ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ – เพียร…พร้อมสำเร็จ

0
11553
ศ.นพ.นิธิ มหานนท์

เราทุกคนต่างมีความฝัน แต่ความฝันจะกลายเป็นความจริงได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ที่สำคัญคือต้องมี
‘ความเพียร’ ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่มีความใฝ่ฝัน หมายมั่นที่จะเป็นคุณหมอมาตั้งแต่เด็ก ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ นำพาให้ ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ ในวันนั้น เติบโตมาในเส้นทางที่มุ่งหวัง ประสบความสำเร็จ เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ ได้ทำตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ การดูแลรักษาคนไข้ให้ดีที่สุด

ปัจจุบัน ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ รับผิดชอบสานต่อการดำเนินงานให้เป็นไปตามพระปณิธานของ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่มุ่งมั่นให้ประชาชนชาวไทยมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ภารกิจและเป้าหมาย

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2559 เป็นโครงการที่ตั้งต้นมาจาก
พระปณิธานของ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์
อัครราชกุมารี โดยมีภารกิจหลักคือ ผลิตบัณฑิตและบุคลากรทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และการสาธารณสุขในสาขาที่ขาดแคลนและจำเป็นต่อประเทศในอนาคต และให้บริการด้านการรักษาพยาบาลแก่ประชาชน
ทุกระดับ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้และผู้ด้อยโอกาสให้ได้รับการรักษาอย่างดีเยี่ยม

“ผมเริ่มมาทำงานที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์เมื่อประมาณ 3 ปีก่อน ตอนนั้นทูลกระหม่อมทรงมีพระประสงค์ให้ขยายโรงพยาบาลฯ ซึ่งในขณะนั้นเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง ให้เป็นโรงพยาบาลรักษาโรคทั่วไปด้วย เพื่อจะได้ดูแล
ผู้ป่วยได้อย่างเบ็ดเสร็จ ไม่ต้องส่งต่อไปยังที่อื่น จึงทรงมีรับสั่งให้มาช่วยดูแลในส่วนนี้ จากนั้นทรงมีพระประสงค์ให้ก่อตั้งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นการรวมหน่วยงานคือวิทยาลัยวิทยาศาตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์และสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์เข้าด้วยกันให้เป็นสถาบันอุดมศึกษา เน้นผลิตบุคลากรทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ในสาขาที่ขาดแคลนในประเทศและจำเป็นในอนาคต สนับสนุนการทำงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ และนำผลวิจัยไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยในทุก ๆ ท้องถิ่นทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีภารกิจด้านการรักษาพยาบาลโดยมี
โรงพยาบาลจุฬาภรณ์เป็นหลัก ซึ่งโครงการสำคัญของราชวิทยาลัยฯ ในตอนนี้คือการขยายงานในส่วนของ
โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ดำเนินการจัดสร้างอาคาร ‘ศูนย์การแพทย์จุฬาภรณ์เฉลิมพระเกียรติ’ เป็นสถานพยาบาลขนาด 50 เตียง ให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยโรคทั่วไปและโรคเฉพาะทาง เช่น ศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือด ศูนย์โรคกระดูกและข้อ และศูนย์จักษุ ซึ่งเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา

อีกหนึ่งศูนย์การแพทย์ที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างเป็นศูนย์การแพทย์ระดับตติยภูมิ ขนาด 400 เตียง ซึ่ง
ทูลกระหม่อมทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม ‘ศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์’ เพื่อถวายราชสดุดี และรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ศูนย์การแพทย์แห่งนี้จะแบ่งเป็น
2 ส่วนหลัก คือส่วนที่ให้บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป และใช้เป็นสถานที่ฝึกงาน ดำเนินการเรียนการสอน และการวิจัยของนักศึกษาจากราชวิทยาลัยฯ”

