แชร์…กัน…มึน

นพ.ไพสิทธิ์ วรปาณิ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ข้อเข่า ข้อสะโพก

0
1342

สมัยนี้ข้อมูลข่าวสารที่เราได้รับส่วนใหญ่มาจากใน Line หรือไม่ก็ Facebook หมอก็เป็นคนหนึ่งที่ได้ข้อมูลข่าวสารเหล่านี้มาเยอะมากจนต้องมาไล่นั่งอ่านนั่งวิเคราะห์กันหลายครั้งทีเดียวว่าอันไหนจริงหรือไม่จริง รวมทั้งคนไข้เองก็เข้ามาถามกันบ่อยครั้งว่าสิ่งนี้ที่กำลังเผยแพร่กันอยู่มันชัวร์หรือมั่วนิ่มกันแน่ หมอว่าเราคงต้องมานั่งวิเคราะห์หาข้อมูลก่อนแชร์หรือเชื่อกันก่อน อย่างฉบับนี้หมอขอยกตัวอย่างคร่าว ๆ ที่เคยได้ยินกันมา มาเล่าสู่กันฟังกันสัก 4-5 แชร์ ที่เหลือถ้ามีอะไรก็คงจะเล่ากันอีกครั้งนะครับ

น้ำอัดลมดื่มมากแล้วกระดูกพรุนจริงหรือ?

เรื่องนี้จริง ๆ หมอเองก็เคยได้ยินมานานแล้วเหมือนกัน ว่ากินแล้วทำให้กระดูกกร่อนบ้าง ผุบ้าง เคยเห็นบางคนบอกขนาดน้ำอัดลมน้ำดำยังขัดสนิมออกได้เลย ถ้าจะอ้างข้อมูลการศึกษาก็คงต้องดู Framingham study ในปี 2006 มีการศึกษาจาก Tuft University ที่บอสตัน ลงตีพิมพ์ใน The American Journal of Clinical Nutrition ผลเปรียบเทียบความหนาแน่นของกระดูกในรายที่ดื่มน้ำอัดลมและไม่ดื่มในจำนวน 2,500 คน แบ่งเป็นชาย 1,125 คน หญิง 1,413 คน ผลออกมาว่า ในผู้หญิงที่ดื่มน้ำอัดลมมากกว่า 3 กระป๋องต่อวันทำให้ค่าความหนาแน่นของกระดูกที่สะโพกลดลง 4% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ดื่ม และยังพบว่าในผู้ที่ดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำมีค่าแคลเซียมซึ่งมีผลต่อการสร้างกระดูกต่ำกว่าในกลุ่มที่ไม่ดื่ม แต่ในขณะที่ผู้ชายกลับไม่มีผล ซึ่งจากข้อมูลมีการวิเคราะห์ชี้ว่าอาจจะมีส่วนที่ว่า

  • ส่วนใหญ่คนที่ดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำมักจะไม่ดื่มนมซึ่งเป็นแหล่งแคลเซียมสำหรับเสริมกระดูกที่สำคัญ ทำให้คนกลุ่มนี้ได้รับปริมาณแคลเซียมต่อวันที่ต่ำกว่า
  • สารคาเฟอีนและกรดฟอสฟอริคในน้ำอัดลมบางชนิดจะไปทำการดึงแคลเซียมออกจากระดูก ทำให้กระดุกผุหรือพรุนได้ง่ายขึ้น และอาจมีผลต่อระบบดูดซึมอาหารทำให้การดูดซึมแคลเซียมจากอาหารแย่ลงอีกด้วย

หมอเองก็เป็นคนหนึ่งที่ดื่มน้ำอัดลม (แต่ไม่บ่อยนัก) เราก็ควรดื่มอย่างพอดี แก้กระหายจากการทำงานหรือออกกำลังกาย หรือสลับกับน้ำเปล่า น้ำผลไม้คั้นสด หมอว่าก็น่าจะทำให้ร่างกายเราสมดุลได้

ยาคลายกล้ามเนื้อ ยิ่งกินมากยิ่งทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง?

