อาหารบำบัดไทรอยด์เป็นพิษ

อ.เอกหทัย แซ่เตีย นักกำหนดอาหาร

0
39408
อาหารบำบัด

ไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย ลักษณะคล้ายผีเสื้ออยู่ด้านหน้าของหลอดลมบริเวณช่วงลำคอ ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญพลังงาน ระบบย่อยอาหาร ควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย กล้ามเนื้อ รวมถึงอารมณ์ ความรู้สึก ดังนั้นหากต่อมไทรอยด์ถูกกระตุ้นให้ทำงานหนักมากเกินไปก็จะส่งผลให้มีการหลั่งฮอร์โมนมากเกินความต้องการของร่างกายจนเกิดเป็นความผิดปกติได้ เช่น เมื่อการเผาผลาญพลังงานสูงขึ้นกว่าปกติก็เหมือนคนที่อยู่ ๆ ไปออกกำลังกายแบบหักโหมเพิ่มขึ้น น้ำหนักตัวจึงลดลงเร็วผิดปกติทั้งที่กินจุขึ้น การเผาผลาญพลังงานที่เพิ่มขึ้นนี้ยังทำให้เรากลายเป็นคนขี้ร้อน เหงื่อออกมาก เหนื่อยง่าย มือสั่น  ใจสั่น นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน และหงุดหงิดตามมา นอกจากนี้มักมีลักษณะอยู่ไม่สุข ชอบทำโน่นทำนี่ ขยันมากกว่านิสัยปกติ เรียกภาวะเช่นนี้ว่า “ไทรอยด์เป็นพิษ” หรือที่บางคนรู้จักในชื่อไฮเปอร์ไทรอยด์ (Hyperthyroidism)

ภาวะไทรอยด์เป็นพิษนี้ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากโรคเกรฟส์ (Graves’ disease) หรือโรคคอพอกตาโปน ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด โดยจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 5 – 10 เท่า โดยเฉพาะสาว ๆ ที่มีอายุระหว่าง 20 – 40 ปี ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้ด้วย บางครั้งการติดเชื้อ ความเครียด การได้รับไอโอดีน สารสเตียรอยด์ หรือสารพิษมากเกินไปก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคคอพอกตาโปนได้

ปกติแล้วไทรอยด์เป็นพิษสามารถรักษาให้หายได้ โดยแพทย์มักเริ่มการรักษาด้วยการให้ยา หากไม่ได้ผลก็จะใช้การรักษาด้วยรังสีไอโอดีน หรือผ่าตัด ในระหว่างที่ทำการรักษา ผู้ป่วยควรดื่มน้ำ พักผ่อนให้เพียงพอ และปรับพฤติกรรมอาหารเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ด้วย แต่หากผู้ป่วยละเลยการรักษาก็อาจจะสร้างปัญหาร้ายแรงต่อหัวใจ กระดูก กล้ามเนื้อ รวมถึงการเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหญิงตั้งครรภ์อาจนำไปสู่ความผิดปกติของมารดาและทารกได้

แนวทางการรับประทานอาหารขณะเกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษ

อาหารบางชนิดสามารถช่วยลดอาการจากไทรอยด์เป็นพิษได้ ในทางตรงข้ามบางชนิดก็ทำให้อาการแย่ลงได้เช่นกัน ดังนั้นเป้าหมายของการรับประทานอาหารช่วงนี้จะมุ่งเน้น

  1. ป้องกันภาวะซูบผอมจากการขาดพลังงานและโปรตีน

เนื่องจากช่วงที่เกิดไทรอยด์เป็นพิษ ระดับไทรอยด์ฮอร์โมนจะเพิ่มสูงขึ้นทำให้ผู้ป่วยน้ำหนักลดจากอัตราการเผาผลาญพลังงานที่เพิ่มขึ้นนี้ แต่ก็มีผู้ป่วยบางรายที่น้ำหนักไม่ลดลงเพราะเจริญอาหารกินได้ดีพอ ๆ กับอัตราการเผาผลาญที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นช่วงที่เกิดไทรอยด์เป็นพิษผู้ป่วยควรหมั่นติดตามน้ำหนักตนเอง หากพบว่าน้ำหนักลดก็ควรเพิ่มการ
รับประทานอาหารให้มากขึ้น โดยอาจเพิ่มของว่างที่ให้โปรตีน เช่น เกี๊ยวน้ำ ขนมจีบ เกาเหลา แซนวิชอกไก่ 1 – 2 มื้อต่อวัน หากน้ำหนักยังคงลดต่อเนื่องควรปรึกษาแพทย์และนักกำหนดอาหารเพื่อร่วมกันวางแผนการรักษาต่อไป

  1. ป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน

ผู้ที่มีต่อมไทรอยด์ผิดปกติส่วนใหญ่มักมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น อีกทั้งในช่วงที่ไทรอยด์เป็นพิษ ร่างกายจะมีการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตและการควบคุมน้ำตาลผิดปกติ ในขณะเดียวกันร่างกายก็มีความต้องการพลังงานสูงขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยยังคงจำเป็นต้องรับประทานแป้ง แต่ควรเลือกคาร์โบไฮเดรตที่มีคุณภาพอย่างคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวแป้งไม่ขัดสี ถั่ว ธัญพืช ฟักทอง แครอท เผือก มัน  ข้าวโพด ผักต่าง ๆ ผลไม้ที่รสไม่หวานจัด เพราะอาหารเหล่านี้ไม่เพียงให้คาร์โบไฮเดรต แต่ยังอุดมไปด้วยเส้นใยอาหาร จึงช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น ที่สำคัญผู้ป่วยต้องไม่ลืมหลีกเลี่ยงคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว เช่น น้ำตาล น้ำผึ้ง ข้าวแป้งขัดขาว ขนมกรุบกรอบ น้ำผักผลไม้ รวมถึงผลไม้ที่มีรสหวานจัดด้วย

