เกิดการเบื่ออาหารนั้นคงจะไม่ต้องพูดอะไรมาก เชื่อว่าหลายคนก็คงจะเคยเป็นกันมาบ้าง เช่น เวลาที่เรามีความเครียดหรือความวิตกกังวลมาก ๆ ร่างกายก็มักจะไม่รู้สึกอยากกินอะไร (Stress and anxiety) หรือบางคนเลิกกับแฟนแล้วน้ำหนักลดไปหลายกิโล หรือความเศร้าในระดับที่ไม่ถึงกับ
ซึมเศร้าก็ยังสามารถส่งผลกระทบต่อความเจริญอาหารได้เช่นกัน

ยิ่งไปกว่านั้น…ความผิดปกติในด้านการกิน (Eating disorder) ก็สามารถส่งผลให้เกิดอาการเบื่ออาหารได้ เช่น โรค Anorexia nervosa หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ ‘โรคคลั่งผอม’ ที่ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่าตัวเองมีน้ำหนักตัวมากเกินไปหรืออ้วนเกินไป ทำให้อดอาหารจนเกิดภาวะขาดสารอาหารได้

ปัจจัยทางกาย โรคทางกายที่ส่งผลต่อความอยากอาหารมีตั้งแต่โรคเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเช่น

  • การติดเชื้อไวรัสต่าง ๆ เช่น เวลาที่เราป่วย แม้จะเป็นแค่ไข้หวัด แต่เราก็ไม่ค่อยอยากกินอะไรถูกไหมคะ
  • ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะบางตัวที่ทำให้เกิดการรับรสที่ผิดปกติไป ยาแก้ปวดบางอย่างที่อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกเวียน ๆ งง ๆ เหมือนจะคลื่นไส้ตลอดเวลา หรือยาเคมีบำบัดที่นอกจากจะทำให้ลิ้นรับรสผิดปกติไปจากเดิมและทำให้เกิดแผลในปากแล้ว ยังทำให้เซลล์เยื่อบุในระบบทางเดินอาหารถูกทำลาย เหล่านี้ล้วนอาจทำให้ร่างกายรู้สึกไม่เจริญอาหารได้
  • โรคตับหรือโรคไตวายเรื้อรัง โรคเหล่านี้มีผลกับการขับของเสียออกนอกร่างกาย ทำให้เกิดของเสียคั่งค้างในระบบไหลเวียนเลือด ส่งผลให้ผู้ป่วยซึมลงและไม่อยากอาหาร
  • ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ (Hypothyroid) ทำให้ผู้ป่วยมีการเผาผลาญที่ลดลง นำไปสู่การลดความอยากอาหาร
  • ในผู้ป่วยสูงอายุ นอกจากจะมีความต้องการพลังงานลดลงแล้ว อัตราการเผาผลาญที่ลดลง และการรับรสที่เปลี่ยนไป ร่วมกับปัจจัยทางอารมณ์หลาย ๆ อย่างก็อาจจะเป็นตัวการที่ทำให้เกิดการเบื่ออาหารได้

นอกจากนี้ที่หลายคนกังวลกันก็คือ โรคมะเร็ง ซึ่งสามารถก่อให้เกิดความเบื่ออาหารได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มะเร็งในระบบทางเดินอาหาร ที่จะส่งผลกับความอยากอาหารโดยตรง เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งตับอ่อนหรือถุงน้ำดี

อ่านมาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านคงจะเห็นแล้วว่าอาการเบื่ออาหารนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งที่อันตรายและเป็นไปตามกลไกปกติของธรรมชาติ เช่นนั้นแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรล่ะว่า อาการเบื่ออาหารที่เกิดขึ้นมาถึงจุดที่อันตรายและควรไปพบแพทย์ อาการอย่างหนึ่งที่เป็นข้อบ่งชี้สำคัญนั่นก็คือ เริ่มมีน้ำหนักลดลงเองโดยที่ไม่ได้ตั้งใจจะลด เพราะนั่นแสดงว่าอาการเบื่ออาหารเริ่มจะส่งผลกระทบต่อร่างกายโดยรวมเข้าแล้วอย่างไรล่ะค่ะ

เทคนิคแก้ปัญหาเบื่ออาหาร

ใครที่เริ่มเบื่ออาหารหรือมีคนใกล้ตัวกำลังประสบกับภาวะเบื่ออาหาร ลองเอาทริคเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ไปใช้ดู น่าจะกระตุ้นให้เจริญอาหารขึ้นมาได้บ้างไม่มากก็น้อยค่ะ

  • กินผักใบเขียว เชื่อว่าการกินผักใบเขียวจะช่วยกระตุ้นเอนไซม์ในระบบย่อยอาหารและกระตุ้นฮอร์โมนที่ควบคุมความอยากอาหารของเราให้กลับมาทำงานอย่างเป็นปกติได้อีกครั้ง
  • ดื่มน้ำเยอะ ๆ วิธีนี้นอกจากจะช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหารแล้ว ผู้ที่มีภาวะเบื่ออาหารมักจะมีภาวะขาดน้ำอยู่ด้วย การดื่มน้ำจึงช่วยให้ร่างกายชุ่มชื้น ไม่ขาดน้ำ ทั้งยังช่วยให้ระบบเผาผลาญทำงานได้ดีขึ้น
  • ออกกำลังกายเบา ๆ เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน อย่างน้อยวันละ 20 นาที จะช่วยเพิ่มการเผาผลาญพลังงานภายในร่างกาย ทำให้รู้สึกอยากอาหารมากขึ้น

นอกจากนี้ อย่าลืมแก้ไขที่สาเหตุ (ถ้าเป็นสาเหตุที่แก้ไขได้) เช่น ถ้าอาการเบื่ออาหารเกิดจากภาวะความเครียดทางจิตใจ หรือภาวะทางร่างกายที่แก้ไขได้ หลังจากที่แก้ไขภาวะนั้นแล้ว อาการเบื่ออาหารมักจะดีขึ้น สามารถกลับมากินข้าวได้อร่อยเหมือนเดิมค่ะ

Resource: HealthToday Magazine, No.212 December 2018