ความจริงแล้วยาคลายกล้ามเนื้อโดยทั่วไปจะออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง มีฤทธิ์ช่วยลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ เช่นเวลาเรานั่งหรือยืนนาน ๆ หรือทำงานผิดท่าทางจะเป็นสาเหตุให้กล้ามเนื้อหดเกร็ง และเกิดการปวดขึ้นได้ คล้าย ๆ ตะคริวแต่ไม่รุนแรงถึงขั้นนั้น การรับประทานยาคลายกล้ามเนื้อจะไปออกฤทธิ์ทำให้การเกร็งของกล้ามเนื้อลดลงแต่ไม่ถึงขั้นทำให้อ่อนแรง จึงช่วยลดอาการปวดลงได้ แต่ไม่แนะนำให้รับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพราะส่วนหนึ่งมักจะมีผลทำให้ง่วงนอน และบางยี่ห้อจะผสมยาพาราเซตามอลปริมาณหนึ่งไว้ด้วย ซึ่งถ้ารับประทานติดต่อกันเป็นเวลานานก็อาจมีผลเสียต่อตับได้

กระชายผสมน้ำมะนาวช่วยบำรุงกระดูกจริงหรือ?

กระชาย หรือชื่อวิทยาศาสตร์คือ Boesenbergia rotunda เป็นสมุนไพรที่พบมากแถวอาเซียนบ้านเรา พวกเดียวกับขิงข่า เอามาใส่ในอาหารได้หลายอย่าง เช่น พวกผัดฉ่า แกงป่า น้ำยาขนมจีน ได้อร่อย (พูดแล้วหิวทีเดียว) ที่มีการศึกษาอย่างเป็นรูปแบบจริง ๆ ก็มีในเกาหลีและญี่ปุ่นในเรื่องของการใช้แล้วมีผลเป็นยาต้านแบคทีเรีย หรือใช้ลดการเกิดภูมิแพ้ (Allergy) และลดริ้วรอยของผิวหนังในหนูทดลอง ยังไม่มีการทดลองที่เกี่ยวกับการช่วยทำให้กระดูกแข็งแรงอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ในคน เราคงต้องรอดูผลกันต่อไปในภายภาคหน้า ส่วนมะนาวก็เช่นกัน หลัก ๆ แล้วจะเป็น กรดซิตริค (Citric acid) ที่ให้ความเปรี้ยวนั้นเอง อุดมไปด้วยวิตามินซี ซึ่งมีส่วนช่วยในเรื่องอื่นๆ แต่สำหรับกระดูกแล้วตัวสำคัญคงเป็น “แคลเซียมและวิตามินดี” ที่พบมากในปลาแซลมอน น้ำมันตับปลา ปลาซาร์ดีน นม โยเกิร์ต ถ้าอยากให้กระดูกแข็งแรงก็หันมารับประทานพวกนี้จะดีกว่า ส่วนน้ำกระชายผสมมะนาวอย่างน้อยก็คงมีคุณประโยชน์ด้านอื่น และคงช่วยให้สดชื่นหลังดื่มด้วยครับ

นอนดิ้นเหมือนเด็กช่วยรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท?

จริง ๆ แล้วการนอนราบธรรมดาก็เป็นวิธีรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทวิธีหนึ่ง คงไม่จำเป็นต้องเต้นหรือดิ้นเหมือนอย่างที่แชร์กัน เพราะท่านั้นยิ่งอาจจะไปทำให้เกิดแรงกดทับที่หมอนรองกระดูกสันหลังมากขึ้น ยิ่งทำให้อาการปวดยิ่งแย่ลง หลักการง่าย ๆ ในการรักษาคือ ให้แรงกดมาที่หมอนรองน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยท่านอนราบธรรมดาในช่วงที่มีอาการจะดีที่สุด ส่วนท่าที่เสี่ยงทำให้เกิดอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นคือท่าก้มลงยกของหนัก หรือท่าที่นั่งหลังค่อมเป็นเวลานาน ๆ ถ้าเลี่ยงได้ควรเลี่ยง เพียงเท่านี้เราก็จะห่างจากโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทแล้วครับ

เดี๋ยวนี้เราจะเจอเรื่องแชร์กันทุก ๆ วัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร ยา รถ มากมายจิปาถะ อย่างไหนที่เรายังไม่รู้แนะนำให้ถามผู้เชี่ยวชาญทางด้านนั้นว่าที่แชร์กันมาจริงหรือไม่ดีกว่าที่เราจะไปทำแล้วเกิดผลเสียต่าง ๆ ตามมานะครับ ครั้งนี้คงจะได้รับข้อมูลกันพอสมควรแล้ว ถ้ามีอะไรใหม่ ๆ เดี๋ยวหมอก็จะมาแชร์กัน คงยังไม่มึนนะครับ

Resource: HealthToday Magazine, No.198 October 2017