เรียนรู้แบบองค์รวม เชื่อมโยง ต่อยอด พัฒนา

อีกหนึ่งความแตกต่างของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์กับสถาบันอุดมศึกษาอื่นคือ การมีรูปแบบการเรียนการสอนในลักษณะองค์รวม ไม่แบ่งแยกภาควิชา ไม่แยกย่อยเป็นหลายคณะ หากแต่ผสมผสานหลักสูตรต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ลักษณะเหมือนในต่างประเทศในยุคปัจจุบัน

“สิ่งที่ผมเห็นในขณะที่ตามเสด็จไปต่างประเทศคือ ปัจจุบันสาขาวิชาต่าง ๆ นั้นผสมผสานกลมกลืนกันหมดแล้ว อย่างวิทยาศาสตร์ก็ไม่มีแยกแล้วว่าต้องเป็นชีวะ เคมี ฟิสิกส์ ทุกอย่างถูกรวมเข้าด้วยกัน ต้องรู้ไปด้วยกันทั้งหมด ซึ่งจะช่วยให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการมากขึ้น เราจึงนำหลักการนี้มาใช้ ปัจจุบันเรามีคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข เปิดสอนหลักสูตรแพทย์ รังสีเทคนิค และวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ รวมอยู่ในนี้ทั้งหมด ที่กำลังจะเปิดเพิ่มคือ หลักสูตรวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวซึ่งก็คือวิทยาศาสตร์การกีฬา แต่เราจะเน้นที่ผู้สูงอายุเป็นหลัก นอกจากนี้ก็มี
คณะพยาบาลศาสตร์และโรงเรียนนักอัลตราซาวน์ทางการแพทย์”

นอกจากการเรียนรู้แบบองค์รวมแล้ว อีกหนึ่งเป้าหมายของราชวิทยาลัยฯ คือ การสร้างบัณฑิตที่สามารถบูรณาการข้อมูลต่าง ๆ ที่มีอยู่อย่างมากมายมหาศาลในยุคสมัยนี้ นำไปคิด วิเคราะห์ และต่อยอดได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

“ผมมองว่าปัจจุบันการหาองค์ความรู้แต่ละเรื่องนั้นทำได้ไม่ยาก คีย์เข้าไปในอินเตอร์เน็ตก็เจอ จะหาอะไรมีทุกอย่าง แต่สิ่งที่เราต้องสอนนักศึกษาคือ ทำอย่างไรให้เขาสามารถเลือกและรู้ได้ว่าองค์ความรู้ที่หามานั้นเป็นองค์ความรู้ที่
ถูกต้อง เพราะสื่อที่ไม่น่าเชื่อถือมีอยู่เยอะ เมื่อสามารถเลือกองค์ความรู้ที่ถูกต้องได้แล้ว ขั้นต่อไปคือ ทำอย่างไรให้เขาสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้เหล่านั้นเข้าด้วยกัน เป็นเรื่องเดียวกัน แล้วพัฒนาต่อยอดต่อไป แต่การศึกษาบ้านเรายังไม่ได้เน้นให้เด็กเรียนรู้วิธีการแบบนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สอนได้ พัฒนาได้ นี่จึงเป็นเป้าหมายอีกอันหนึ่งของราชวิทยาลัยฯ ในอนาคตไม่ว่าจะเป็นวิชาชีพใดก็ตาม สิ่งสำคัญที่จะช่วยประเทศชาติต่อไปได้คือ ต้องมีคนที่มีความรู้ความเข้าใจ
แบบนี้ เด็กจบออกไปจากราชวิทยาลัยฯ สามารถประกอบวิชาชีพเองได้ทันที ไม่ต้องรอให้ใครมาจ้างทำงาน”

คิด วิเคราะห์ แก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ

เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพของบุคลากร ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยยูซีแอล ประเทศอังกฤษ ในการพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตและหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตนานาชาติ โดยจะเริ่มดำเนินการเรียนการสอน
ในอีกประมาณ 2 ปีข้างหน้า

