พญ.พรรณพิมล วิปุลากร – เสริมเกราะคนไทยใส่ใจสุขภาพจิต

0
2261
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร

ใครจะคิดว่า “ชูรักชูรส” รายการดีมีสาระที่ให้ความรู้และตอบปัญหาทางเพศที่ออกอากาศบนหน้าจอทีวีครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2549 จะอยู่ยั้งยืนยงมาจนถึงทุกวันนี้ก็เป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว แม้ว่ารูปแบบรายการจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่เชื่อแน่ว่าหลายคนคงจำ “พญ.พรรณพิมล วิปุลากร” หรือ “หมอต้อ” หนึ่งในสองพิธีกรประจำรายการที่สร้างเสน่ห์ให้รายการนี้จนกลายเป็นรายการยอดฮิตของคนนอนดึกในยุคนั้นเลยทีเดียว

ไม่เพียงเป็นที่รู้จักในฐานะพิธีกรรายการโทรทัศน์มากสาระเท่านั้น แต่ พญ.พรรณพิมล ยังเติบโตในสายงานทางการแพทย์ด้านสุขภาพจิต และก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขในปัจจุบัน รวมทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการผลักดันนโยบายด้านสาธารณสุขของประเทศในฐานะที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเมื่อเดือนตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา

บทบาทใหม่

ในฐานะรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ท่านรองปลัดฯ คนใหม่ได้เล่าถึงเส้นทางการเติบโตในสายงานว่า เริ่มต้นชีวิตก็เหมือนกับแพทย์ทั่วไปที่เรียนจบแล้วมาปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วย จากนั้นจึงเรียนต่อเป็นแพทย์เฉพาะทาง จนกระทั่งเริ่มเข้ามาทำงานด้านบริหาร จากผู้อำนวยการโรงพยาบาล มาเป็นรองอธิบดี ผู้ตรวจราชการ มาจนถึงตำแหน่งล่าสุดคือ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งยังคงรับผิดชอบด้านงานบริหารเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามด้วยบทบาทใหม่จึงทำให้รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไปพอสมควร

ท่านรองปลัดฯ ได้เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงในสายงานอาชีพว่า “อันนี้ถือว่าเปลี่ยนไปมาก เพราะจากเดิมที่ทำงานอยู่เฉพาะด้านสุขภาพจิตตามสาขาที่ได้เรียนมา แม้แต่ตอนที่เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล โรงพยาบาลก็ยังอยู่ภายใต้การดูแลของกรมสุขภาพจิต แต่พอมาเป็นผู้ตรวจราชการก็ขยับมาทำงานด้านสาธารณสุขของประเทศมากขึ้นในทุกด้าน ก่อนหน้านี้เป็นการทำงานในลักษณะนำเอานโยบายลงไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นในระดับพื้นที่ แต่ในปัจจุบันจะดูแลเรื่องของการขับเคลื่อนผลักดันให้เกิดนโยบาย หรือจัดทำสิ่งที่เราเรียกว่า การจัดทำแผนงานยุทธศาสตร์ของประเทศ ซึ่งล้อไปกับแผนงานด้านสุขภาพทั้งหมดของประเทศ”

พัฒนาคน พัฒนางาน

ท่านรองปลัดฯ ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานด้านบริหารเป็นหลัก โดยเน้นการดูแลเรื่องคน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของกระทรวงสาธารณสุข โดยจะดูแลตั้งแต่กระบวนการได้มาของบุคลากรในกระทรวงฯ การจัดวางตำแหน่งหน้าที่ และแนวทางการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ สามารถปฏิบัติตามนโยบายที่วางไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังรวมถึงการเสริมสร้างกำลังใจแก่บุคลากรให้มีความรู้สึกมั่นคงในงานที่ทำ และทำงานอย่างมีความสุข ดังคำกล่าวที่ว่า “คนสำราญ งานสำเร็จ”

สุขภาพจิตของคนไทยในปีที่ผ่านมา

นอกเหนือจากเรื่องบทบาทและหน้าที่ใหม่ในฐานะรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ท่านรองปลัดฯ ยังได้อัพเดตข้อมูลภาพรวมสุขภาพจิตของคนไทยในช่วงปี พ.ศ.2560 ที่ผ่านมาว่า

“เมื่อพูดถึงสุขภาพจิตเราจะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็น ‘กลุ่มโรค’ ซึ่งไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก กับอีกส่วนหนึ่งที่เรียกว่า ‘ภาวะสุขภาพจิต’ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีภัยธรรมชาติที่รุนแรงมาก สถานการณ์การเมืองก็ค่อนข้างสงบ เพราะฉะนั้นโดยหลัก ณ ตอนนี้สถานการณ์ที่น่าจะเป็นตัวกระทบต่อภาวะสุขภาพจิตของคนไทยก็คือเรื่องของเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องมักส่งผลต่อการดำเนินชีวิต และกระทบไปถึงภาวะจิตใจของคนเราตามแต่สถานการณ์ของแต่ละคน ”

