ป้องกันกระดูกหักซ้ำ Capture the fracture

นพ.ไพสิทธิ์ วรปาณิ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ข้อเข่า ข้อสะโพก

0
3123

ช่วงปลายปีที่แล้วหมอได้มีโอกาสไปประชุมสัมมนาเรื่อง Osteoporosis หรือ กระดูกพรุน ของสมาคม Asian Federation of Osteoporosis Societies หรือ AFO ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีหมอจากทั้งในกลุ่มอาเซียนรวมทั้งญี่ปุ่น และวิทยากรจากทั้งสวิสเซอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย รวมทั้งของไทยมาแลกเปลี่ยนความรู้กัน

ธีมงานในปีนี้คือการจัดตั้งทีมการเฝ้าค้นหาภาวะกระดูกพรุน และหาวิธีป้องกันไม่ให้กระดูกหักซ้ำในผู้ป่วยที่มีกระดูกข้อสะโพกหรือกระดูกสันหลังหักร่วมกับภาวะกระดูกพรุน เพราะจากข้อมูลช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา งบประมาณที่ต้องสูญเสียกับกับค่ารักษาไม่ว่าจะเป็น ค่ายา ค่าอุปกรณ์การผ่าตัด ค่าห้องรักษาพยาบาล ค่าสูญเสียโอกาสของลูก ๆ ในการต้องมาดูแลผู้ป่วยที่ล้มกระดูกหัก และค่าต่าง ๆ อีกจิปาถะ รวมแล้วเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากจน IOF หรือ International Osteoporosis Foundation ออกแคมเปญเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2013 ว่า “Capture the fracture” หรือถ้าให้หมอแปลเป็นแบบโปสเตอร์หนังก็คงจะแปลว่า “เจ้ากระดูกหักเจอฉันจับแน่”

ด้วยแคมเปญนี้ ปัจจุบันเกือบทั่วโลกก็ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้กันหมดแล้ว เพื่อให้พวกเราได้รู้ว่ากระดูกพรุนเป็นภัยที่เข้ามาแบบเงียบ ๆ ไม่ต่างจากมะเร็งหรือโรคหัวใจเลย แต่ก็อย่าเพิ่งกลัวกันเกินไปนะครับเพราะเรายังมีวิธีป้องกันได้ ตอนประชุมก็มีการอัพเดตหัวข้อเรื่องต่าง ๆ เช่น

แคลเซียม

หมอจากสิงคโปร์มาพูดเรื่องแคลเซียมว่าจำเป็นไหม? โดยสรุปแล้วในหญิงวัยหมดประจำเดือนก็ควรได้รับแคลเซียมให้ได้ประมาณวันละ 600-1,000 มิลลิกรัม โดยแคลเซียมที่ดีที่สุดควรมาจากอาหาร

แล้วก็ยังมีถกเถียงกันเรื่องที่ว่าแคลเซียมเสริมมีผลทำให้เกิดความจำสมองเสื่อมหรือภาวะ Dementia หรือทำให้เกิดแคลเซียมพอกในเส้นเลือดทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นไหม ซึ่ง ณ ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสัมพันธ์กับแคลเซียมเสริมอย่างมีนัยสำคัญ

ดังนั้นในหญิงที่หมดประจำเดือนที่คิดว่าได้รับแคลเซียมจากอาหารไม่เพียงพอก็อาจได้รับจากแคลเซียมเม็ดเสริมได้ ทั้งนี้ไม่ควรเกินปริมาณที่กำหนดไว้ แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้รับเลย

วิตามินดี

ในส่วนของวิตามินดี จากตอนเด็ก ๆ ที่จำได้แต่เพียงว่าวิตามินอะไรบ้างที่ละลายได้ในไขมันตอบคือ A D E K โดยไม่รู้เลยว่าสำคัญอย่างไรจนผ่านมาอีก 30 กว่าปีถึงมารู้ จริง ๆ แล้ววิตามินดีเป็นวิตามินตัวเดียวที่ไม่ต้องเสียสตางค์ซื้อหานะครับ ก็แค่เราไปตากแดดช่วง 7 โมงเช้าถึงช่วงสาย ๆ สัก 10-11โมงเช้า (ไม่ต้องทาครีมกันแดดนะครับ) ร่างกายก็สามารถสังเคราะห์วิตามินดีได้เองแล้ว และประโยชน์ของมันคืออะไรล่ะ