“แพทย์หลักสูตรนี้จะใช้เวลาเรียนทั้งหมด 7 ปี โดยเรียนที่นี่ 3 ปี ไปอยู่ที่ยูซีแอล 1 ปี จากนั้นจึงกลับมาเรียนด้านคลินิกที่นี่อีก 3 ปี เป็นหลักสูตร 3-1-3 ช่วงที่ไปอยู่ยูซีแอล 1 ปี จะเน้นเฉพาะการทำวิจัยเท่านั้น ถามว่าทำไมต้องไปทำวิจัย ก็เพื่อให้เขามีวิธีการคิดที่เป็นระบบ เราไม่ได้ตั้งเป้าให้เขาเป็นนักวิจัยที่เลอเลิศทำงานแต่ในห้องแลป แต่อยากให้เขาได้เรียนรู้การคิดและแก้ไขปัญหาอย่างมีระบบ เพื่อนำมาปรับใช้ในการทำงาน เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่แต่ละท้องถิ่น แม้จะเป็นปัญหาเดียวกัน แต่ถ้ามาจากสาเหตุและขบวนการที่ต่างกัน แนวทางการแก้ไขปัญหาย่อมไม่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วทุกวันนี้เรามักจะแก้ไขปัญหาแบบเหมารวม คิดเอาเองว่าโรคเดียวกันปัญหาเดียวกันแม้จะเกิดต่างที่กันก็น่าจะมีสาเหตุหรือขบวนการเกิดที่เหมือนกัน ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป ในบางกรณีต้องอาศัยการศึกษา เก็บข้อมูล นำกลับมาคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ซึ่งเรายังขาดแคลนแพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุขที่จะมาทำตรงส่วนนี้”

แบ่งปันประสบการณ์

หลังจากพูดคุยถึงวัตถุประสงค์และแนวทางการดำเนินงานต่าง ๆ ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์กันมาพอสมควรแล้ว ก็มาถึงเรื่องราวในอีกแง่มุมหนึ่งของ ศ.นพ.นิธิ คือ การดูแลรักษาคนไข้ ซึ่ง ศ.นพ.นิธิ ได้กรุณาบอกเล่าถึงประสบการณ์บางช่วงบางตอน รวมทั้งฝากข้อคิดและแนวทางการดูแลสุขภาพที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับใครหลายคน

“อันนี้เป็นสิ่งที่ผมอยากสื่อไปถึงคุณหมอรุ่นหลัง ๆ คือตอนเรียนจบใหม่ ๆ เรามีความรู้ พยายามสอนและอธิบายคนไข้ตามที่ได้เรียนมา แต่ไม่ค่อยได้ผล เพราะอะไร เพราะเรายังขาดประสบการณ์ ไม่เข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของคนไข้ แต่เมื่อรู้แล้วก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสื่อกับคนไข้ให้เขาได้รับประโยชน์มากที่สุด เรามักจะแนะนำคนไข้ว่าอย่ากินหวาน มัน เค็ม แต่คนไข้ก็ทำไม่ได้ ดูจากผลเลือดก็รู้ เราดุเขา หงุดหงิดใส่เขา แต่เคยรู้ไหมว่าทำไมเขาทำไม่ได้ เพราะคนสมัยนี้ 70-80% กินอาหารนอกบ้าน แล้วจะไปคุมปริมาณหวาน มัน เค็มได้อย่างไร พอเราเข้าใจถึงปัญหา รู้ถึงสภาพความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว เราก็ต้องเปลี่ยนวิธีการ

ยกตัวอย่างเรื่องที่คนชอบถามกันว่า ‘อาหารอะไรกินแล้วดี’ คำตอบสำหรับผมคือ ไม่มีอะไรกินแล้วดีหรอก เพราะถ้าพบว่าอะไรกินแล้วดีต่อสุขภาพ อายุยืน ไม่เจ็บไม่ป่วย ฮ่องเต้จีนคงค้นพบยาอายุวัฒนะไปนานเมื่อหลายพันปีที่แล้ว เพราะพยายามส่งคนออกไปค้นหายาอายุวัฒนะมาหลายยุคหลายสมัยแต่ก็ไม่พบ ดังนั้นถ้าถามผมว่ากินอะไรแล้วดี ตอนนี้ผมตอบได้แค่ว่า ‘กินน้อยดี’ ซึ่งตรงนี้ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าเป็นความจริง