  1. ป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคกระดูกพรุน

ผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษมีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนสูง เพราะต่อมไทรอยด์ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการดูดซึมแคลเซียมของกระดูก ภาวะไทรอยด์เป็นพิษนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการสลายของมวลกระดูก เราสามารถ
ฟื้นคืนมวลกระดูกได้ด้วยการรักษาภาวะไทรอยด์เป็นพิษให้ดี และรับประทานอาหารที่มีสารอาหารเกี่ยวข้องกับการสร้างกระดูกอย่างเพียงพอทั้งในระหว่างและหลังการรักษา โดยรับประทานแคลเซียม 800 – 1000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่ากับการดื่มนม 1 – 2 กล่องต่อวัน งาดำ 1 ช้อนชา และปลาเล็กปลาน้อยหรือเต้าหู้ 2 – 4 ช้อนโต๊ะ
ต่อวัน ร่วมกับการรับประทานปลาที่มีไขมันสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาดีน ปลาทูน่า ไข่ เห็ด และอาหารที่มีการเสริมวิตามินดีอย่างนม ซีเรียล หรืออาจตากแดดช่วงแดดจัด ประมาณ 10 – 20 นาที 3 ครั้งต่อสัปดาห์ก็จะช่วยให้
ผู้ป่วยได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอ ส่วนในผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุนแล้ว แพทย์มักให้วิตามินดีและแคลเซียมเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ผู้ป่วยเพียงรับประทานยาให้ครบ ปรับอาหารตามคำแนะนำ ร่วมกับการออกกำลังกายเสริมสร้างความหนาแน่นของมวลกระดูก ของแถมจากการออกกำลังกายนี้ยังช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวล และทำให้การ
นอนหลับดีขึ้นอีกด้วย

  1. หลีกเลี่ยงสารที่รบกวนการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน

ไทรอยด์ฮอร์โมน (Thyroxine, T4) สร้างโดยอาศัยธาตุอาหารไอโอดีน การได้รับไอโอดีนในระดับที่เหมาะสมจะช่วยให้การผลิตฮอร์โมนอยู่ในระดับที่เหมาะสมเช่นกัน ดังนั้นผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษที่มี T4 สูง ควรระวังการได้รับไอโอดีนเกิน รวมถึงคนทั่วไปที่ได้รับไอโอดีนสูงมาก ๆ ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดไทรอยด์เป็นพิษได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ทำการรักษาด้วยไอโอดีนรังสีควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไอโอดีน มิฉะนั้นประสิทธิภาพในการรักษาด้วยวิธีนี้อาจลดลงได้ อาหารที่มีไอโอดีนสูง เช่น สาหร่ายทะเล อาหารทะเล ชีส ไข่เสริมไอโอดีน เกลือหรือเครื่องปรุงที่มีการเสริมไอโอดีน และวิตามินเกลือแร่รวมที่มีไอโอดีน เป็นต้น

Goitrogens เป็นสารธรรมชาติอีกชนิดหนึ่งที่สามารถรบกวนการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ได้ ในการรักษาผู้ป่วยไฮเปอร์ไทรอยด์บางครั้งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยกลับกลายเป็นไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) หรือภาวะขาดไทรอยด์แทนได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะพร่องไอโอดีน ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มี Goitrogens ได้แก่ ผักตระกูลกะหล่ำและหัวหอม เช่น กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ คะน้า บรอกโคลี หัวหอม หัวผักกาด กระเทียม ถั่วเหลือง ข้าวฟ่าง เป็นต้น

อาหารบำบัด

  1. หลีกเลี่ยงการกินที่กระทบการนอน

อาการนอนไม่หลับเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของผู้ที่มีไทรอยด์เป็นพิษ แม้บางคนจะสามารถดื่มกาแฟโดยไม่รู้สึกว่ากระทบกับการนอน แต่เพื่อให้การนอนมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลมประเภทโคล่า แต่ควรเลือกดื่ม
น้ำเปล่า หรือน้ำสมุนไพร เช่น ใบเตย กระเจี๊ยบ มะตูม เก๊กฮวย ดอกคำฝอย ฯลฯ แทนให้ได้อย่างน้อย 2 ลิตรต่อวันเพื่อช่วยลดภาวะขาดน้ำ และทำให้อาการดีขึ้น หากต้องการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนจริง ๆ  ควรดื่มห่างจากมื้อยา 1 ชั่วโมงเพื่อป้องกันการตีกันกับยารักษาไทรอยด์บางชนิด

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษมีความท้าทายมาก เพราะมีอุปสรรคหลายอย่างทั้งการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนัก ความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ความเมื่อยล้า และอารมณ์ความรู้สึกที่แปรปรวนของผู้ป่วย ผู้ป่วยจึงควรตั้ง
เป้าหมายทีละน้อย เมื่อทำได้จึงขยับเป้าเพิ่มไปเรื่อย ๆ จะช่วยให้การปรับเปลี่ยนได้ผลดีขึ้น ภายหลังที่หายจากไทรอยด์เป็นพิษแล้ว ผู้ป่วยยังคงต้องคงพฤติกรรมดี พบแพทย์เป็นระยะ และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่ทำให้มีความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะกลับมาเกิดไทรอยด์เป็นพิษซ้ำอีกได้

Resource: HealthToday Magazine, No.210 October 2018