ภัยจากการเลี้ยงดู

นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ จิตแพทย์

0
1436

วันก่อนผมเจอกับคนไข้สองรายซึ่งมีปัญหาน่าสนใจ มีจุดที่เหมือนและต่างกันสุดขั้วในบางแง่มุม ที่ตลกอยู่บ้างคือ สองคนนี้มาตรวจในวันเดียวกันและคิวติดกันเลย จุดที่แหมือนคือ ทั้งคู่พูดถึงปัญหาที่เจ้าตัวรู้สึกว่าเกิดกับผู้ปกครอง

รายแรกเป็นนักศึกษาวัยรุ่นหญิง เธอศึกษาคณะด้านภาษาคณะหนึ่ง ปีสุดท้ายแล้ว แต่เธอใช้เวลาเรียนไปหกปีกว่า ปีนี้เป็นปีที่เจ็ด เธอยังติดอยู่สองวิชาซึ่งเป็นวิชาไม้เบื่อไม้เมากับเธอมาแต่ไหนแต่ไร

“หนูอุตส่าห์มาเรียนทางสายศิลป์แล้ว ทำไมต้องมาบังคับให้เรียนคำนวณด้วย จบไปก็ไม่ได้ใช้สักหน่อย”

“หมอก็ว่ายังงั้นแหละ จริง…ระบบการศึกษามันติ๊งต๊อง” ผมแอบใส่อารมณ์ส่วนตัวไปด้วย เพราะเบื่อเรื่องนี้มากเช่นกัน ผมไม่เห็นด้วยกับการบังคับเรียนวิชาอะไรที่ไกลตัว ไม่ได้ใช้มานานแล้ว เน้นแต่ท่อง ๆ หรือแก้โจทย์ซึ่งไม่ได้พัฒนาวิธีคิดหรือจิตใจเยาวชนเลย “แต่ตอนนี้เรายังแก้อะไรไม่ทัน ต่อให้ระบบมันงี่เง่าแต่ไหน หมอว่าถ้าหนูอยากจบคงต้องยอม ๆ ฝืนใจทำให้มันผ่านไป”

“ค่ะ หนูก็คิดอย่างนั้น แต่มันกลัวไม่รอดไงคะ เมื่อก่อนก็มีคนติวให้ แต่ตอนนี้เขาเทหนูไปแล้ว” สาวน้อยพูดเสร็จแล้วนิ่งอึ้งไป ทำให้ฟังดูเหมือนเข้าใจได้ว่าคนติววิชานี้ให้เธอจะมีความสัมพันธ์ไม่ธรรมดา

“แฟนเก่าเหรอครับ”

“เอ่อ…มันก็เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่มีนิยามอ่ะค่ะ บรรยายไม่ถูกว่าเป็นอะไรเหมือนกัน หนูว่ามันคงเกิดจากความเหงา เขาก็เหงา หนูก็เหงา พอมาเจอกันก็เหมือนจะแก้เหงากันได้ดีพักหนึ่ง”

“เอาเถอะ เรื่องมันผ่านมาแล้ว หมอว่าหาคนติวคงไม่ยากถ้าเอาแค่ติวเลขเฉย ๆ นะ พอมันมีเรื่องความสัมพันธ์ ชีวิตก็ยุ่งเหยิงขึ้น ยิ่งความสัมพันธ์แบบที่หนูว่า ไม่มีนิยามเลยยิ่งวุ่นเข้าไปใหญ่มั้ง” สาวน้อยพยักหน้า

“หมอสงสัยว่าที่หนูเรียนมาตั้งหกปีนี่ มันเกิดอะไรขึ้นเหรอ ไม่ชอบเรื่องเรียน หรือติดปัญหาเรื่องคน”

“ก็ปน ๆ กันค่ะ จริง ๆ หนูก็ไม่ได้ชอบคณะที่เรียนอยู่ แต่ตอนนั้นมันไม่รู้จะเลือกเรียนอะไร คือชีวิตหนูเหมือนไม่ค่อยมีที่ปรึกษาค่ะ ตอนเด็ก ๆ ก็ทำอะไรโง่ ๆ มาเยอะ เพราะไม่รู้ว่าจะเอายังไงกับชีวิต หนูอาศัยอยู่ที่บ้านตายายมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่แยกทางกัน แม่ไปทำงานต่างประเทศ พ่อก็ไปมีครอบครัวใหม่ แม่ส่งเงินมาให้ใช้ นาน ๆ กลับมาที เอาเข้าจริงก็ไม่สนิทกัน”

