ในบทความนี้จะเป็นการกล่าวถึงสารอาหารชนิดหนึ่งซึ่งเป็นแร่ธาตุเพียงชนิดเดียวที่ World Cancer Research Fund กล่าวว่า น่าจะมีศักยภาพในการลดความเสี่ยงของมะเร็งได้
อาหารที่มีแคลเซียมสูง (Diets high in calcium) เป็นปัจจัยในการลดความเสี่ยงของมะเร็งทางเดินอาหารส่วนล่าง อย่างไรก็ดียังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนทางวิชาการว่าแคลเซียมระดับใดจึงลดความเสี่ยงได้
โดยทั่วไปแล้วร่างกายมนุษย์ต้องการแคลเซียมประมาณ 2.5 กรัมต่อวัน ซึ่งผู้เขียนเองก็นึกภาพไม่ออกว่าจะต้องกินอะไรให้ได้เท่าที่มีการแนะนำ ดังนั้นจึงพยายามกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ไว้ เพราะแคลเซียมมีในเนื้อสัตว์ นม ถั่ว งา ปลาเล็กปลาน้อย ปลากระป๋อง เป็นต้น
อย่างไรก็ดีมีคำเตือนหนึ่งที่ระบุไว้ในหนังสือบางเล่มคือ การกินแคลเซียมมากกว่า 5 กรัมต่อวันของคนปกติ หรือ 3 กรัมต่อวันของคนที่มีปัญหาไตทำงานบกพร่อง อาจกลายเป็นอันตรายต่อไตได้ ดังนั้น ผู้รู้บางท่านจึงไม่แนะนำให้มีการเสริมแคลเซียมในลักษณะของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (หรือการกินยาลดกรดที่มีแคลเซียมเป็นประจำ) แต่ให้กินจากอาหารเพื่อให้ได้รับแคลเซียมในปริมาณแค่พอเพียงไม่เกินพอ
หลักฐานที่กล่าวว่า แคลเซียมอาจลดความเสี่ยงของมะเร็งทางเดินอาหารส่วนล่างนั้นมีข้อมูลทางระบาดวิทยาบางชิ้นสนับสนุน ตัวอย่างเช่น การศึกษาเกี่ยวกับการป้องกันมะเร็งครั้งหนึ่งภายใต้การสนันสนุนโดย American Cancer Society ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Cancer Causes Control เมื่อปี 2003 เป็นการศึกษาวิถีของการดำรงชีวิตในพลเมืองมากกว่า 120,000 คน ทั้งหญิงและชาย ซึ่งพบว่าผู้ที่กินอาหารมีแคลเซียมพอและอาจมีการเสริมแคลเซียมบ้างมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งทางเดินอาหารตอนล่างต่ำกว่าคนที่กินไม่พอ
ตัวอย่างการศึกษาที่นักวิชาการทั่วไปนิยมชมชอบคือ The Nurses’ Health Study and the Health Professionals Follow-up Study ของโรงเรียนแพทย์และคณะสาธารณสุขของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งมีพยาบาลเข้าร่วมการศึกษามากกว่า 135,000 คน มีผลการศึกษาระบุว่า ผู้ที่ได้รับแคลเซียมมากกว่า 700 มิลลิกรัมต่อวันมีความเสี่ยงต่อมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ส่วนล่างเพียงร้อยละ 35-45 ของผู้ที่ได้รับแคลเซียม 500 มิลลิกรัมหรือต่ำกว่าต่อวัน
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาในสตรีที่หมดประจำเดือนแล้ว 34,000 คน ในรัฐไอโอวา พบว่าสตรีที่ได้รับแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายประมาณ 1,280 มิลลิกรัมต่อวัน มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งทางเดินอาหารส่วนไส้ตรง (rectum) ต่ำกว่าผู้ที่ได้รับแคลเซียมเพียง 800 มิลลิกรัมหรือต่ำกว่าต่อวัน ถึงร้อยละ 41
มีหลายประเทศในยุโรปที่พอมีเงินหน่อยได้ทำการสำรวจทางระบาดวิทยา ในประเด็นของแคลเซียมและมะเร็ง เช่น การศึกษาในสตรีสวีเดน 61,000 คน พบว่าผู้ที่ได้รับแคลเซียมประมาณ 800–1000 มิลลิกรัมต่อวัน มีความเสี่ยงต่อมะเร็งทางเดินอาหารตอนล่างน้อยกว่าผู้ที่ได้รับเพียง 400-500 มิลลิกรัมต่อวัน ราวร้อยละ 28
คำถามหนึ่งซึ่งมักเกิดขึ้นคือ กระบวนการที่แคลเซียมช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งของทางเดินอาหารตอนล่างนั้นเป็นอย่างไร
สมมติฐานหนึ่งกล่าวว่า แคลเซียมช่วยจับกรดน้ำดี (bile acid) ให้กลายเป็นเกลือน้ำดี ปฏิกิริยาเคมีนี้ช่วยลดการเปลี่ยนกรดน้ำดีไปเป็นสารก่อมะเร็งด้วยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ สมมติฐานนี้คงต้องรอการศึกษาเพิ่มเติม
นอกจากนี้ยังมีสมมติฐานที่ว่า แคลเซียมไปลดการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งพร้อมทั้งกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งนั้นพัฒนาตัวเซลล์ (differentiation) ให้เป็นเซลล์ที่มีบทบาทในการทำงานของอวัยวะในร่างกายได้ หรือช่วยให้เซลล์มะเร็งฆ่าตัวตายเองด้วยกระบวนการที่เรียกว่า อะพ็อพโตซิส (apoptosis)
มีประเด็นหนึ่งซึ่งมักพบเมื่ออ่านรายงานการศึกษาเกี่ยวกับการได้รับแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายว่า ถ้าเป็นการศึกษาในคนที่อยู่แถบห่างไกลจากเส้นศูนย์สูตร เช่น ตอนเหนือของสหรัฐอเมริกา ยุโรปตอนเหนือ อเมริกาตอนใต้ หรือแม้แต่แอฟริกาใต้ ในการศึกษานั้น ๆ จำต้องมีการเสริมวิตามินดีพร้อมกันไปด้วย เพราะแสงแดดในบริเวณดังกล่าวของโลกมีความเข้มน้อย จึงทำให้ประชากรในบริเวณดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการมีวิตามินดีในร่างกายต่ำจนไม่พอใช้ในการนำแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย
ในประเด็นของวิตามินดีสำหรับคนไทยนั้นอาจไม่จำเป็นนัก ถ้าเป็นคนไทยที่ได้รับแสงแดดในตอนเช้าตรู่และบ่ายแก่ ๆ มากพอ ดังที่เราถูกสอนมาตลอดว่า ให้ออกกำลังกายแบบที่ถูกแดดบ้างเพื่อให้กระดูกแข็งแรงนั่นเอง อย่างไรก็ดีปัจจุบันมีรายงานจากแพทย์ไทยแล้วว่า คนไทยบางสายพันธุ์ที่ต้องออกจากบ้านก่อนไก่โห่ แล้วเข้าทำงานในตึกกระจกสีเข้มกันแดดเพราะเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดวัน คนไทยสายพันธุ์นี้ต้องทำงานจนไก่ขึ้นคอนนอนแล้วจึงกลับบ้าน ดังนั้นโอกาสขาดวิตามินดีจนมีปัญหากระดูกไม่แข็งแรงนั้นจึงเป็นเรื่องไม่น่าประหลาดใจเพราะไม่ค่อยโดนแดด
Resource: HealthToday Magazine, No.198 October 2017