เที่ยวได้สบายใจ สไตล์สูงอายุ

พญ.พลอย ลักขณะวิสิฏฐ์ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป

0
2932
ผู้สูงอายุ

เนื่องจากเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ทำให้อัตราการเสียชีวิตลดต่ำลง มนุษย์จึงมีชีวิตยืนยาวมากขึ้นกว่าในอดีต แนวโน้มของการท่องเที่ยวก็เช่นเดียวกัน ในปัจจุบันพบว่ามีนักท่องเที่ยวที่เป็นผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นวัยที่มีความพร้อมทั้งทางด้านการเงินและมีเวลาว่างในการทำกิจกรรมต่าง ๆ แต่เนื่องด้วยสภาพร่างกายที่เริ่มถดถอยลงตามกาลเวลา จึงทำให้การแพทย์เข้ามามีบทบาทในการวางแผนการเดินทางสำหรับนักเดินทางกลุ่มนี้

การท่องเที่ยวในวัยสูงอายุมีหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง ไม่ว่าจะ เป็นปัจจัยส่วนตัว ได้แก่ โรคประจำตัว ยาที่
รับประทานเป็นประจำ ประวัติการเจ็บป่วยหรือประวัติการนอนโรงพยาบาลในอดีต ปัจจัยด้านการเดินทางท่องเที่ยว ได้แก่ แผนการเดินทาง ผู้ที่ร่วมเดินทางไปด้วย รวมไปถึง ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมอื่น ๆ เช่น อาชญากรรม สภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นร้อนจัด เย็นจัด หรือที่สูง ซึ่งทุกปัจจัยควรนำมาใช้ในการพิจารณาเพื่อวางแผนการเดินทางที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล

ปัจจัยส่วนตัว

หมอจะสอบถามถึง ‘โรคประจำตัว’ ว่ามีหรือไม่ หากมีโรคประจำตัวต้องดูถึงความรุนแรงของโรค เนื่องจากโรค
บางอย่าง เช่น โรคมะเร็งหลังจากการรับคีโมหรือฉายแสงจะทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง และไม่สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคบางชนิดได้ แต่ถ้าเป็นกลุ่มโรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง จะต้องดูว่าสามารถควบคุมโรคได้ดีหรือไม่ เช่น โรคเบาหวานที่คุมน้ำตาลได้ไม่ดี มีปัญหาน้ำตาลต่ำหรือสูงบ่อย ๆ โรคความดันโลหิตสูงที่ยังคุมความดันโลหิตได้ไม่ดี ความเสี่ยงในการเดินทางของผู้สูงอายุกลุ่มนี้จะสูงมากขึ้น หมอจะแนะนำให้เลื่อนการเดินทางออกไปก่อน รอจนกว่าจะสามารถควบคุมอาการของโรคได้ดีแล้วค่อยวางแผนท่องเที่ยวอีกครั้ง ซึ่งใน
นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ควรได้รับการประเมินทั้งจากหมอที่รักษาติดตามเป็นประจำ และหมอเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยวควบคู่กันไป

