Executive Function สำหรับวัยรุ่น

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์

0
2607

Executive Function หรือ EF หมายถึงความสามารถที่จะควบคุมความคิด (cognition) การกระทำ (action) และอารมณ์ (emotion) เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย

สำหรับเด็กโต วัยทีน และวัยรุ่น ที่ซึ่งชีวิตในแต่ละวันอยู่ที่โรงเรียน  การศึกษาจึงเป็นฐานสำคัญที่จะฝึกปรือการใช้ EF ตั้งแต่อายุประมาณ 7 ขวบเมื่อเข้าเรียนชั้นประถม 1 ไปจนถึงจบชั้นอุดมศึกษา

ในขณะที่กระบวนการตัดแต่ง (pruning) เริ่มต้นที่อายุประมาณ 10-15 ปี ทำให้สมองเหลือไว้เพียงวงจรประสาทที่ใช้งานและสมองส่วนสีเทา (gray matter) ลดขนาดลงดังที่เล่าให้ฟังในตอนที่แล้ว ยังมีกระบวนการทางทางชีววิทยาที่สำคัญอีกหนึ่งกระบวนการคือกระบวนการเพิ่มปลอกไมอิลิน (myelinization) ที่ยังคงดำเนินอยู่

กระบวนการเพิ่มปลอกไมอิลินที่เส้นประสาทจะช่วยให้เส้นประสาทสื่อนำสัญญาณประสาทเร็วมากขึ้น 100 เท่า และระยะพักของการส่งสัญญาณประสาทสั้นลง 30 เท่า ความเร็วที่เพิ่มมากขึ้นมหาศาลนี้สร้างความแตกต่างระหว่างคนที่มี EF ดีหรือ EF ไม่ดีเป็นอย่างมาก

กระบวนการ EF ใช้ข้อมูลนำเข้าจากตัวรับต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ได้แก่ การเห็น ได้ยิน สัมผัส รับรส และได้กลิ่น สมองส่วนต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่ประมวลข้อมูลพื้นฐาน 5 ประการนี้ตั้งอยู่ในที่ห่างไกลจากสมองส่วนหน้าของส่วนหน้าเป็นอันมาก หากเส้นประสาทขนาดยาวสามารถนำสัญญาณประสาทด้วยความเร็วสูงสุดไปสู่สมองส่วนหน้าได้ย่อมดีต่อการประมวลข้อมูลทั้งหมดก่อนการตัดสินใจ

กระบวนการเพิ่มปลอกไมอิลินนี้จะหนาแน่นมากที่สุดบริเวณสมองส่วนหน้า ทำให้สมองส่วนสีขาว (white matter) เพิ่มปริมาณมากขึ้น  นี่คือเนื้อสมองที่ดีที่สุด

กระบวนการเพิ่มปลอกไมอิลินจะเกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กับการบริหาร EF กล่าวคือจะไม่เกิดขึ้นเอง แต่เกิดขึ้นได้มากน้อยขึ้นอยู่กับว่าเด็กประถม มัธยม และอุดมศึกษาใช้ชีวิตอย่างไร หากเด็กและเยาวชนในระบบการศึกษาของเราทำเป็นเพียงแค่การเรียนหนังสือ ท่องหนังสือ ทำข้อสอบปรนัยซึ่งใช้ความสามารถในการจำและคิดวิเคราะห์ที่จำกัด อีกทั้งไม่มีเงื่อนไขของชีวิตที่ซับซ้อนให้ฝึกปรือ ย่อมนำไปสู่การบริหาร EF แบบง่าย ๆ แล้วนำไปสู่การสร้างสมองส่วนหน้าที่ง่าย ๆ วันใดที่ชีวิตพบอุปสรรคที่ซับซ้อนก็มักจะไม่สามารถประมวลข้อมูลรอบด้านและตัดสินใจอย่างชาญฉลาดได้

ในอีกหนทางหนึ่ง หากการศึกษาเปลี่ยนเป็นการเรียนรู้ด้วยโจทย์ปัญหา (Problem-based Learning: PBL) “ที่ดี” ก็จะช่วยให้สมองได้บริหาร EF อย่างเต็มที่ ผลลัพธ์สุดท้ายคือสมองส่วนหน้าที่ดี พร้อมจะเผชิญอุปสรรคที่ยากหรือโจทย์ท้าทายต่อชีวิตในภายหน้า พูดง่าย ๆ ว่า การเรียน ท่องหนังสือ ทำข้อสอบปรนัย เป็นเรื่องที่ง่ายเกินไป

โจทย์ปัญหาที่ดีควรทำให้เกิดสถานการณ์ที่เด็กนักเรียนหรือนักศึกษาระดับอุดมศึกษาต้องเผชิญสถานการณ์ 2 ประการคือ 1.ต้องการการวางแผนอย่างซับซ้อน (Complex Planning) และ 2.ต้องการการเผชิญสถานการณ์ที่ท้าทาย 2 ประการนี้จะช่วยให้เด็ก ๆ เลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องบริหาร EF นั่นคือ ความสามารถที่จะควบคุมความคิด การกระทำ และอารมณ์ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย เปรียบเหมือนการปีนป่ายที่สูงของเด็กเล็ก เด็กเล็กจะปีนป่ายที่สูงได้ต้องการการวางแผนที่ซับซ้อนและการเผชิญสถานการณ์ที่ท้าทาย เด็กโตและวัยรุ่นก็ไม่ต่างกัน

วัยทีนและวัยรุ่นทั่วโลกเผชิญโจทย์ปัญหาในชีวิตจริงเหมือน ๆ กันหมดคือ เรื่องเพศ ยาเสพติด ความรุนแรง มอเตอร์ไซค์ และการพนัน  5 ประการนี้เป็นสถานการณ์ที่ท้าทายและต้องการการวางแผนที่ซับซ้อน จึงจะได้การคิดวิเคราะห์ที่รอบด้านแล้วผ่านไปได้

แต่เราไม่จำเป็นต้องโยนวัยรุ่นเข้าสู่สถานการณ์อันตรายเพื่อการบริหาร EF เสมอไป การศึกษาที่ดีสามารถออกแบบได้ว่านักเรียน นักศึกษาควรเรียนรู้อะไรจึงจะมีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตตามที่เป็นจริง การศึกษามีความจำเป็นรีบด่วนที่จะเปลี่ยนแปลงจากการเรียนการสอนการสอบในรูปแบบเดิมไปสู่การเรียนรู้ทักษะศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills) ได้แก่ ทักษะเรียนรู้ ทักษะชีวิต และทักษะไอที

ทุกครั้งที่ครูและนักเรียนนักศึกษาได้ช่วยกันออกแบบสถานการณ์ที่ท้าทาย นักเรียนนักศึกษาจึงจะได้ใช้ทักษะการวางแผนที่ซับซ้อน แล้วนำไปสู่ทักษะเรียนรู้ ทักษะชีวิต และทักษะไอทีในที่สุด

Resource: HealthToday Magazine, No.189 January 2017