ใช้ภูมิต้านทานรักษาโรคเอดส์

นพ.นริศ เจนวิริยะ ศัลยแพทย์

0
2973
ภูมิต้านทาน

ข้อมูลของสหประชาชาติระบุว่า มีประชากรติดเชื้อเอชไอวีประมาณ 37 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งในปัจจุบันผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยการกินยาต้านไวรัสเรโทร (antiretrovirus) ทุกวันไปตลอดชีวิต ถึงแม้ว่ายาต้านไวรัสเรโทรจะมีประสิทธิภาพดี แต่การที่ต้องกินยาไปตลอดชีวิตและปฏิบัติตัวให้ดีเพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ นับว่าเป็นภาระหนัก
ไม่ต่างจากโรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน

นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาได้ค้นพบแอนติบอดี 2 ตัวที่สามารถกดไวรัสชนิดนี้ได้นานนับเดือนโดยไม่ต้องกินยาทุกวัน เพียงฉีดยาแอนติบอดีนี้ปีละ 2 ครั้ง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พบว่า การใช้แอนติบอดี 2 ตัวร่วมกันสามารถกดฤทธิ์ของไวรัสเอดส์ได้นานถึง 30 สัปดาห์ (7 เดือน) จึงมีความเป็นไปได้ที่จะนำวิธีการนี้มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยเอดส์แทนการกินยา

Dr. Anthony Fauci ผู้อำนวยการ National Institute of Allergy and Infectious Diseases มลรัฐแมรีแลนด์ กล่าวว่า “การใช้แอนติบอดีรักษาการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัย เชื่อถือได้ ได้เปิดประตูสู่อนาคตของคนติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ การค้นพบนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนผันสำคัญของการรักษาโรคเอดส์”

ในรายงานการศึกษา 2 ฉบับ ตีพิมพ์ในวารสาร Nature และวารสาร Nature and Medicine นักวิจัยได้หา
อาสาสมัคร
15 คนที่กินยาต้านไวรัสมาโดยตลอด หลังจากให้ผู้ป่วยหยุดยาแล้วฉีดยาแอนติบอดีทั้ง 2 ชนิดให้กับ
ผู้ป่วย (แอนติบอดีนี้เอามาจากคนที่ติดเชื้อเอชไอวีที่มีภูมิต้านทานโรคเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ คือสามารถคุมโรคได้โดยไม่ต้องกินยา) ผลปรากฏว่า ร่างกายผู้ป่วยสามารถหยุดยั้งไวรัสและกดมันไว้ให้อยู่ในระดับ “ปลอดภัย” ได้เป็นเวลาเฉลี่ย
15 สัปดาห์ และมีอาสาสมัคร 2 รายที่สามารถกดมันไว้ได้นาน 30 สัปดาห์

แอนติบอดีที่ฉีดเข้าไปจะพุ่งเป้าไปที่โปรตีนที่เกาะอยู่บนเปลือกนอกของไวรัสเอชไอวี เป็นการชี้เป้าและทำให้ระบบ
ภูมิต้านทานของผู้ป่วยเข้าโจมตีไวรัสนี้ การฉีดจะเป็นการฉีดติดต่อกันเป็นลำดับ โดยผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดแอนติบอดีครั้งแรก จะได้รับการฉีดอีกครั้งในอีก
3 สัปดาห์ และได้รับอีกครั้งในอีก 6 สัปดาห์ต่อมา ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสเอชไอวีทำการสร้างภูมิต้านทานเพื่อป้องกันตัวมันเอง (ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วในอดีตที่การรักษาด้วยแอนติบอดีอย่างอ่อนไม่ได้ผล)

Michel Nussenzweig ศาสตราจารย์วิชาภูมิต้านทานระดับโมเลกุล แห่งมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “วิธีนี้ได้รับการทดลองใช้มาแล้วในอดีตแต่ไม่ได้ผลเนื่องจากใช้แอนติบอดีที่อ่อนกว่าตัวปัจจุบัน ซึ่งความคิดต่อไปของเราคือ การปรับปรุงแอนติบอดีให้อยู่ได้นานขึ้น เพื่อว่าผู้ป่วยจะได้ทิ้งช่วงการรับยาเป็นเวลานานขึ้น เช่น ปีละ 2 ครั้งแทนที่จะต้องกินยาทุกวัน”

Resource: HealthToday Magazine, No.212 December 2018