3 ปัญหาจิตเวชคุณแม่หลังคลอด

ผศ.ดร.นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ จิตแพทย์

0
3096

ผู้หญิงในช่วงเวลาหลังคลอดจะเป็นช่วงที่มีความเปราะบางในการเกิดปัญหาด้านอารมณ์หรือโรคทางจิตเวช โดยในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอดจะพบความผิดปกติทางอารมณ์หรือพฤติกรรมได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงอื่น ๆ ของชีวิต ความผิดปกติที่เกิดขึ้นนี้หลายครั้งส่งผลกระทบต่อทั้งตัวผู้ป่วยเอง การเลี้ยงลูก และอาจทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ได้ ในบทความนี้จะเล่าถึงกลุ่มอาการผิดปกติที่พบได้ในช่วงหลังคลอด คือ ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด  โรคซึมเศร้าหลังคลอด และโรคจิตหลังคลอด

ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด

เป็นภาวะที่พบได้บ่อยที่สุดในกลุ่มอาการทางจิตเวชช่วงหลังคลอด โดยพบได้มากถึงร้อยละ 50-70 ของผู้หญิงหลังคลอด อาการมักจะเริ่มเป็นทันทีในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอด คุณแม่จะมีอารมณ์แปรปรวน เศร้า หงุดหงิด ไม่มีความสุข หรือร้องไห้ง่าย แต่อาการจะไม่รุนแรงเหมือนโรคซึมเศร้าหลังคลอด มักเป็นเพียงชั่วคราว โดยทั่วไปไม่เกิน 2 สัปดาห์ อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปได้เอง มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ไม่หายและอาการมากขึ้นจนกลายเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด สาเหตุของการเกิดภาวะนี้เชื่อว่าเป็นผลจากการที่ฮอร์โมนเพศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหลังคลอด ทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวน นอกจากนี้ความเครียดและความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น (เช่น ต้องตื่นมาให้นมลูกบ่อยๆ) ก็อาจมีส่วนเช่นกัน

โดยทั่วไปภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอดไม่จำเป็นต้องพบแพทย์หรือกินยา เพราะอาการไม่รุนแรงและเป็นอยู่ไม่นาน สิ่งที่ช่วยให้อาการดีขึ้นเร็วคือ “ความเข้าใจและการให้กำลังใจของคนในครอบครัว” เพราะบางคนอาจจะไม่เข้าใจว่า ทำไมถึงเศร้า? มีลูกทำไมถึงไม่ดีใจ? ซึ่งความคิดลักษณะนี้มักสร้างปัญหามากกว่าช่วยให้ดีขึ้น ดังนั้นการให้กำลังใจรวมถึงการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระการเลี้ยงลูกจากสามีหรือญาติ ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้คุณแม่หายได้เร็วขึ้น

โรคซึมเศร้าหลังคลอด  

เป็นภาวะที่รุนแรงกว่าภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด แต่พบได้น้อยกว่า โดยพบได้ประมาณร้อยละ 6 ของผู้หญิงหลังคลอด อาการของโรคมักเกิดช้ากว่าภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด ผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการภายในช่วง 2-4 สัปดาห์หลังคลอด โดยอาการจะเหมือนกับโรคซึมเศร้านั่นคือ มีอารมณ์เศร้าอย่างมากที่เป็นต่อเนื่องเกือบทั้งวันและเป็นติดต่อกันยาวนานหลายวันร่วมกับอาการทางกายอื่น ๆ ได้แก่ นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ในผู้ที่เป็นมากอาจมีความรู้สึกท้อแท้ รู้สึกว่าตัวเองไม่ดี ไม่สามารถเลี้ยงดูลูกได้ รู้สึกไร้ค่า และอาจมีความคิดฆ่าตัวตาย ภาวะนี้พบได้บ่อยขึ้นในผู้หญิงที่มีประวัติเป็นโรคซึมเศร้าอยู่เดิม หรือมีอาการซึมเศร้าระหว่างการตั้งครรภ์ ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ ความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ดี และการที่ต้องเลี้ยงดูลูกคนเดียวเป็นหลักโดยไม่มีคนช่วยเหลือ