“ที่เล่ามานี่หมายถึงตอนเด็ก ๆ หนูปรึกษาอะไรใครไม่ได้เลยเหรอ”

“จะว่าอย่างนั้นก็ได้ค่ะ หนูจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าถามอะไรคุณยายแล้วโดนว่า แกจะบ่น ๆ หนูจำคำพูดไม่ได้ แต่ประมาณว่าอย่าทำตัวเรื่องมากเป็นภาระให้กับผู้ใหญ่ ที่บ้านนี่ก็เรื่องเยอะแล้วนะ คือทางบ้านคุณตาคุณยายเขาทำธุรกิจ แล้วมีปัญหาพวกการเงินฟองสบู่แตกอะไรยุคนั้นแหละค่ะ เขาก็จะเครียด ๆ นิดหนึ่ง หนูก็เลยไม่ถามอะไรดีกว่า โดนด่าเปล่า ๆ อยากรู้จะหาในเน็ตเอา ถามเพื่อนเอา”

“แล้วตอนเด็ก ๆ เหงาไหม”

“มาก มากจนถึงขีดสุด ก็ตั้งใจว่าจะทำทุกอย่างเพื่อจะไม่ต้องมานั่งเหงา ทีนี้หนูก็เละเลย ใจแตก เที่ยวกลางคืนอะไรแบบนั้น มันเหมือนตอนนั้นอยากจะประชดว่าทำไมชีวิตเราถึงไม่มีใครสนใจ ลองเน่าให้มันสุด ๆ ไปเลยซิ จะสนใจกันบ้างไหม หนูเลยทำทุกอย่างที่เขาว่าเลว กินเหล้า สูบบุหรี่ มั่วเซ็กส์ ยาอี ยาไอซ์ ยาบ้าก็ยังเคย แต่พอถึงจุดหนึ่งมันก็คิดได้ อย่างตอนยาบ้านี่หนูลองแล้วแบบ…โอ…ชีวิตเราตกต่ำถึงขนาดนี้แล้วเหรอ ต้องเลิก ๆ ส่วนเหล้าบุหรี่ยังพอมีบ้าง แต่น้อยลงเยอะ”

“โชคดีที่ผ่านมาได้ หนูก็จัดว่าเข้มแข็งในระดับหนึ่งเลยนะที่ลองยาเสพติดแล้วเลิกมาได้”

“ก็ตาม ๆ เพื่อนไปค่ะ พอถึงจุดที่เขาเล่นกัน ของนี่วางพร้อมตรงหน้าเลย หนูคิดอยู่ในใจว่าอยากประชด เอาเลยสิ ไหน ๆ ก็ไม่มีใครเห็นหัวอยู่แล้วนี่ แต่พอไม่ได้ไปกับเพื่อนพวกนั้นแล้ว หนูก็ไม่ได้ดิ้นรนอยากเสพอะไร ไม่ได้เจอกันอีก”

“แสดงว่าโดยเนื้อแท้ส่วนของตัวหนูเองก็ยังดีนะ ไม่ได้อยากจะทำอะไรแย่ ๆ แล้วที่ว่าอยากประชดทางบ้านนี่ พอทำแล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง”

“ยายเขาตามแม่กลับมา ตอนนั้นหนูก็ ม.ปลายแล้ว แม่ไม่บ่นเหมือนยายนะ แต่หน้าตาจริงจังมาก บอกว่าเข้าใจหนู ตอนเด็ก ๆ เขาก็แรงเหมือนกัน เขาถามว่าจะไปอยู่อเมริกากับเขาไหม แต่เขามีสามีใหม่ที่นั่นแล้วนะ หนูไม่อยากไป อยู่ไทยต่อ แม่ก็ไม่ว่าอะไร ตอนนั้นอยู่ ๆ ก็กลับมาตั้งใจเรียน แต่พอเรียนมหาวิทยาลัยไปสักปีสองปีก็เริ่มเสียคนอีก มันเฟลบ่อย ๆ รู้สึกเรามันแย่ เลยประชดชีวิตไปอีก คบกับใครก็เหมือนซวยน่ะหมอ เจอแต่คนไม่จริงใจ พอถูกเทก็เป๋ไปสองสามเดือน เรื่องเรียนมันเลยไม่ค่อยผ่าน”

