Executive Function สำหรับเด็ก

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์

0
2647

Executive Function หรือ EF หมายถึง ความสามารถในการควบคุมความคิด (cognition) การกระทำ (action) และอารมณ์ (emotion) เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย (goal) EF มิได้เกิดขึ้นเอง แต่เกิดจากกระบวนการแก้ปัญหาที่เด็กคนหนึ่งได้ทดลองทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าตั้งแต่เริ่มมีตัวตน (self) คืออายุประมาณ 3 ขวบ เป็นต้นไป จนกระทั่งอายุ 20-25 ปีโดยประมาณ อันเป็นเวลาที่สมองส่วนหน้าของส่วนหน้า (prefrontal cortex) พัฒนาเต็มที่

EF เป็นเรื่องสำคัญ เด็กและวัยรุ่นคนหนึ่งจะไปให้ถึงเป้าหมายได้ ต้องมีเป้าหมายเป็นอย่างแรกคือ goal หรือ target จากนั้นต้องมีความคิดอ่าน วางแผน ลงมือทำ ระหว่างลงมือทำยังต้องควบคุมการกระทำและอารมณ์มิให้ออกนอกเส้นทางจนกว่าจะไปถึงเป้าหมาย จะเห็นว่าไม่ง่าย เด็กบางคนทำได้ เด็กบางคนทำไม่ได้ วัยรุ่นบางคนมีเป้าหมายและไปถึง วัยรุ่นบางคนไม่มีเป้าหมายอะไรเลย หรือถึงจะมีก็ไปไม่ถึง เหตุที่ไปไม่ถึงเพราะไม่สามารถควบคุมความคิด การกระทำ และอารมณ์ได้

EF เป็นกระบวนการทางจิตวิทยาเท่า ๆ กับกระบวนการทางชีววิทยา กล่าวคือเด็กและวัยรุ่นต้องได้มีโอกาสใช้ชีวิตที่ได้ฝึกฝนทักษะเรียนรู้และทักษะชีวิตอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอเป็นเวลานานหลายปี ซึ่งจะทำให้กระบวนการพัฒนาสมองและระบบประสาทส่วนกลางเจริญพัฒนาไปในทิศทางและสมรรถนะที่ดี กระบวนการทางชีววิทยาที่สำคัญของเด็กและวัยรุ่นคือกระบวนการตัดแต่ง (pruning) และกระบวนการสร้างปลอกไมอิลิน (myelinization)

กระบวนการตัดแต่งเริ่มต้นที่อายุประมาณ 10-12 ปี กล่าวคือสมองจะสลายเซลล์สมอง (neurons) จุดเชื่อมต่อ (synapses) และวงจรประสาท (networks) ที่วัยเด็กช่วงอายุ 1-10 ปีไม่ใช้หรือไม่ค่อยใช้ทิ้งไป เหลือไว้แต่ส่วนที่ใช้ เปรียบเหมือนงานแกะสลักของไมเคิล แองเจโล ที่สกัดหินอ่อนส่วนเกินทิ้งไปเหลือเพียงรูปประติมากรรมที่จะแสดง หรือเปรียบเหมือนการสะสางเอกสารที่ไม่ใช้ออกจากโต๊ะหรือที่ทำงานเพื่อเหลือเพียงเอกสารที่จะใช้งาน แปล pruning ง่าย ๆ ว่าการตัดแต่งหรือตัดตอน

ส่วนที่เหลือไว้คือส่วนที่จะใช้ มิได้แปลว่าเหลือส่วนที่สำคัญหรือส่วนที่ดีเสมอไป รูปประติมากรรมที่ปรากฏขึ้นมาหลังการสกัดหินอ่อนส่วนเกินออกไปนั้นจะงามหรือไม่งามขึ้นอยู่กับว่าเมื่อ 10 ขวบปีแรกทำอะไร เอกสารที่เหลืออยู่จะเป็นเอกสารที่มีประโยชน์หรือไม่ขึ้นอยู่กับเราผลิตเอกสารอะไรออกมาในครั้งแรก

กิจกรรมที่เด็กเล็กวัย 1-10 ปีทำจึงมีความสำคัญ เราแนะนำให้ทำกิจกรรมต่อไปนี้จะดีต่อสมองในวันหน้าสูงสุด กิจกรรมเหล่านี้จะเตรียมเนื้อสมองคือเซลล์ประสาท จุดเชื่อมต่อ และวงจรประสาทที่ดีเยี่ยมจำนวนมาก เมื่อถึงวันตัดแต่งหรือตัดตอน วงจรประสาทที่ดีที่เกิดจากกิจกรรมที่ดีจะเหลืออยู่เพื่อเข้าสู่วัยทีนและวัยรุ่นในลำดับถัดไป

กิจกรรมที่ดีสำหรับเด็กเล็กและเด็กโต 10 ประการ ได้แก่ อ่านหนังสือ, เล่นดินเล่นทรายพร้อมถังน้ำ, ระบายสี, ปั้นดินน้ำมัน, ต่อบล๊อคไม้, ฉีก ตัด ปะกระดาษ, วิ่งเล่นในสนาม, ปีนป่าย, เล่นบทบาทสมมติ และเล่นดนตรี กิจกรรมที่เราเป็นห่วง ได้แก่ ดูทีวีมากเกินไป เล่นสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตมากเกินไป และเล่นเกมมากเกินไป

กระบวนการตัดแต่งหรือตัดตอนนี้จะดำเนินไปจนกระทั่งอายุประมาณ 15 ปีจึงสิ้นสุด ส่งผลให้สมองส่วนสีเทา (gray matter) น้อยลง และจำนวนของเซลล์ประสาทลดลงอย่างเห็นได้ชัดในเอกซเรย์พิเศษของสมอง เซลล์ที่เหลืออยู่จะเป็นประติมากรรมหรือเอกสารที่ดีหรือไม่ก็ตาม วัยรุ่นคนนั้นก็จำต้องใช้ไปตลอดชีวิตที่เหลือ

กิจกรรม 10 อย่างข้างต้นช่วยบริหาร EF เพราะทุกกิจกรรมบริหารความคิด การกระทำและอารมณ์เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ส่วนสำคัญคืออารมณ์ อารมณ์สนุกสนานเกินขอบเขต หรืออารมณ์กลัวที่ไร้การควบคุมจะทำให้ความคิดและการกระทำไม่อยู่ในเส้นทาง ทำให้ไปไม่ถึงเป้าหมายในที่สุด

การปีนป่ายที่สูงเป็นกิจกรรมที่ท้าทาย (challenge situation) กล่าวคือเด็กเล็กต้องเอาชนะความกลัว แล้วใช้มือ สายตา เท้าประสานกันอย่างดี (hand-eye coordination) เพื่อปีนไปให้ถึงยอด เป็นตัวอย่างหนึ่งของกิจกรรมที่สาธิตพัฒนาการของ EF อย่างดีที่สุด

Resource : HealthToday Magazine, No.188 December 2016