คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “การมีสุขภาพดีสมวัย” เป็นสิ่งที่ใคร ๆ ต่างก็ปรารถนา ยิ่งไปกว่านั้นคือ “การมีสุขภาพที่ดีกว่าวัย” (Optimal Health) ประเด็นคือ ทำอย่างไรจึงจะเป็นเช่นนั้นได้ ปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทำให้เรามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกต่าง ๆ ภายในร่างกายมากขึ้น ทั้งยังช่วยให้เราได้รู้จักกับ “เทโลเมียร์” (Telomere) สิ่งสำคัญที่สัมพันธ์กับความเสื่อมของร่างกาย
เทโลเมียร์ คือ ดีเอ็นเอที่อยู่บริเวณปลายสุดของโครโมโซม มีหน้าที่สำคัญในการปกป้องโครโมโซมไม่ให้ถูกทำลาย หากเปรียบเทียบโครโมโซมเป็นเหมือนเชือกรองเท้า เทโลเมียร์ก็เปรียบได้กับปลอกหุ้มปลายเชือกรองเท้าชิ้นเล็ก ๆ ที่ป้องกันไม่ให้เชือกหลุดรุ่ยเสียหายนั่นเอง ในแต่ละครั้งที่มีการจำลองโครโมโซมขึ้นมาใหม่ตามขั้นตอนในกระบวนการแบ่งเซลล์ของร่างกาย ความยาวของเทโลเมียร์จะหดสั้นลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงจุดหนึ่งที่เทโลเมียร์เหลือความยาวอยู่น้อยมาก เซลล์จะไม่สามารถแบ่งตัวได้อีกต่อไป จึงเกิดการเสื่อมสภาพ และตายลงในที่สุด ดังนั้นความยาวของเทโลเมียร์จึงเป็นตัวบ่งบอกถึงอายุขัยของเซลล์และเป็นตัวชี้วัดอายุร่างกายได้ นอกจากนี้การวิจัยในปัจจุบันยังแสดงให้เห็นว่าเทโลเมียร์ที่สั้นสัมพันธ์กับการเกิดโรคเรื้อรังและโรคจากความเสื่อมหลายอย่าง อาทิ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น
นอกจากเทโลเมียร์แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันและเราควรรู้จักไว้ก็คือเอนไซม์ “เทโลเมอเรส” (Telomerase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีความสำคัญในการป้องกันไม่ให้เทโลเมียร์หดสั้นลง อย่างไรก็ตามเนื่องจากในเซลล์ร่างกาย (Somatic cell) จะมีเทโลเมอเรสอยู่น้อยมาก เทโลเมียร์ของเซลล์ร่างกายจึงสั้นลงเรื่อย ๆ ซึ่งการ
หดสั้นลงของเทโลเมียร์ในแต่ละคนจะช้าเร็วไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย นอกจากเรื่องของอายุแล้ว ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เทโลเมียร์หดสั้นลงอย่างรวดเร็วก็คือ “พฤติกรรมการใช้ชีวิต”
เราสามารถวัดความยาวของเทโลเมียร์ได้หรือไม่?
เมื่อรู้แล้วว่าความสั้นยาวของเทโลเมียร์นั้นสัมพันธ์กับความเสื่อมถอยของร่างกาย คำถามที่ตามมาคือ จะรู้ได้อย่างไรว่าเทโลเมียร์ของเรามีความยาวเท่าไร ปัจจุบันวิธีการวัดความยาวเทโลเมียร์สามารถทำได้ด้วยการเจาะเลือดไปตรวจวิเคราะห์โดยไม่ต้องงดน้ำและอาหาร ผลตรวจที่ได้ถือเป็นตัวบ่งชี้อายุของเซลล์ทางชีวภาพ ช่วยให้เราประเมินสภาวะร่างกายได้ว่าเหมาะสมกับอายุจริงหรือไม่ ดีสมวัย ดีกว่าวัย หรือแย่เกินอายุจริง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion) โดยเราสามารถแปลผลที่ได้แล้วนำมาปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่อป้องกันการเกิดโรคและชะลอความเสื่อมของเซลล์ นอกจากนี้การตรวจวัดความยาวเทโลเมียร์ยังสามารถนำมาใช้ในการติดตามการดำเนินของโรคเรื้อรังต่าง ๆ รวมถึงดูผลการตอบสนองต่อการรักษาโรคในบางงานวิจัยได้อีกด้วย
ปัจจัยที่ทำให้เทโลเมียร์หดสั้นลงมีอะไรบ้าง?