มีคนถามผมเหมือนกันว่า ‘กินน้อยกินอย่างไร’ ตรงนี้ผมได้เรียนรู้จากคนไข้ เมื่อก่อนผมเคยแนะนำคนไข้ซึ่งเขาเป็นผู้ใหญ่กว่าผมว่าให้กินพอดี ๆ เขาไม่รู้ว่าต้องกินแค่ไหน กลับไปบ้านเขาก็นั่งนับคำตั้งแต่เริ่มกิน จับความรู้สึกทีละคำว่าเมื่อไรจะพอดี ปรากฏว่านับได้ประมาณ 13-15 คำจะอิ่มพอดี ตรงนี้ทำให้ผมนึกย้อนไปถึงเรื่องของธรรมะ คือการมีสติ รู้ตัวตลอดเวลา

ผมเคยเล่าให้คนไข้ฟังสนุก ๆ ว่า ความรู้สึกในกระเพาะอาหารมีด้วยกัน 4 ระดับ คือ หิว กินเข้าไปก็หายหิว อิ่ม และอันที่ 4 คือจุก เราลองถามตัวเองกันสิว่า กินอาหารหมดแล้วรู้สึกอย่างไร ส่วนใหญ่จะอิ่มกับจุก ไม่มีใครกินพอหายหิวเลย ทั้งที่จริง ๆ แล้วควรกินแค่ให้พอหายหิว อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ความหิวเป็นทุกข์ เราก็กินแค่ให้พอหายทุกข์ แต่คนส่วนใหญ่มักกินเกิน ทำให้ร่างกายเสียสมดุล เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา ดังนั้นจึงต้องมีกลยุทธ์ ซึ่งแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ที่ผมแนะนำคือ พยายามอยู่ให้ห่างอาหารที่ชอบ จะได้ไม่ต้องเห็นมัน แต่ถ้าบังเอิญเห็นแล้วอยากกิน ก็ให้รู้ตัวว่าอยาก แล้วกินแค่ครึ่งเดียว ที่สำคัญคือพยายามอยู่ให้ห่างเข้าไว้”

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์

จัดสรรลงตัว เวลางาน – เวลาพัก

แม้จะทำงานสัปดาห์ละ 7 วัน แต่ ศ.นพ.นิธิ กลับไม่เคยรู้สึกเหนื่อยหรือท้อ ส่วนหนึ่งมาจากการจัดสรรเวลาได้อย่างลงตัว ประกอบกับ ‘การเป็นหมอ’ คือสิ่งที่ ศ.นพ.นิธิ ภาคภูมิใจ และตั้งเป้าหมายไว้ตั้งแต่เด็ก จึงรู้สึกสนุกกับงานที่ทำ

“ภูมิใจที่เลือกอาชีพถูก เพราะสนุกกับการทำงาน การดูแลรักษาคนไข้ เห็นเขาดีขึ้น ได้ทำเพื่อคนอื่นก็มีความสุข ไม่เหนื่อย ไม่เครียด ไม่เบื่อ เป็นสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข มักจะมีคนถามผมว่าบริหารจัดการเวลาอย่างไร อันที่จริงไม่ต้องบริหาร เพราะ 1 วัน มี 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว ก็ทำเท่าที่ทำได้ เรียงลำดับความสำคัญ อะไรสำคัญก็ทำก่อน มีเป้าหมายชัดเจน ระหว่างที่ทำต้องมีความเพียร ทำไปเรื่อย ๆ จนบรรลุวัตถุประสงค์ เมื่อถึงเวลาพักก็พักจริง ๆ เมื่อก่อนผมพัก
ปีละ 2 ครั้ง แต่ตอนนี้อยู่ในช่วงก่อสร้างองค์กรใหม่ก็ลดเหลือปีละครั้ง ส่วนใหญ่จะไปเที่ยวต่างประเทศกับครอบครัวประมาณ 7-10 วัน คือจะหายไปเลย ไปในที่แปลก ๆ ที่คนไม่ค่อยไปเที่ยวกัน แล้วก็กลับมาทำงานต่อ”