“คือ…เวลาเจอเรื่องราวอะไร หนูไม่มีที่ปรึกษา”

“ก็ประมาณนั้น และเอาเข้าจริง ๆ หนูก็ไม่ได้อยากปรึกษาใครด้วย แง่หนึ่งทางบ้านเขาก็ให้อิสระเรา แต่แง่หนึ่งมันก็เคว้ง ๆ เหมือนอยู่คนเดียวตลอดเวลา ลอย ๆ เหมือนไม่มีหลักยึด”

ผมขอเล่าเรื่องของเธอเท่านี้ก่อน เพราะส่วนอื่น ๆ ที่คุยกันในเชิงบำบัดรักษาไม่ใช่ส่วนที่ผมอยากนำเสนอในเรื่องนี้ ขอตัดภาพข้ามไปที่สิบนาทีต่อมา ผมก็เจอกับคนไข้อีกหนึ่งราย คราวนี้เป็นนักศึกษาชายตัวสูงใหญ่ มีกล้าม เสื้อผ้าหน้าผมดูเนี้ยบมาก ๆ เขาศึกษาในคณะทางวิทยาศาสตร์ประเภทหนึ่ง ปีสุดท้ายแล้ว และเดือนนี้เป็นเดือนสุดท้ายของเขา เขาจึงกลุ้มใจเกี่ยวกับอนาคต

“ผมก็ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นครับ มันตัดสินใจไม่ถูก คุณพ่อเสนอว่าไปเรียนภาษาที่อังกฤษสักปีหนึ่งก่อนไหม หรือจะทำงานที่บ้านเลย คือที่บ้านผมมีกิจการค้าขายอยู่น่ะครับ เป็นกงสีของตระกูล ผมเป็นรุ่นหลานคนโต พ่อบอกว่าอีกหน่อยก็เป็นของเรา จะมาเรียนรู้เลยไหม”

“ที่พูดมาเป็นทางเลือกที่คุณพ่อคิดนี่ครับ แล้วของคุณเองแท้ ๆ ล่ะ”

“ผมคิดว่าคงแล้วแต่พ่อน่ะครับ” ชายหนุ่มยิ้มเจื่อน ๆ

“อ้าว…เหรอ งั้นหมอสงสัยมากเลยว่า ที่บอกเลือกไม่ถูกตอนแรกนี่หมายถึงอะไรครับ”

“คือผมกังวลครับ ที่พ่อบอกมามันยังรู้สึกไม่ใช่ ๆ ยังไงไม่รู้”

“ถ้าอย่างนั้น ลองตัดปัจจัยจากคุณพ่อทิ้งก่อน สมมติไม่เกี่ยวกับพ่อเลย เอาเฉพาะใจคุณล้วน ๆ อยากเป็นยังไงในอนาคต”

“…” ชายหนุ่มนั่งนิ่ง ๆ แล้วเงยหน้ามามองผมเหมือนจะบอกว่าทำไม่สำเร็จ “มันตัดไม่ได้ครับหมอ ผมนึกในแบบที่ไม่เกี่ยวกับพ่อไม่ออกเลยครับ” แล้วชายหนุ่มก็เล่าถึงครอบครัวของเขา

เขาเป็นลูกคนเดียวของพ่อแม่ที่มีลูกยาก แม่อายุน้อยกว่าพ่อมาก พ่อของเขาจึงมีลูกตอนอายุมากแล้ว คุณพ่อเป็นนักธุรกิจ มีกิจการกงสีเครือข่ายค้าขายใหญ่โตในจังหวัดหนึ่ง ตั้งแต่เล็กจนโตคุณพ่อจะเป็นผู้นำครอบครัว มีสิทธิชี้ขาดในบ้าน พ่อไม่ใช่คนก้าวร้าว แต่จะเข้มงวด มีระเบียบสูง รักความสะอาดหมดจด คอยตักเตือนลูกให้สะอาด เป็นระเบียบ และเนี้ยบอยู่ตลอด พ่อจะคอยถามเขาว่าทำนั่นทำนี่แล้วหรือยัง คิดวางแผนหรือยังในสิ่งต่าง ๆ ตลอดเวลา เวลาเขาเสนอความคิดเห็นอะไร แม้พ่อไม่เห็นด้วยก็จะไม่เอ่ยคำว่า “ไม่” แต่จะหาเหตุผลมาถล่มว่าทางเลือกของเขาว่ามันแย่ยังไงอย่างไม่หยุดหย่อนจนกว่าเขาจะเชื่อตามจึงยอมหยุดพูด