จริง ๆ แล้วถ้าเรื่องของกระดูกโดยตรงคงไม่ถึงกับเกี่ยวข้องมาก แต่วิตามินดีนั้นเป็นส่วนสำคัญในการช่วยการดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้เข้าสู้เส้นเลือด แล้วหมอจากมาเลเซียก็ยังเสริมอีกว่า วิตามินดียังมีส่วนช่วยระบบกล้ามเนื้อและระบบประสาทในเรื่องของการทรงตัวเพื่อป้องกันการล้มอีกด้วย ดังนั้นก็ถือว่าเป็นอีกตัวที่สำคัญนะครับ นอกจากนี้ยังพูดถึงเรื่องยาที่ช่วยในการกระตุ้นกระดูกซึ่งหมอคงจะไม่ลงลึกในที่นี้นะครับ เพราะยาแต่ละตัวที่ใช้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

หลังจากที่ได้ประชุมกันเสร็จประมาณ 2 วันครึ่ง ยังพอมีเวลาอีกครึ่งวัน จึงไปเดินดูเมืองกัวลาลัมเปอร์ สถานที่จัดซีเกมส์ครั้งที่ผ่านมา และมีโอกาสได้ไปถ้ำใกล้ ๆ ชื่อถ้ำบาตู น่าจะเป็นถ้ำของชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดู หน้าถ้ำมีรูปปั้นคาดว่าคงเป็นเทพองค์ใดองค์หนึ่งของฮินดู ที่หมอเคยรู้ก็มีพระพรหม พระศิวะ พระวิษณุ หลังจากเดินขึ้นบันไดประมาณ 200 ขั้น (เรียกเหงื่อได้ดีทีเดียว) ก็เห็นคน 10-15 คนกำลังจับกลุ่มล้อมวงกัน เหมือนมีพราหมณ์กำลังทำพิธีอะไรสักอย่าง ราดนม ราดน้ำต่าง ๆ ลงบนศิวลึงค์และสวดมนต์เสียงดังพอควร จากนั้นคนที่นั่งล้อมวงก็เอาน้ำนั้นมาพรมที่ตัว หมอเองก็ไม่แน่ใจว่าเขาทำไปเพื่ออะไร แต่ก็อย่างที่รู้ว่าพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนมีความกลัวอยู่ในใจเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ ความเป็นอยู่ เภทภัยต่าง ๆ จึงต้องหาอะไรยึดเหนี่ยวเพื่อให้ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บ

เห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นคนยุคไหนศาสนาใดก็พยายามที่จะหาทางป้องกันโรค ทั้งที่บางครั้งก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าวิธีนั้นสามารถช่วยได้หรือไม่ เพียงแค่มีความเชื่อหรือศรัทธาก็มีส่วนให้โรคภัยไข้เจ็บนั้นหายไปกว่าครึ่งแล้ว เมื่อโลกก้าวเข้าสู่วิทยาศาสตร์มากขึ้น จึงสามารถอธิบายปรากฏการณ์หรือโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเราได้มากขึ้น ค้นหาต้นตอของการเกิดโรคจนหาทางป้องกันเพื่อให้ความกลัวนั้นหายไป อย่างเช่น คนสมัยก่อนเห็นคนสูงวัยเดินหลังค่อม ก็ยังไม่รู้สาเหตุ รู้แต่เพียงว่าเมื่ออายุมากขึ้นหลังจะต้องค่อม คนสูงอายุทุกคนกลัวแต่ก็ไม่รู้จะหาทางป้องกันอย่างไร ในปัจจุบันเรารู้ว่าแท้จริงแล้วหลังที่ค่อมก็เกิดจากกระดูกสันหลังที่พรุนแล้วยุบตัวลง ทำให้กระดูกสันหลังที่เคยตั้งตรงโค้งงอลงมา หรือเรียกว่า Osteoporosis compression fracture of spine   ยิ่งกว่านั้นเรายังหาวิธีป้องกันได้แล้วอีกด้วย ความกลัวนั้นจึงหายไป

กลับมาครั้งนี้ก็ได้ตกตะกอนความคิดหลายอย่าง ได้รู้ว่าจริงแล้วคนเรามักเริ่มจากความกลัวเป็นที่ตั้ง (ทุกข์) แล้วจึงหาสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้เกิด (สมุทัย) การดับซึ่งความกลัวหรือทุกข์ (นิโรธ) และหาหนทางในการแก้ปัญหา (มรรค) สุดท้ายไม่ว่าอะไรก็ตามก็มาตั้งอยู่กับอริยสัจ 4 ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสรู้มาเป็นเวลากว่า 2000 ปีที่ผ่านมาแล้ว แต่ก็ยังเป็นพื้นฐานในการใช้แก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตได้ทุกครั้งไป

 

Resource: HealthToday Magazine, No.202 February 2018