โรคซึมเศร้าหลังคลอดจำเป็นต้องได้รับการรักษาและพบแพทย์เนื่องจากความเจ็บป่วยจะสร้างความทุกข์ให้แก่ผู้ป่วยอย่างมากและมีผลกระทบต่อการเลี้ยงดูลูก การรักษามักต้องใช้ยาต้านเศร้าร่วมกับการให้ความรู้ความเข้าใจแก่คนในครอบครัว การให้กำลังใจ และแบ่งเบาภาระการเลี้ยงดู

โรคจิตหลังคลอด

ภาวะโรคจิตหลังคลอดถือเป็นอาการทางจิตเวชที่รุนแรงที่สุดในกลุ่มความผิดปกติที่เกิดช่วงหลังคลอด แต่พบได้น้อย พบเพียงร้อยละ 0.1-0.2 ของผู้หญิงหลังคลอด โดยความผิดปกติมักเกิดขึ้นภายใน 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด อาการมักเริ่มจากนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย อารมณ์เปลี่ยนแปลงเร็ว เศร้า และร้องไห้ หลังจากนั้นอาการจะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ป่วยจะเริ่มดูสับสน พูดจาแปลก ๆ มีอาการหลงผิด* ซึ่งมักเป็นแบบหวาดระแวงกลัวคนมาทำร้ายหรือเกี่ยวกับเรื่องลูก (เช่น เชื่อว่าลูกตัวเองกำลังจะตาย นี่ไม่ใช่ลูกของตัวเอง หรือบอกว่าตัวเองไม่มีลูก เป็นต้น) มีอาการหูแว่ว* (เช่น ได้ยินเสียงสั่งให้ทำร้ายลูก เป็นต้น) นอนไม่หลับ และมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากปกติอย่างชัดเจน ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงในการทำร้ายตัวเองหรือลูก ซึ่งจากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยโรคนี้มีอัตราการฆ่าตัวตายประมาณร้อยละ 5 และร้อยละ 4 ฆ่าลูกตัวเอง ซึ่งหลายครั้งที่เราเห็นข่าวว่าแม่ทำร้ายลูกตัวเองก็เกิดจากโรคนี้นั่นเอง

เมื่อติดตามผู้ป่วยกลุ่มนี้ต่อไปพบว่าผู้ป่วยจำนวนมากจะเข้าเกณฑ์การเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorder) หรือโรคซึมเศร้า (major depressive disorder) โดย 2 ใน 3 จะมีความผิดปกติทางด้านอารมณ์เกิดขึ้นอีกภายใน 1 ปีหลังคลอด และร้อยละ 50 จะมีอาการโรคจิตหลังคลอดซ้ำอีกในการตั้งครรภ์ครั้งถัดไป

สำหรับภาวะโรคจิตหลังคลอดแพทย์มักแนะนำให้รับการรักษาในโรงพยาบาล เพราะอาการมักจะรุนแรง และผู้ป่วยอาจมีความเสี่ยงต่อการทำร้ายตัวเองหรือลูก การรักษาจะคล้ายกับการรักษาโรคอารมณ์สองขั้ว คือใช้ยากลุ่มควบคุมอารมณ์ (mood stabilizers เช่น lithium, sodium valproate) ในรายที่อาการหูแว่วหรือหลงผิดรุนแรงอาจใช้ยาต้านอาการทางจิตร่วมด้วย โดยโรคนี้แม้อาการดูเหมือนรุนแรง แต่ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นและหายดีภายใน 1-2 เดือน

ความผิดปกติทางจิตเวชในผู้หญิงช่วงหลังคลอดเป็นภาวะที่พบได้บ่อย ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะดังกล่าวจึงเป็นสิ่งสำคัญไม่เฉพาะกับคุณแม่เท่านั้น แต่กับสามีและคนในครอบครัวก็มีความสำคัญเช่นกัน ซึ่งนอกจากการให้กำลังใจและช่วยเลี้ยงดูแล้ว การสังเกตและรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์หากพบว่าอาการเป็นมากกว่าภาวะเศร้าหลังคลอดก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เพื่อที่ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว และไม่ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงดูลูกในระยะยาว

* ความคิดหลงผิด (delusion) หมายถึงความเชื่อผิด ๆ ในสิ่งที่ไม่เป็นจริง; หูแว่ว (auditory hallucination) หมายถึงการได้ยินเสียงที่ไม่มีอยู่จริง

Resource: HealthToday Magazine, No.189 January 2017