ลำไย

รศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการ

0
16195

ราวต้นเดือนธันวาคมของทุกปี ลำไยซึ่งเป็นผลไม้ที่คนไทยรู้จักตั้งแต่เล็กได้ถูกนำออกมาวางขายแล้วตามตลาดและห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ

ลำไย เป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการดี คือมีทั้ง คาร์โบไฮเดรต ใยอาหาร กรดอะมิโนจำเป็น และแร่ธาตุต่างๆ ในตำรายาแผนโบราณของหลายชาติมีการใช้ลำไยสดลดอาการปวดบวมของระบบประสาท แต่สำหรับผู้เขียนแล้วสนใจลำไยอบแห้งมากกว่า

ในทางการแพทย์แผนโบราณของจีน (ซึ่งต้องฟังหูไว้หู) นิยมใช้ลำไยอบแห้งเป็นส่วนผสมในตัวยา เนื่องจากเนื้อลำไยอบแห้งมีรสหวาน มีสรรพคุณทางหยาง บำรุงม้าม บำรุงหัวใจ และยังมีสรรพคุณใช้บำรุงเลือด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการไหลเวียนของโลหิต ช่วยย่อยอาหาร แก้อาการนอนไม่หลับ ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอต่างของร่างกาย และช่วยบำรุงกำลังของสตรีภายหลังจากการคลอดบุตร บำรุงประสาทตา และสามารถป้องกันเชื้อโรคบางชนิดได้

สำหรับผู้เขียนแล้ว เมื่อนำลำไยแห้งมาต้มผสมน้ำตาลทรายแดงใส่น้ำแข็งจะได้เครื่องดื่ม (ซึ่งอาจเรียกว่าเป็น “ชาลำไย”) ที่มีรสชาติหอมเนียนคอที่สุดชนิดหนึ่ง

ครั้งหนึ่งผู้เขียนมีโอกาสเป็นผู้แทนของที่ทำงานในคณะอนุกรรมการกำหนดคุณภาพและมาตรฐานอาหารของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยานานราว 10 ปี และได้มีโอกาสฟังการบรรยายของผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงเกษตรฯ เรื่อง การรมลำไยด้วยควันกำมะถันเพื่อส่งนอกอย่างถูกวิธี ซึ่งทำให้ผู้เขียนๆ ได้ทราบว่า ลำไยที่มีเปลือกสีน้ำตาลอ่อนนั้นเป็นเพราะถูกรมควันกำมะถันเพื่อกำจัดเชื้อรา การรมควันนี้ทำให้ลำไยสดที่รมควันแล้วเมื่อส่งออกนอกคือ สิงคโปร์และฮ่องกง อยู่บนชั้นวางของได้นานถึง 21 วัน แทนที่จะเป็น 7 วัน

มีข้อมูลหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า คนจีนทั้งในฮ่องกงและสิงค์โปรนั้นชอบกินลำไยไทยมาก แต่มักมีปัญหาปากบวมเจ่อ ท่านผู้เชี่ยวชาญได้อธิบายความว่า ปัญหานี้เกิดเพราะคนจีนชอบใช้ปากกัดเปลือกลำไยแทนการใช้มือแกะเปลือกแบบคนไทย เมื่อปากเจอเปลือกลำไยซึ่งมีควันจากกำมะถันติดอยู่ บางคนจึงเกิดอาการแพ้ ดังนั้นผู้จำหน่ายลำไยจึงต้องสอนให้ลูกค้าชาวจีนรู้วิธีกินลำไยอย่างปลอดภัย

งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ตีพิมพ์ทั้งไทยและเทศต่างรายงานว่า เนื้อลำไยเป็นผลไม้ที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ลำไยช่วยป้องกันปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทต่างๆ ลดอันตรายที่เกิดจากอนุมูลอิสระเพราะมีสารต้านออกซิเดชั่นสูง สารสกัดจากลำไยทำลายเซลล์มะเร็งได้ในหลอดทดลอง แต่ผลในผู้ป่วยมะเร็งจริงนั้นยังไม่มีงานวิจัยที่ชัดเจน การกินลำไยอาจช่วยชะลอความแก่ได้เพราะมีสารต้านกระบวนการที่ทำให้เซลล์แก่ (ประเด็นนี้ต้องระวังให้ดีว่า ผู้ที่กินลำไยโดยหวังว่าจะแก่ช้านั้นไม่ควรเป็นคนกินเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวกลางคืน ขยันทำผิดศีลอีกทั้งไม่ปฏิบัติธรรม ผู้มีพฤติกรรมเหล่านี้ต่อให้กินลำไยเป็นเข่งๆ ก็หนีความแก่ไม่พ้น) นอกจากนี้ยังมีข้อมูลกล่าวว่า ลำไยมีบทบาทในการปรับระบบภูมิต้านทานของร่างกายให้ดีขึ้น ลดอาการอ่อนล้าของร่างกายหลังทำงานหนัก มีสารยับยั้งฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของสารพิษจากสิ่งแวดล้อม

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งน่าสนใจมากเพราะกล่าวเป็นเชิงว่า ลำไยแห้งสามารถออกฤทธิ์ทำลายและต่อต้านอนุมูลอิสระได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสีของผิวคือ เมลานิน ได้ดีกว่าสารเคมีในเครื่องสำอาง ผู้ทำวิจัยจึงแนะนำผลไม้แห้งชนิดนี้แก่ผู้ต้องการมีผิวขาวกว่าที่พ่อแม่ให้มา อย่างไรก็ดีผู้บริโภคพึงคำนึงด้วยว่า ยิ่งมีผิวขาวมากเท่าไรท่านก็จะเสี่ยงต่อมะเร็งผิวหนังมากเท่านั้น โดยเฉพาะท่ามกลางแสงแดดอันแผดเผาในบ้านเรา

อย่างไรก็ดีหลายคนรวมทั้งผู้เขียนพบว่า ถ้ากินลำไยเพลินไปหน่อยมักเกิดอาการร้อนใน ซึ่งแสดงด้วยอาการเป็นแผลในปาก แสบคอ และตาฉ่ำแดง สาเหตุของอาการร้อนในนั้นยังไม่มีใครทราบแน่นอน แต่สำหรับผู้เขียนแล้วเข้าใจเอาว่า เกิดเนื่องจากลำไยมีความหวานสูง จึงให้พลังงานมากทำนองเดียวกับหมูสามชั้น ดังนั้นเมื่อเผลอใจจนเกิดอาการร้อนในแล้วก็จำเป็นต้องกินอาหารที่มีองค์ประกอบเป็นยาเย็น เช่น ใบบัวบก มะระขี้นก มะระ ชะอม แตงกวา ผักกาดขาว หัวไชเท้า มะเฟือง อ้อย ส้มโอ มังคุด ตำลึง มะตูม เก๊กฮวย หรือรากบัว ตามแต่จะหาได้เพื่อแก้อาการนี้

ผู้สำหรับผู้ที่มีอาการท้องเสีย อาหารไม่ย่อย ท้องอืดแน่น ฝ้าบนลิ้น สีขาว และหนา หรือเป็นหวัด เจ็บคอ (ทอลซินอักเสบ) ไม่ควรกินลำไยจนกว่าจะหายจากอาการดังกล่าว

เคยมีผู้ให้คำแนะนำในวารสารหมอชาวบ้านว่า การกินลำไยเพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพแต่ละครั้งนั้น ถ้าเป็นลำไยผลใหญ่ควรกินประมาณ 6 ผล หรือผลเล็ก 10 ผล จะเท่ากับ 1 ส่วนอาหาร (แต่ไม่ควรเกิน 30 ผลใหญ่ หรือ 50 ผลเล็กในแต่ละวัน) ดังนั้นถ้าครอบครัวหนึ่งซื้อลำไยผลใหญ่ไม่มีก้าน 1 กิโลกรัม (ได้ลำใยราว 100 ผล) ก็จะกินได้ประมาณ 8 คน ซึ่งแต่ละคนควรกินลำไยคนละ 2 ส่วนอาหารคือ 12 ผลต่อวัน

Resource : HealthToday Magazine, No.178 February 2016