ช่วงนี้ก็เข้าสู่ฤดูฝนกันอีกแล้ว คงต้องเตรียมตัวกันให้พร้อม เพราะช่วงนี้มักมีโรคที่มาจากอากาศชื้นกันเยอะ ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัด ท้องร่วงจากอาหาร หรือถ้าอากาศชื้นแล้วเชื้อโรคเข้าถึงปอดก็ถึงขั้นเป็นปอดบวมได้นะครับ หมอแนะนำให้ดูแลสุขภาพกันให้ดี ๆ ไหน ๆ ก็เกริ่นเรื่องเชื้อโรคกับพวกติดเชื้อมาถึงขั้นนี้แล้ว ฉบับนี้เรามาพูดถึงการติดเชื้อในกระดูกกันบ้างดีไหมครับ บางคนอาจจะไม่รู้ว่ามีด้วยเหรอ มีเหมือนกันครับ เหมือนการติดเชื้อที่อื่นแต่อาจจะไม่บ่อย แต่ถ้าเป็นแล้วก็รักษากันนานพอสมควรเลย ว่าแล้วเรามาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า
ถ้าพูดถึงเรื่องการติดเชื้อของกระดูก หมอก็มักจะพูดถึงการติดเชื้อแบคทีเรียซะส่วนใหญ่นะครับ เพราะเจอได้มากกว่าพวกเชื้อราหรือเชื้อโรคอย่างอื่น หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมกระดูกถึงติดเชื้อได้ด้วย?
จริง ๆ แล้วในกระดูกเองนั้นก็มีเส้นเลือดมาเลี้ยงด้วยเหมือนกันครับ เพียงแต่เราอาจจะมองไม่เห็น ที่เห็นมักจะเป็นเส้นเลือดที่มาเลี้ยงรอบ ๆ กระดูก ดังนั้นหมอกำลังจะบอกว่าถ้าเกิดในร่างกายเรามีแผลหรือมีการติดเชื้อในกระแสเลือด เชื้อโรคก็อาจจะวิ่งเข้ามาในกระดูกได้เหมือนกัน
อีกทางที่เราเจอกันบ่อย ๆ มักจะเกิดจากแผล ไม่ว่าจะเป็นแผลที่นิ้วเท้าหรือนิ้วมือ หรือบางคนที่หัวเข่า พวกนี้ถ้าเกิดลึกมากก็เป็นทางให้เชื้อโรคเข้าทะลุจากชั้นผิวหนังผ่านชั้นกล้ามเนื้อลงไปถึงกระดูกได้เลยครับ โดยเฉพาะคนไข้ที่ต้องกินยากดภูมิต้านทานเช่นพวกยาสเตียรอยด์ หรือคนไข้ที่เป็นเบาหวาน คนไข้กลุ่มนี้แผลมักจะหายยากเพราะเส้นเลือดที่มาเลี้ยงบริเวณแผลน้อยกว่าปกติทำให้แผลหายช้า เชื้อโรคที่พบบ่อยมักจะเป็นเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ตามผิวหนังของเรา เช่น stap. Aureus เป็นต้น หรือบางรายเข้าไปในข้อต่อพวกเข่า ข้อเท้า ก็อาจจะบวมเกิดเป็นหนอง (pus) ในข้อ เกิดเป็นข้อติดเชื้อไปทำลายผิวข้อได้เช่นกันนะครับ
ดังนั้นใครที่มีอุบัติเหตุหรือแผลที่ค่อนข้างลึก หมอแนะนำให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลจะถูกต้องและดีกว่าครับ เพราะวิธีรักษาส่วนใหญ่มักจะต้องทำการเปิดเข้าไปจนถึงกระดูกแล้วทำการล้างเอาหนองหรือเชื้อโรคออกให้หมด รวมทั้งอาจจะต้องให้ยาฆ่าเชื้ออีกสักระยะหนึ่ง หรืออีกพวกก็อย่างเช่นอุบัติเหตุแล้วมีแผลเปิดลึกเข้าถึงบริเวณกระดูก พวกนี้การรักษาของหมอจะถือว่ายากกว่าพวกกระดูกหักที่เป็นแผลปิดครับ โดยวิวัฒนาการของการรักษาจริง ๆ เริ่มเมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถ้าใครเคยดูพวกหนังสงครามโลกจะเห็นพวกทหารที่โดนยิง เหยียบกับระเบิดจนเป็นแผลเปิด รวมทั้งกระดูกหักด้วย สมัยก่อนที่เรายังไม่รู้ก็จะใส่เหล็กยึดเข้าไปที่กระดูก (internal fixation) เลย แต่พบว่าโอกาสที่กระดูกจะติดเชื้อโรคสูงขึ้นมาก เพราะเหล็กที่ใช้ยึดถึงแม้จะปราศจากเชื้อ แต่ก็ยังถือว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปในร่างกาย ซึ่งเชื้อแบคทีเรียจะมารวมอยู่ที่บริเวณผิวของเหล็กที่ใช้ยึดได้สูง อีกทั้งยังทำให้บริเวณที่กระดูกหักไม่เชื่อมติดอีกด้วย ตอนหลังเริ่มมีความรู้มากขึ้นจึงใช้วิธีที่แตกต่างกัน โดยจะใช้วิธียึดเหล็กดามด้านนอก (external fixation) ในช่วงแรกไว้ก่อนเพื่อรอให้การติดเชื้อลดลงจากการให้ยาฆ่าเชื้อ รวมทั้งการล้างทำความสะอาดแผลจนกระทั่งเนื้อเยื่อบริเวณนั้นดีขึ้นก่อนแล้วจึงทำการยึดเหล็กเข้าไปด้านในอีกรอบ ส่วนใหญ่จะใช้เวลาในการรักษานานกว่ากระดูกหักแบบแผลปิดพอสมควร ดังนั้นทางที่ดีเราควรระวังอย่าให้เกิดแผลเลยจะดีกว่า
จะเห็นได้ว่าความรู้ที่เราได้มาในปัจจุบันล้วนมาจากการสังเกต คิด วิเคราะห์ที่คนรุ่นก่อนได้ปูทางไว้ และถ้าเราตั้งใจพยายามศึกษา นำสิ่งที่ดีที่ถูกต้องมาใช้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติทั้งในปัจจุบันและอนาคตครับ
Resource: HealthToday Magazine, No.208 August 2018