เมื่อถามถึงความตึงเครียดที่มาพร้อมกับปัญหาเศรษฐกิจมีผลกระทบต่อโรคทางจิตบางประเภทมากน้อยแค่ไหน
ท่านรองปลัดฯ กล่าวว่า โอกาสของการเกิดโรคทางทางจิตนั้นมาจากหลายปัจจัย ไม่ได้เกิดจากความเครียดเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นสัญญาณที่ดีคือ การที่คนในสังคมเริ่มเปิดรับและเข้าใจถึงปัญหาสุขภาพจิตกันมากขึ้น ดูได้จากการที่มีคนเข้ามาขอคำปรึกษาหรือเข้ารับการรักษาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนเขาอาจไม่รู้ว่าอาการแบบนี้ถือเป็นโรคและสามารถรักษาให้หายได้ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ช่วยให้เราเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ได้ดีขึ้น จึงมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นจากเมื่อก่อน

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร

ตัวชี้วัด…ถึงเวลาพบจิตแพทย์

ต่อคำถามที่ว่าตนเองหรือคนรอบข้างจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการแบบใดเข้าข่ายต้องไปปรึกษาหรือเข้ารับการรักษาจากจิตแพทย์ ท่านรองปลัดฯ อธิบายว่า

“การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์นั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ถ้ายังค่อนข้างปกติก็ไม่ถือว่าเป็นโรค ยกตัวอย่างเช่น อาจมีบางช่วงที่เรารู้สึกเครียดกับบางเรื่องพอภาวะตึงเครียดหายไปเราก็กลับมาสู่ภาวะปกติ แต่ถ้าเมื่อใดที่การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต เช่น ไม่สามารถเข้าสังคมได้ เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ทำงานร่วมกับคนอื่นไม่ได้ หรือรู้สึกว่าตัวเองสู้ต่อไปไม่ไหวแล้ว อย่างนี้ควรมาพบจิตแพทย์ รวมถึงผู้ที่มีอาการแสดงชัดเจน เช่น การรับรู้ความจริงเสียไป หูแว่ว ได้ยินเสียงทั้งที่ไม่มีเสียงอะไร หรือคิดไปเองว่ามีเรื่องไม่ปกติเกิดขึ้น อย่างนี้ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ชั่วคราว แต่ถือว่ามีภาวะของโรคเกิดขึ้น ควรได้รับการรักษา นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่แสดงอาการแบบกลาง ๆ คือดูโดยรวมก็ปกติดี แต่บางขณะเขาอาจดูแย่ลง อาการในลักษณะนี้หากไม่มั่นใจว่ากำลังป่วยเป็นโรคหรือไม่ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย”

รับมือปัญหาสุขภาพจิตในสังคมผู้สูงอายุ

อีกไม่กี่ปีข้างหน้าสังคมไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวแล้ว ซึ่งหมายความว่าจำนวนผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตในวัยชราจะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ท่านรองปลัดฯ ได้ฝากข้อแนะนำในการรับมือกับปัญหาดังกล่าวในอนาคตอันใกล้นี้ไว้ว่า ในการดูแลผู้สูงอายุ ประการแรกคือ ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว เพราะหากจับสัญญาณความผิดปกติได้เร็ว ก็จะช่วยให้เข้ารับการรักษาได้เร็วขึ้น ผลการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นหากพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ ความคิด หรือการกระทำที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ท้อแท้ ไม่มีสมาธิ สับสน หงุดหงิดงุ่นง่านจากเดิมที่ไม่เคยเป็น ควรพามาพบแพทย์

“การดูแลผู้ป่วยจิตเวชจำเป็นต้องอาศัยการปรับตัวของทั้งสองฝ่าย คือทั้งตัวผู้ป่วยเองและคนใกล้ชิด เพราะถ้าให้ผู้ป่วยปรับตัวเพียงฝ่ายเดียว แล้วคนในครอบครัวไม่มีใครปรับตัว ไม่เรียนรู้ ไม่เข้าใจ ผู้ป่วยก็จะหายได้ยาก แต่ถ้าทุกคนช่วยกัน เป็นกำลังใจ กระตุ้นให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์ และดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นตามไปด้วย” ท่านรองปลัดฯ กล่าวทิ้งท้าย

 

Resource: HealthToday Magazine, No.203 March 2018