“แล้วที่มาเรียนทางนี้ได้เลือกเองหรือเปล่า”

“พ่ออยากให้เรียนหมอครับ แต่ผมว่ามันหนักไป เขาบอกว่างั้นคณะอะไรก็ได้ที่ได้เรียนที่จุฬาฯ ผมก็เลยเลือกประมาณนี้ ขนาดปีสองปีสามแล้วก็ยังยุให้ไปสอบหมออยู่เรื่อย ๆ เผื่อฟลุคติด ผมเองก็อ้างโน่นอ้างนี่ไปเรื่อย สมัครไม่ทันบ้าง อ่านหนังสือไม่ทันบ้าง”

“โอเค งั้นสรุปให้หมอเข้าใจหน่อยได้ไหมครับว่าคุณกังวลอะไร”

“อืม…ผมเหมือนไม่อยากเรียนจบน่ะครับ ไม่อยากต้องเลือกอะไรเอง แต่ก็ไม่ได้อยากให้พ่อเลือกให้ด้วย ไม่ได้ชอบแบบนั้น เหมือนพ่อบงการมาตลอด ผมคิดว่าผมไม่ค่อยเชื่อมั่นในตัวเองเพราะที่ผ่านมาพ่อเป็นคนทำอะไรให้ทุกอย่าง เหมือนกับว่าถ้าไม่มีพ่ออยู่ อีกหน่อยเราจะอยู่ไม่ได้”

“รู้สึกไม่มั่นคงหรือเปล่าครับ และรู้สึกชัดขึ้นตอนใกล้จะเรียนจบ”

“ครับ ไม่มั่นคงเลย เหมือนจะคิดวน ๆ ตลอดเวลา เพื่อนบอกเครียดก็ให้ลองมาคุยดู คุณหมอพอจะมีคำแนะนำอะไรไหมครับ”

“อ๊ะ…อ๊ะ…คุณกำลังให้หมอคิดแทนอยู่หรือเปล่า”

“ผมไม่รู้จะทำยังไงดีถึงมาหาหมอไงครับ”

“อ่ะ โอเค งั้นผมขอถามว่า…ชีวิตนี่อยากเลือกเอง หรืออยากให้พ่อเป็นคนเลือกครับ”

“คือ…ผมว่าผมคงต้องยอมพ่อครับ คงเลือกเองไม่ได้ เพราะถ้าผมตัดสินใจเองก็ต้องทนฟังพ่อบ่น ด่า กดดัน มันจะแย่ไปกว่าเดิมอีกครับ แล้วพอไม่ได้ดั่งใจเขาก็ลงที่แม่ด้วย แม่ก็จะมาบอกผมว่า ยอม ๆ ป๊าเขาไปก่อนนะ ป๊าเขารัก เขาหวังดี”

“ตรงนี้หมอมองว่าคุณเลือกเอง คือคุณเลือกที่จะยอมพ่อไง ไม่ใช่ว่าเลือกไม่ได้ จริง ๆ คือเลือกไปแล้ว เลือกที่จะยอมพ่อ เพราะคิดว่าถ้าไม่ยอมจะแย่กว่า เลือกที่จะยอมดูสบายกว่า ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่เข้าใจได้”

ชายหนุ่มนิ่งไปแล้วพูดว่า “ผมนึกออกแล้วครับหมอ… ผมรู้สึกกลัวขึ้นมาว่าถ้าพ่อไม่อยู่แล้วผมจะพึ่งตัวเองไม่ได้ จะเรียกว่าผมไม่มีความมั่นใจในตัวเองก็ได้ แต่กับพ่อ ผมคิดว่าเขาเป็นที่พึ่งได้มาตลอดครับ พอมองย้อนกลับไปเขาก็จัดการได้ทุกเรื่องจริง ๆ”