เมื่ออายุมากขึ้นเทโลเมียร์จะสั้นลงตามกลไกการแบ่งเซลล์ปกติของร่างกาย เรียกได้ว่าเป็นการหดสั้นลงที่เป็นไปตามธรรมชาติ เป็นปัจจัยที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่เราสามารถหลีกเลี่ยงได้ ปัจจัยเหล่านี้นับเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เทโลเมียร์หดสั้นลงเร็วกว่าปกติ ความเสื่อมจึงมาเยือนเราเร็วกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจแสดงออกมาในรูปแบบของการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ ทั้งที่อายุยังไม่มาก หรือการมีรูปร่างหน้าตาและผิวพรรณที่ดูแก่กว่าวัย เป็นต้น ปัจจัยดังกล่าว ได้แก่
- ความเครียด เนื่องจากความเครียดสัมพันธ์ต่อการหลั่งฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid Hormone) จากต่อมหมวกไต ฮอร์โมนนี้ทำให้ระดับของสารต้านอนุมูลอิสระลดลง1 จึงเพิ่มอนุมูลอิสระไปทำลายดีเอ็นเอมากขึ้น2 และเร่งการหดตัวของเทโลเมียร์3
- การสูบบุหรี่ มีงานวิจัยชี้ว่ายิ่งปริมาณการสูบบุหรี่มากยิ่งทำให้เทโลเมียร์หดสั้นลงมากขึ้น6 โดยหากสูบบุหรี่วันละ 1 ซองติดต่อกัน 40 ปี จะทำให้อายุขัยสั้นลง 4 ปี5
- ความอ้วน มีงานวิจัยพบว่าค่าความยาวรอบเอวและดัชนีมวลร่างกาย (BMI) สัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของอนุมูลอิสระทั้งในเลือดและในปัสสาวะอย่างมีนัยยะสำคัญ4 และเทโลเมียร์ของคนอ้วนนั้นสั้นกว่าเทโลเมียร์ของคนผอมในกลุ่มอายุเดียวกันอย่างมีนัยยะสำคัญอีกด้วย5
- อาหาร อาหารประเภทไขมันอิ่มตัวทำให้เทโลเมียร์สั้นลง ในขณะที่อาหารประเภทกากใย (Fiber) โอเมก้า 3 (Omega-3) สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) และอาหารเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean Diet) ซึ่งเน้นพวกผักผลไม้สด ธัญพืช น้ำมันมะกอก เนื้อไก่ เนื้อปลา ไวน์แดง จะช่วยชะลอการหดสั้นลงของเทโลเมียร์
ดังนั้นการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เทโลเมียร์สั้นลง ร่วมกับการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ บริหารจัดการความเครียดให้ดี เลิกเหล้า เลิกบุหรี่ และที่สำคัญคือ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้หลากหลายครบห้าหมู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักและผลไม้สดเพื่อให้ร่างกายได้รับ
สารอาหารที่ครบถ้วน จึงเป็นแนวทางสำคัญในการชะลอความเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย อันจะส่งผลให้เรามีสุขภาพแข็งแรงและดูดีกว่าวัยจนใคร ๆ อาจต้องร้องว้าวกันเลยทีเดียว
ข้อมูลอ้างอิง
- Patel R, McIntosh L, McLaughlin J, et al. Disruptive effects of glucocorticoids on glutathione peroxidase biochemistry in hippocampal cultures. J Neurochem. 2002;82:118–125.
- Irie M, Asami S, Ikeda M, Kasai H. Depressive state relates to female oxidative DNA damage via neutrophil activation. Biochem Biophys Res Commun. 2003;311:1014–1018.
- Von Zglinicki T. Oxidative stress shortens telomeres. Trends Biochem Sci. 2002;27:339–344.
- Furukawa S, Fujita T, Shimabukuro M, et al. Increased oxidative stress in obesity and its impact on metabolic syndrome. J Clin Invest. 2004;114:1752–1761.
- Valdes AM, Andrew T, Gardner JP, et al. Obesity, cigarette smoking, and telomere length in women. 2005;366:662–664.
- McGrath M, Wong JY, Michaud D, et al. Telomere length, cigarette smoking, and bladder cancer risk in men and women. Cancer Epidemiol Biomarkers Prev. 2007;16:815–819.
Resource: HealthToday Magazine, No.206 June 2018