‘ยาที่รับประทานเป็นประจำ’ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ ควรเตรียมยาไปให้พอดีกับระยะเวลาการเดินทาง โดยอาจจะเผื่อเม็ดยาเกินเอาไว้จำนวนหนึ่ง ยาทุกชนิดที่นำติดตัวไปควรมีชื่อยา ขนาดยาที่รับประทาน และสรรพคุณการรักษาของยา เผื่อผู้เดินทางเกิดเหตุฉุกเฉิน ผู้อื่นจะได้ทราบถึงชื่อและขนาดของยาที่รับประทานอยู่ ไม่ควรเก็บยาในกระเป๋าใบใหญ่ที่โหลดใต้เครื่องบิน แต่ควรนำยาใส่ไว้ในกระเป๋าถือที่นำติดตัวขึ้นเครื่อง เนื่องจากกระเป๋าใบใหญ่อาจสูญหายระหว่างการเดินทาง รวมทั้งอุณหภูมิของที่เก็บสัมภาระใต้เครื่องบินค่อนข้างสูง อาจทำให้ยาเสื่อมสภาพได้ นอกจากนี้ยาบางชนิดอาจเป็นข้อห้ามในบางประเทศ โดยเฉพาะยาแก้ไอ (Codeine) ยาลดอาการคัดแน่นจมูก (Pseudoephedrine) รวมไปถึงยานอนหลับและยาคลายกังวล ถ้าจำเป็นต้องใช้ ต้องมีใบรับรองแพทย์ระบุ
ชื่อโรค ชื่อยา และเหตุผลที่ต้องใช้ยา แต่ทางที่ดี ถ้ามีการนำยาติดตัวไปเที่ยวด้วย แนะนำให้ขอใบรับรองแพทย์เป็นภาษาอังกฤษติดตัวไปด้วยเลย อุ่นใจกว่าค่ะ นอกจากนี้ควรเตรียมยาสามัญประจำบ้านไปด้วย เช่น พาราเซตามอล
ยาแก้เมารถเมาเรือ ยาดม น้ำเกลือแร่ และชุดทำแผลเล็ก ๆ พร้อมผ้าพันแผล เผื่อกรณีเกิดอุบัติเหตุขึ้น

‘วัคซีน’ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ แม้จะไม่มีการเดินทางก็แนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุอยู่แล้ว แต่ถ้าท่านใดที่ยังไม่เคยฉีด แนะนำให้ฉีดก่อนการเดินทางอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ ถ้ามาฉีดในช่วงใกล้วันเดินทางอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากวัคซีน เช่น ปวดบวมแดงร้อนบริเวณที่ฉีด หรือมีไข้หลังจากฉีดวัคซีนได้ นอกจากนี้วัคซีนบางชนิดมีข้อห้ามและข้อควรระวัง เช่น ผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศในแถบแอฟริกาหรืออเมริกาใต้ ต้องมีการฉีดวัคซีน
ไข้เหลืองก่อนการเดินทางอย่างน้อย 10 วัน วัคซีนชนิดนี้เป็นวัคซีนเชื้อเป็นที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลง ซึ่งมีข้อควรระวัง
ในผู้ที่อายุมากกว่าหรือเท่ากับ 60 ปีขึ้นไป อาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงจากวัคซีนมากขึ้น และผลข้างเคียงนี้อาจรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้ รวมถึงยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะสำหรับอาการท้องเสีย หรือยาป้องกันโรคมาลาเรีย ยากลุ่มดังกล่าวอาจมีปฏิกิริยากับยาที่ผู้สูงอายุรับประทานอยู่เป็นประจำ ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนการ
เดินทางและการฉีดวัคซีนป้องกันโรค และหากมีอาการเจ็บป่วยควรไปพบแพทย์ทุกครั้ง

ปัจจัยด้านการเดินทางท่องเที่ยว

ก่อนที่เราจะเดินทางก็ต้องมีการวางแผนการเดินทาง จองที่พัก ซึ่งถ้าหากมีลูกหลานไปด้วยก็สบายหน่อย เพราะหน้าที่ตรงนี้จะมีคนอื่นทำแทนให้โดยปริยาย แต่ถ้าหากผู้สูงอายุเดินทางด้วยตนเองแล้วล่ะก็ จุดนี้เป็นอีกจุดหนึ่งที่
ค่อนข้างปวดหัวเลยทีเดียว เพราะแผนการเดินทางนั้นควรต้องเขียนโดยละเอียด รวมทั้งมีพิกัดของสถานที่ท่องเที่ยวและโรงแรมที่แน่ชัด ควรพิมพ์หรือเขียนออกมาให้มีขนาดตัวอักษรค่อนข้างใหญ่ เพื่อที่จะอ่านได้อย่างสะดวก (เนื่องจากผู้สูงอายุมักมีปัญหาด้านสายตาอยู่เดิม) มีแผนที่ที่สามารถบอกพิกัดได้อย่างชัดเจน หรืออาจใช้ตัวช่วยบนโทรศัพท์มือถือ เช่น แอพพลิเคชั่น Google maps ช่วยในการบอกทิศทาง แผนการเดินทางควรยืดหยุ่นได้ และมีการวางแผนสำรองเผื่อเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้น เช่น ผู้สูงอายุเกิดอาการเจ็บป่วยหรือเข้าโรงพยาบาลทำให้ต้องหยุดการ
เดินทางกะทันหัน นอกจากนี้ควรจะมีวันพักระหว่างการเดินทาง เพื่อไม่ให้โปรแกรมการเดินทางอัดแน่นจนเกินไป