นอกจากการท่องเที่ยวพักผ่อนปีละครั้งแล้ว ศ.นพ.นิธิ ยังมีงานอดิเรกและกิจกรรมที่ชื่นชอบอย่างอื่นอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพ อ่านหนังสือ และการเป็นนักเขียน

“ผมชอบอ่านหนังสือมานานแล้ว อ่านมาตั้งแต่เด็ก ตอนนี้ก็ยังอ่านก่อนนอนทุกวัน วันไหนง่วงหน่อยก็ครึ่งหน้า วันไหนไม่ง่วงก็ 3-4 หน้า อย่างหนังสือธรรมะก็อ่านสนุก เพราะอ่านแล้วโยงเข้ากับเรื่องทางวิทยาศาสตร์ได้เลยยิ่งสนุก ตัวอย่างเช่น เรื่อง ‘กินน้อยแล้วดี’ ซึ่งเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้นานแล้วตั้งแต่ 2600 ปีก่อนว่า ให้กินแต่น้อยจะเป็นคนมีโรคน้อย ซึ่งปัจจุบันเรื่องนี้ก็ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าเป็นความจริง มีการทดลองแล้วว่า ระหว่างเซลล์ที่ได้รับอาหารแบบอด ๆ อยาก ๆ กับเซลล์ที่ได้รับอาหารเต็มที่ ผลปรากฏว่าเซลล์กลุ่มแรกมีอายุยืนยาวกว่า หรืออย่างชาวโอกินาวาที่กินแบบพอดี ๆ ก็มีอายุยืนที่สุดในโลก

ส่วนงานเขียนเริ่มต้นหลังจากที่ออกจากศิริราชมาอยู่โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งช่วงที่ทำงานอยู่ศิริราชผมมีโอกาสได้ช่วยเหลือคนไข้ทุกระดับ ได้สอนนักศึกษาแพทย์ พอย้ายมาอยู่เอกชนก็ยังคิดอยู่ว่าทำยังไงจะช่วยคนได้เพิ่มขึ้น เพราะเวลาอธิบายให้คนไข้ฟังก็ได้ประโยชน์แค่หนึ่งต่อหนึ่ง ตอนอยู่ศิริราชได้สอนนักศึกษาแพทย์ก็ได้ประโยชน์กว้างขึ้น แต่พอไม่ได้อยู่ตรงนั้นแล้วจะทำอย่างไร จึงคิดได้ว่าการเขียนหนังสือก็สามารถช่วยคนได้ในวงกว้าง ได้ใช้เวลาที่เท่า ๆ กันให้เป็นประโยชน์ เลยเริ่มงานเขียน โชคดีที่สมัยเด็ก ๆ ตั้งใจเรียนวิชาภาษาไทย ภาษาที่เขียนเลยออกมาดี อ่านง่าย ตอนเจออาจารย์สอนภาษาไทยยังกราบขอบคุณอาจารย์อยู่เลย ส่วนงานถ่ายภาพนี่ชอบมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีกล้องดิจิทัล ชอบถ่ายทุกแนว เวลาไปเที่ยวก็ถ่ายวิว ถ่ายแนวสตรีท แต่ก็ต้องดูสถานที่ด้วย เวลาไปถ่ายคนมาก ๆ เดี๋ยววิ่งหนีไม่ทัน” (หัวเราะ)