“หมอมองว่าเราจะมั่นใจในใคร ก็คือเราเชื่อว่าเขาทำได้ ที่คุณไม่มั่นใจในตัวเองหมายถึงคุณไม่มั่นใจว่าคุณจะหาเงินได้”

“เรื่องหาเงินก็ด้วยครับ แต่แค่ตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ยังไม่มั่นใจเลยครับ”

“ถ้าอย่างนั้นเราต้องมั่นใจตัวเองก่อนถึงกล้าตัดสินใจ หรือเพราะเคยได้กล้าตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ แล้วมันโอเค เราเลยมั่นใจในตัวเอง อะไรเป็นเหตุอะไรเป็นผลกันแน่”

“ผมว่าอย่างหลัง แต่ผมไม่ค่อยได้ตัดสินใจ มันไม่มีโอกาส ผมไม่รู้จะปฏิเสธคุณพ่อยังไง”

“ทำไมคุณพ่อถึงแย่งคุณตัดสินใจในเรื่องของคุณล่ะ เขามองว่าถ้าเป็นเขาจะตัดสินใจได้ดีกว่าเหรอครับ”

“สงสัยจะอย่างนั้นครับ”

“เฮ้อ…พ่อแม่ก็แบบนี้ละนะ ทำได้ดีกว่าลูกก็แย่งลูกทำ แล้วเมื่อไหร่ลูกจะทำเองเป็นได้ จริงไหม พอลูกทำเองไม่เป็น ตัวเองก็เลิกทำไม่ได้ ก็ต้องช่วยกันไปเรื่อย ๆ ช่วยลูกแล้วก็กังวลว่าอีกหน่อยเราไม่อยู่แล้วลูกจะไปพึ่งใคร”

“ผมก็อยากเลือกเอง แต่ไม่กล้าขัดใจพ่อ ไม่อยากให้เขารู้สึกแย่”

กับเรื่องที่สองนั้น ผมขอจบลงที่ตรงนี้ เพราะผมได้นำเสนอในส่วนที่อยากนำเสนอไปหมดแล้ว ในส่วนของเรื่องการบำบัดรักษาเด็กวัยรุ่นผู้ประสบภัยจากการเลี้ยงดูคู่นี้ผมคงพยายามทำต่อไป

อันที่จริงจะเรียกว่าเป็นความผิดของพ่อแม่ก็ไม่ควรนัก เพราะพ่อแม่ก็คงทำดีที่สุดเท่าที่มีสติ มีปัญญา และโอกาสจะอำนวยแล้ว สองรายนี้รายหนึ่งเจอการเลี้ยงดูที่แสนจะห่างเหิน หงอยเหงาจนต้องเรียกร้อง ส่วนอีกรายก็ราวกับขั้วตรงข้าม ควบคุมเคร่งครัดจนลูกไม่มีตัวตนและความมั่นใจ ไม่กล้าคิด ไม่กล้าเลือก ตรงกลางระหว่างการเลี้ยงดูสองแบบนี้คืออะไร ผมเองก็ไม่สามารถจะบรรยายได้ชัดเจนนัก แต่จุดที่อยากให้เห็นในความเหมือนกันของสองรายนี้คือ การเลี้ยงดูที่ไม่ได้เข้าใจและตอบสนองความต้องการของลูก การตอบสนองความต้องการไม่ได้หมายถึงการตามใจ อยากได้ของได้เงินหรืออยากทำอะไรก็ยอม เพราะนั่นก็สุดโต่งไปฝั่งหนึ่ง แต่คือการอยู่ด้วยในเวลาที่รู้สึกขาดตั้งแต่ตอนเล็ก ๆ จนเกิดเป็นความมั่นคงทางจิตใจ และปล่อยมือ ให้อิสระ ไม่ต้องอยู่ด้วยบ้างในเวลาที่ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่เกิน เมื่อไหร่ปล่อยและเมื่อไหร่คุมนั้น คำตอบขึ้นกับทั้งลูกและผู้ปกครอง ไม่ใช่จากความต้องการของผู้ปกครองฝ่ายเดียว

…..จบ…...

 

ภาพประกอบโดย วาดสุข

Resource: HealthToday Magazine, No.190 February 2017