ผู้สูงอายุที่มี ‘โรคหัวใจ’ ควรนำผลคลื่นไฟฟ้าหัวใจเดิมติดตัวไปด้วย หรืออาจจะส่งเป็นไฟล์เก็บไว้ในอีเมลของตนเองและญาติที่สามารถเปิดดูได้หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น นอกจากการวางแผนท่องเที่ยวแล้ว ผู้สูงอายุควรมีรายชื่อ
สถานพยาบาลที่เชื่อถือได้พร้อมทั้งเบอร์โทรศัพท์ เผื่อไว้ในกรณีเจ็บป่วยจะได้สามารถเข้ารับการบริการได้ทันที

การเจ็บป่วยระหว่างการเดินทางเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการ ‘ท้องเสีย’ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันไม่ดีเท่าวัยหนุ่มสาว ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นเชื้อไวรัส แต่ก็ยังมีเชื้ออื่น ๆ เช่น แบคทีเรีย  ท็อกซิน (Toxin) จากแบคทีเรีย โปรโตซัว หรือพยาธิต่าง ๆ และมีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย เช่น ความดันโลหิตต่ำ ภาวะไตวายจากการขาดน้ำ ติดเชื้อในกระแสเลือด จนกระทั่งนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ดังนั้นถ้าหากมีอาการท้องเสียแต่ยังมีอาการไม่มาก แนะนำให้จิบน้ำเกลือแร่แทนน้ำเปล่า แล้วสังเกตอาการของตนเอง หากยังไม่ดีขึ้น เช่น มีถ่ายเป็นมูกหรือเลือด มีไข้ ปวดท้องมาก ควรพบแพทย์โดยทันที

หากมีการเดินทางข้ามซีกโลกอาจทำให้เกิดอาการ ‘เมาเวลา (Jet lag)’ ได้ แนะนำให้ผู้สูงอายุพักผ่อนให้เพียงพอ จิบน้ำบ่อย ๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ควรแบ่งการเดินทางที่ค่อนข้างยาว (ข้ามซีกโลก) ออกเป็นช่วง ๆ เพื่อให้ร่างกายได้มีการปรับตัว การออกไปรับแสงแดดอ่อน ๆ จะช่วยให้ร่างกายปรับตัวกับ Jet lag ได้เร็วขึ้น และหากเคยมีอาการจาก Jet lag หรือเป็นผู้ที่นอนหลับยากอยู่แล้ว อาจปรึกษาแพทย์เพื่อใช้ยาช่วยลดอาการ

อีกโรคหนึ่งที่ควรระวังคือ ‘ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Venous Thromboembolism)’ ซึ่ง
ผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงสูงมากขึ้น ควรเลือกที่นั่งริมทางเดิน ลุกเดินบ่อย ๆ รวมถึงทำการบริหารกล้ามเนื้อขาตามที่ได้อธิบายไว้ใน HealthToday ฉบับเดือนกันยายน 2561 กลับไปติดตามอ่านกันได้นะคะ

ถ้าหากผู้สูงอายุเดินทางเพียงลำพัง จะต้องบอกญาติหรือคนใกล้ชิดให้รับทราบถึงแผนการเดินทางทั้งหมดอย่างละเอียด รวมถึงเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ และควรมีบัตรประจำตัวพกติดตัวไว้ตลอด เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ผู้พบเห็นเหตุการณ์จะได้ทราบว่าผู้สูงอายุคือใคร มีโรคประจำตัวอะไร มาจากที่ไหน และจะสามารถติดต่อญาติได้อย่างไร

อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ ‘ประกันการเดินทาง’ ควรเลือกให้ครอบคลุมวันเดินทางทั้งหมด และอาจเผื่อวันก่อน-หลังวันที่เดินทางจริงไว้ 1-2 วัน เนื่องจากถ้ามีการเจ็บป่วยอาจต้องเลื่อนวันเดินทางออกไปอีก นอกจากนี้แนะนำให้เลือกประกันการเดินทางที่มีการอพยพฉุกเฉิน และมีการส่งตัวกลับมารักษายังประเทศไทยได้ เพราะโรคบางโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุต้องการการรักษาอย่างเร่งด่วน เช่น โรคเส้นเลือดในสมองตีบหรือโรคหลอดเลือดหัวใจที่ต้องให้ยาละลายลิ่มเลือดทันที

ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม

ผู้สูงอายุควรเลือกสถานที่ท่องเที่ยวที่การเดินทางเข้าถึงสะดวก เลือกโรงแรมที่อยู่ในตัวเมืองและใกล้กับระบบขนส่งสาธารณะ เลือกเดินทางในช่วงที่อุณหภูมิกำลังพอเหมาะ ไม่หนาวหรือร้อนจนเกินไป ควรเลือกท่องเที่ยวในที่ร่มเป็นหลัก เนื่องจากผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะเป็นลมแดดได้ง่าย แต่ถ้าจำเป็นต้องออกกลางแจ้ง อย่าลืมทาครีมกันแดด
ใส่หมวก และพกร่มไปด้วย ที่สำคัญต้องดื่มน้ำให้เพียงพอ และควรจะมีขวดน้ำพกติดตัวไว้ด้วยเสมอ

ผู้สูงอายุที่ต้องใช้รถเข็น ควรติดต่อสายการบินไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ทางสายการบินจัดเตรียมรถเข็นหรืออำนวยความสะดวกให้ ควรเลือกรถเข็นที่มีความแข็งแรงทนทานและมีน้ำหนักเบา เพื่อที่จะได้คล่องตัวเวลาเข็นพาผู้สูงอายุออกไปเที่ยว

อีกสิ่งหนึ่งที่พึงต้องระวัง คือ อาชญากรรม ต้องระวังไม่ไปในที่เปลี่ยว ไม่พูดคุยกับคนแปลกหน้า เก็บทรัพย์สินมีค่าในที่ปลอดภัย แบ่งเก็บเงินสดเอาไว้หลาย ๆ ที่ และแนะนำให้ใช้บัตรเครดิตมากกว่าการพกเงินสดจำนวนมาก ๆ

โดยส่วนตัวแล้วหมอมักจะแนะนำให้ผู้สูงอายุเลือกเดินทางกับทัวร์ เนื่องจากลักษณะของการท่องเที่ยวแบบดังกล่าวจะมีการจัดเตรียมทุกอย่างไว้ค่อนข้างพร้อม ทั้งโรงแรม อาหาร สถานที่ท่องเที่ยว และรถรับส่ง ซึ่งแตกต่างจากการไปเที่ยวเองที่ต้องจัดการด้วยตนเองในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การจองรถ จองโรงแรม การเดินทางระหว่างวัน อย่างไรก็ตามยังมีผู้สูงอายุบางท่านที่ชื่นชอบการเดินทางด้วยตนเอง ซี่งความเสี่ยงต่าง ๆ อาจจะมากขึ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวแบบใด หมอแนะนำให้ผู้สูงอายุเข้ามารับคำปรึกษาก่อนการเดินทางอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ เนื่องจากหมอจะได้ดู
รายละเอียดของแต่ละบุคคล แผนการเดินทาง ประเมินปัจจัยเสี่ยง พร้อมกับหาทางป้องกันและแก้ไขไว้ล่วงหน้า
ผู้สูงอายุจะได้ท่องเที่ยวอย่างสนุกและปลอดภัย และหากใครไปเที่ยวที่ไหนมา อย่าลืมมาเล่าให้หมอฟังบ้างนะคะ…หมอพลอย

Resource: HealthToday Magazine, No.210 October 2018