ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าบางคนตอบสนองต่อยาดีถึงดีมาก ได้ยาต้านอารมณ์เศร้าในขนาดที่ถูกต้องแล้วมีอาการดีขึ้นได้ภายในเวลา 1-2 เดือน ทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่สามารถทำงานได้ และฆ่าตัวตายไปแล้ว 1-2 ครั้ง
เวลาถามผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นแล้วว่าก่อนรักษารู้สึกอย่างไร ยังจำได้หรือเปล่า ผู้ป่วยทุกคนจะตอบว่าจำได้ และรู้สึกแปลกใจที่ตนเองเป็นเช่นนั้น ถึงวันนี้ทำงานได้ และไม่คิดฆ่าตัวตายอีกแล้ว
ผู้เขียนทำงานมานาน ทุกครั้งที่ผู้ป่วยอาการดีขึ้นก็ยอมรับว่ารู้สึกแปลกใจในความประหลาดของโรคนี้ และยอมรับว่าบางครั้งก็คิดเหมือนที่สาธารณชนคิด นั่นคือโรคนี้มีอยู่จริงหรือเปล่า ทั้งที่คำตอบควรจะชัดเจนนั่นคือ “มีจริง”
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าที่พบบ่อยยังคงวนเวียนกับเรื่องต่อไปนี้
ข้อแรก ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสามารถสลัดความเศร้าทิ้งได้ด้วยตนเอง
หากเป็นอารมณ์เศร้าที่มิใช่ “โรค” ซึมเศร้า เราสามารถสลัดมันทิ้งได้เหมือนถอดเสื้อผ้าจริง ด้วยการออกกำลังกาย ทำใจ หรือปล่อยวาง อยู่ที่จะถอดเร็วหรือถอดช้าแต่ก็ถอดได้ ที่เราพูดกันอยู่นี้คือ “โรค” ซึ่งมิเพียงทำให้ผู้ป่วยมีอารมณ์เศร้า แต่รบกวนสมาธิในการทำงานอย่างรุนแรง รบกวนการนอนอย่างรุนแรง และคิดตายไปจนถึงลงมือฆ่าตัวตายซ้ำ ๆ เหล่านี้เกิดจากสารเคมีในระบบประสาทส่วนกลางเสียสมดุล เป็นเรื่องทางชีววิทยาที่มากถึงระดับผู้ป่วยไม่สามารถหายเองได้ ความเข้าใจผิดนี้มักทำให้ผู้ป่วยรอ ไม่ไปพบแพทย์ และปล่อยให้ความเสียหายเกิดขึ้นทุกวัน
ข้อสอง คิดบวกช่วยได้
คำแนะนำที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักได้รับคือคิดบวกไว้สิ อย่ามองอะไร ๆ ในแง่ลบ คำอุปมาที่ได้ยินเสมอคือน้ำมีอยู่ครึ่งแก้ว หัดพูดว่ายังดีนะที่มีน้ำเหลือตั้งครึ่งแก้ว
การคิดบวกและการพูดบวกเป็นเรื่องดีในตัวเอง แต่ไม่มากพอที่จะช่วยผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าได้ อีกครั้งหนึ่ง เรากำลังพูดถึง “โรค” ซึมเศร้า และการคิดบวกไม่สามารถดึงเขาออกมาได้ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักคิดลบจริง มองตนเอง สิ่งแวดล้อม และอนาคตในแง่ลบอยู่เสมอ มุมมองเช่นนี้มิได้เกิดจากการเลี้ยงดูดังที่เคยเข้าใจ แต่เกิดจากการขาดความยืดหยุ่นในวิธีคิด (loss of cognitive flexibility) อันเป็นรอยโรคที่บริเวณสมองส่วนพรีฟรันทัลคอร์เท็กซ์ (prefrontal cortex)
ข้อสาม ชีวิตสมบูรณ์พร้อมทำไมต้องเศร้า
คนรอบข้างมักปลอบใจผู้ป่วยโดยใช้เหตุผลที่เป็นรูปธรรม เช่น คู่สมรสก็เรียบร้อย ลูก ๆ ก็เรียบร้อย พ่อแม่ก็ไม่กวนใจ การงานและเงินทองก็มี ทำไมต้องเศร้าด้วย คนเราจะเศร้าก็ต้องมีเหตุผลสิ