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์

ดูแลใจให้แข็งแรง

ศ.นพ.นิธิ เล่าว่า ในทางธรรมะ ‘โรค’ เกิดจากความไม่สมดุลของธาตุทั้ง 4 ในร่างกาย คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ตามธรรมดาแล้วมักมีสิ่งต่าง ๆ มากระทบให้ร่างกายเสียสมดุลอยู่เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร อากาศ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ เมื่อธาตุในร่างกายเสียสมดุลจึงทำให้เกิดโรค อย่างไรก็ตามเราสามารถรักษาสมดุลทางกายได้ด้วยการออกกำลังกายให้กายแข็งแรง เป็นเคล็ด (ไม่) ลับที่ ศ.นพ.นิธิ ปฏิบัติเป็นกิจวัตร

“ผมออกกำลังกายวันเว้นวัน สัปดาห์ละ 4 วัน ประมาณนั้น ช่วงหลัง ๆ จะเข้ายิมสลับกับคาร์ดิโอ อันนี้เป็นวิธีรักษาสมดุลทางกาย ทางใจก็เช่นเดียวกัน ต้องรักษาสมดุล เพราะถ้าใจไม่สมดุลก็จะเป็นโรคทางใจ และสะท้อนออกมาเป็นโรคทางกายในที่สุด โรคทางใจเกิดจากการที่ใจถูกกระทบจากสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจคือความคิด  การจะทำให้ใจเข้มแข็งได้ เราต้องฝึกสมาธิ การฝึกสมาธิจะช่วยให้เรารู้ตัวได้เร็ว เช่น เราโกรธหรือหงุดหงิดใครขึ้นมาก็ให้รู้ไว เราอยากอะไรที่ไม่ควรอยากก็ให้รู้ไว อารมณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ถ้าเรามีสติ รู้ตัวได้เร็ว กราฟของเราก็จะค่อนข้างราบเรียบเป็นปกติ แต่ถ้าเราไม่รู้ตัว กราฟก็จะขึ้น ๆ ลง ๆ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ ใจเราก็อ่อนแอ

การฝึกสมาธิจะทำให้จิตใจเราเข้มแข็ง เมื่อมีอะไรมากระทบทำให้ใจเสียสมดุลก็เสียไม่นาน เพราะรู้ตัวเร็ว หรือไม่ก็ไม่เสียสมดุลเลย ที่สำคัญคือ ควรทำเป็นประจำสม่ำเสมอ เช่นเดียวกับการออกกำลังกาย เพราะหากขาดตอน ความแข็งแรงไม่ว่าจะทางกายหรือทางใจที่เราฝึกปฏิบัติมาก็จะค่อย ๆ ลดน้อยลง เพราะฉะนั้นค่อย ๆ เริ่มดีกว่าไม่เริ่มเลย แต่ขอให้ทำอย่างต่อเนื่อง

ตอนแรกที่ผมเริ่มฝึกสมาธิใหม่ ๆ แค่ 5 นาทีก็ทนไม่ไหวแล้ว ขาชาไปหมด แต่พระอาจารย์ที่สอนสมาธิท่านบอกให้ทน ฝึกบ่อย ๆ จะค่อย ๆ ดีขึ้น สุดท้ายก็นั่งได้ ทุกวันนี้ผมจะนั่งสมาธิทุกเช้า ก่อนหน้านี้นั่งประมาณครึ่งชั่วโมง พองานเยอะขึ้นก็ปรับลดเหลือ 15 นาที ก็ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น ยิ้มรับกับปัญหาได้ง่ายขึ้น”  

รู้อย่างนี้แล้ว ช่วงเดือนเมษาฯ อากาศร้อนจัด ชวนให้หงุดหงิดได้ง่าย อย่าลืมนำวิธีรักษาสมดุลทางใจของ ศ.นพ.นิธิ ไปปฏิบัติกันนะคะ จะได้ร้อนแค่กาย แต่ใจเย็นสบายกันถ้วนหน้า

 

Resource: HealthToday Magazine, No.204 April 2018