เด็กๆ จะหมดความเพียรเมื่อไร

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์

0
1219

ข้อเขียนนี้เก็บความและเขียนเพิ่มเติมจากบทความ The Secret to Raising Smart Kids เขียนโดย Carol S Dweck ตีพิมพ์ในนิตยสาร Scientific American, special edition, summer 2016

ตอนต้นของบทความนี้ได้ยกตัวอย่างโจนาธาน เด็กเรียนเก่งตั้งแต่แรกที่เกรดตกลงเมื่อขึ้นชั้นมัธยม และดูเหมือนจะหมดไฟไม่ทำอะไรอีก พ่อแม่ปลอบและให้กำลังใจว่าเขาเป็นเด็กเก่ง ฉลาด เกรดดีมาตลอดอย่างไร ไม่ต้องห่วง แต่จะทำอย่างไรเกรดก็ไม่กระเตื้องขึ้น ปรากฏการณ์นี้พบในบ้านเราไม่น้อย เด็กเรียนดีที่จู่ๆ ก็ร่วงลงไปเฉยโดยไม่มีสาเหตุ

ข้อเขียนนี้เริ่มต้นด้วยการทบทวนโมเดลที่เรียกว่า learned helplessness ให้ฟัง โมเดลนี้ได้จากการทดลองในหนู เมื่อหนูถูกช็อคไฟฟ้าทุกครั้งที่กดคันโยกให้อาหารตกลงมา เมื่อมันพบว่าไม่มีทางที่จะไม่ถูกช็อคได้อีก มันละเลิกกดคันโยกแล้วนั่งนิ่งๆ ไม่ทำอะไรอีกเลย เป็นโมเดลที่ใช้อธิบายผู้ป่วยโรคซึมเศร้า (Major Depression) ได้ดี ผู้ป่วยที่รู้สึกว่าตนเองอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้อีกเหมือนหนูทดลองนี้ จะถดถอยเข้าสู่สภาวะหยุดนิ่งและป่วยด้วยโรคซึมเศร้าในที่สุด คำถามสำคัญคือ เพราะอะไรคนบางคนไม่เป็นแม้ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน

ผู้เขียนและคณะวิจัยเสนอสมมติฐานว่านักเรียนบางคนฟุบแล้วฟุบเลยเกิดจากแนวความคิดที่เกี่ยวกับเรื่องความฉลาด หรือ intelligence ที่ผิดพลาด กล่าวคือเด็กกลุ่มนี้คิดว่าความฉลาดเป็นอะไรที่นิ่งและคงที่ มีจำกัด หมดแล้วก็หมด สูงสุดได้เท่านี้ ไม่มีประโยชน์ที่จะสู้ต่อไป ขณะที่นักเรียนบางพวก แม้ว่าจะเรียนไม่เก่ง มีแนวคิดเกี่ยวกับความฉลาดว่าเป็นอะไรที่ไม่นิ่ง พัฒนาได้  เปลี่ยนแปลงได้ อันที่จริงนักเรียนกลุ่มนี้ไม่สนใจที่ความฉลาดด้วยซ้ำไป พวกเขาสนใจที่ความสนุกหรือความท้าทายของโจทย์ยากๆ ที่เกิดขึ้น แก้ได้ก็ได้ แก้ไม่ได้ก็จะแก้ มีพลังที่จะแก้ไปเรื่อยๆ มากกว่า

เพื่อยืนยันสมมติฐานนี้  ผู้เขียนและคณะได้ติดตามนักเรียน 373 คนที่เพิ่งจะขึ้นชั้นประถม 6 เป็นเวลา 2 ปี พวกเขาพบว่ากลุ่มที่เชื่อว่าความฉลาดเป็นคุณสมบัติที่คงที่และจำกัด มีค่าเฉลี่ยของเกรดลดลงเรื่อยๆ ทุกภาคการศึกษาที่ผ่านไป ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าโจทย์ของนักเรียนชั้นมัธยมยากกว่าชั้นประถมอย่างก้าวกระโดด ในขณะที่กลุ่มที่สนใจอุปสรรคและความท้าทายตรงหน้ามากกว่า โดยไม่ใส่ใจว่าตนเองฉลาดหรือไม่ฉลาดมีเกรดเฉลี่ยดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกภาคการศึกษาที่ผ่านไป

การค้นพบนี้น่าจะเป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนว่า การศึกษาที่ดีควรใส่ใจในกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ กล่าวคือนักเรียนควรได้รับโอกาสในการแก้โจทย์ปัญหาด้วยวิธีการหลากหลาย ต่างๆ นานา ถูกบ้างผิดบ้าง ไปเรื่อยๆ ตลอดการศึกษาขั้นพื้นฐาน  การศึกษาที่มุ่งเน้นผลลัพธ์คือ เกรด โดยที่กำหนดให้วิธีแก้โจทย์คณิตศาสตร์หรือโจทย์ปัญหาใดๆ มีเพียงวิธีเดียว กลับจะทำให้เด็กๆ สนใจเฉพาะวิธีการที่ตายตัว และผลลัพธ์ที่ทำนายได้ล่วงหน้า

เมื่อถึงช่วงอายุที่เปลี่ยนผ่านจากง่ายไปยากโดยไม่ทันระวัง เช่น จากชั้นประถมสู่มัธยม จากมัธยมสู่อุดมศึกษา หรือหลังรับปริญญา หากเกิดความล้มเหลวในผลลัพธ์แล้ว เด็กกลุ่มนี้แทบจะหมดพลังแก้ไขปัญหาต่อไป เพราะพวกเขาเติบโตมากับกระบวนการที่ถูกต้องเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้อง ครั้นผลลัพธ์ผิดจากที่คาด ก็ไม่รู้จะทำอะไรต่อ อาจจะพยายามทำใหม่แต่ก็ด้วยกระบวนทัศน์(paradigm) เดิมซึ่งผิดอยู่ดี เหมือนหนูที่ต้องถูกช็อคไฟฟ้าทุกครั้งที่แตะคันโยก แม้จะได้อาหารแต่ก็จะหมดความสนใจอาหารนั้นไปได้ในที่สุด ผลลัพธ์ที่ไม่ดีอยู่แล้วถึงกับสูญสลายไปเลย

พ่อแม่ที่ชื่นชมลูกเรียนเก่งเกินจากความเป็นจริงควรระมัดระวังมิให้ลูกติดกับผลลัพธ์มากจนเกินไป หากการศึกษาไม่สามารถให้ความท้าทายใหม่ๆ ก็ควรจะพาลูกออกนอกบ้าน  ออกนอกโรงเรียน ไปหาความท้าทายใหม่ๆ ของชีวิตบ้าง

 

Resource: HealthToday Magazine, No. 184 August 2016