แต่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสามารถเศร้าได้เองโดยไม่มีเหตุผล และหลายครั้งสามารถรู้สึกผิดและโทษตนเองได้โดยไม่มีเหตุผลด้วย ความเศร้านั้นคืบคลานเข้ามาเองเหมือนปีศาจร้ายในยามค่ำคืน ดูดเอาพลังของร่างกายและจิตใจไปได้พร้อม ๆ กัน ผู้ป่วยตื่นเช้ามาด้วยความรู้สึกไม่อยากลุกจากที่นอน และไม่มีเรี่ยวแรงของกล้ามเนื้อที่จะลุกจากที่นอนด้วย เขาเป็นเช่นนั้นจริง ๆ มิได้แกล้งทำ มากกว่านี้คือดูดเอาวิธีคิดที่เป็นเหตุเป็นผลไป จึงสามารถเศร้าได้ทั้งที่ตื่นขึ้นมาบนที่นอนหรูในห้องปรับอากาศหรือแม้กระทั่งบนกองเงินกองทองก็ตาม
ข้อสี่ อย่าอ่อนแอ ทำจิตใจให้เข้มแข็งเข้าไว้
ข้อสุดท้ายนี้น่าจะเป็นความเข้าใจผิดมากที่สุดที่สาธารณชนมีต่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้า กล่าวคือโรคนี้เกิดจากความอ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง ไม่สู้ชีวิต ซึ่งไม่จริง โรคซึมเศร้าเกิดจากการเสียสมดุลของสารเคมีในระบบประสาทส่วนกลาง และมักเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมร่วมกับการพบปัจจัยกระตุ้นบางประการ หลังจากที่เกิดขึ้นแล้ว จะเข้มแข็งหรืออ่อนแอมิใช่ประเด็นอีกต่อไป ในทางตรงข้ามผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทุกคนเข้มแข็งมากอยู่แล้วในทุกวัน
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าใช้พลังมากในการเปิดเปลือกตายามเช้าเพื่อพบว่าโลกไม่สดใสและตนเองไร้ค่า ไม่มีเรี่ยวแรงจะยันตัวลุกขึ้นไปแปรงฟัน อาบน้ำ กินข้าว และแต่งตัวไปเรียนหนังสือหรือทำงาน แต่ทั้งที่ไม่มีแรงนั้นเองพวกเขาก็ยังสามารถทำได้ นี่คือความเข้มแข็งระดับหนึ่ง เปรียบเสมือนยกก้อนหินออกจากอกแล้วลุกขึ้นต้านแรงดึงดูดโลกไปทำงาน
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องใช้ความเข้มแข็งมากในการเผชิญหน้าผู้คน เริ่มตั้งแต่สมาชิกอื่นในบ้านตัวเอง ก่อนออกไปพบเพื่อน เจ้านาย ลูกน้อง พวกเขาทำงานได้แต่ด้วยสมรรถนะที่ลดลง อยากนอนแต่ก็ฝืนไว้ไม่นอน ทำงานต่อไป ต้องอดทนกับคำพูดปลอบใจที่ไม่ช่วยอะไรไปจนถึงคำติฉินนินทาจากผู้ที่พร้อมจะซ้ำเติม เหล่านี้มีแต่ความเข้มแข็งที่ประคองชีวิตของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าให้เดินอยู่ได้
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหลายคนอยากตายแต่ยังคงความสามารถที่จะคิดถึงคนข้างหลังอยู่บ้างจึงมีความเข้มแข็งที่จะไม่ทำ แต่ก็ต้องต่อสู้กับความคิดนั้นอยู่เป็นระยะ ๆ บางครั้งคลื่นความคิดฆ่าตัวตายก็สงบลงเอง แต่บางครั้งก็โหมกระหน่ำเป็นคลื่นลูกใหญ่ มีแต่ความเข้มแข็งระดับหนึ่งถึงยันคลื่นเอาไว้อยู่
อย่างไรก็ตามโรคซึมเศร้าและคลื่นความคิดฆ่าตัวตายเป็นประเด็นทางชีววิทยา จิตใจหรือร่างกายที่เข้มแข็งมากเพียงใดก็ไม่สามารถเอาอยู่เมื่อถึงวันที่ขนาดของคลื่นใหญ่โตมโหฬารจนซัดทุกอย่างพังพินาศได้
…คลื่นนั้นมีอยู่จริง ผู้ป่วยมิได้คิดไปเอง การประวิงเวลาไม่เข้าสู่ระบบการรักษาจึงก่อโศกนาฏกรรมได้
Resource: HealthToday Magazine, No.206 June 2018