ในปัจจุบันโรคทางจิตเวชเป็นที่ถูกพูดถึงและให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปี พ.ศ. 2560 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกแคมเปญวันอนามัยโลก (World Health Day) เป็นเรื่องของโรคซึมเศร้า (Depression: let’s talk) เพื่อเน้นย้ำให้ทั่วโลกตระหนักและเห็นความสำคัญของโรคซึมเศร้า ในไทยเองก็มีการจัดงานและมีคำขวัญในภาษาไทยว่า “โรคซึมเศร้า เราคุยกันได้” ท่ามกลางกระแสของการประชาสัมพันธ์ถึงความสำคัญของโรคซึมเศร้าที่ต้องนับว่าได้ผลดีอยู่ไม่น้อย เพราะมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษามากขึ้นอย่างชัดเจน แต่ในอีกด้านหนึ่งที่แทบไม่มีใครพูดถึงคือ ในฝั่งของแพทย์ผู้รักษา
จิตแพทย์ทั้งประเทศมีกี่คน?
จากข้อมูลปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยมีประชากรทั้งสิ้น 65,312,689 คน ทายซิครับว่ามีจิตแพทย์ทั้งหมดกี่คน? คำตอบคือ 886 คนครับ หรือถ้าหารกันแล้วก็จะได้ว่าเรามีจิตแพทย์ 1 คนต่อประชากร 73,716 คน! (หรือเท่ากับจิตแพทย์ 1.4 คนต่อประชากร 100,000 คน) แถมหากว่ากันจริง ๆ ตัวเลขนี้ถือว่าดีเกินความเป็นจริงด้วยซ้ำครับ เพราะอย่าลืมว่าในจิตแพทย์ที่มีไม่ถึงเก้าร้อยคนนี้คือนับทุกคนที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ในความเป็นจริงมีจำนวนไม่น้อยที่อายุมาก เกษียณ ป่วย อยู่ต่างประเทศ ทำแต่งานบริหาร หรือเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้านไม่ได้ทำงานแล้ว หากถามว่าตัวเลขที่เหมาะสมของจำนวนจิตแพทย์ต่อประชากรควรเป็นเท่าไหร่ ถ้าในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น แคนาดาหรือในยุโรป ส่วนใหญ่จะแนะนำตัวเลขที่ จิตแพทย์ 1 คนต่อประชากร 8,000 – 10,000 คน ซึ่งจะเห็นว่าบ้านเรายัง
ห่างไกลตัวเลขนั้นอีกเกือบสิบเท่า เชื่อหรือไม่ว่าทุกวันนี้หลายจังหวัดในประเทศไทย เช่น บึงกาฬ ยังไม่มีจิตแพทย์ในจังหวัดเลยแม้แต่คนเดียวด้วยซ้ำ และอีกหลายสิบจังหวัดก็มีจิตแพทย์แค่ 1-2 คนต่อทั้งจังหวัด
จิตแพทย์ไทยอยู่ที่ไหนของโลก?
เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ แล้ว จิตแพทย์ในไทยมีเยอะแค่ไหน? รูปด้านล่างคือจำนวนจิตแพทย์ต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งใช้ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกปี พ.ศ. 2557 ยกเว้นประเทศไทยใช้ข้อมูลปี พ.ศ. 2560 (ถ้าใช้ข้อมูลปี พ.ศ. 2557 จะเป็น 0.9 : 100,000 คน ซึ่งน้อยกว่าในปัจจุบัน) จะเห็นได้ว่าในประเทศแถบยุโรปและอเมริกาจะมีตัวเลขที่ดีกว่าเรามาก ถ้าเทียบแล้วนอร์เวย์จะมีจิตแพทย์ต่อประชากรมากกว่าเรา 21 เท่า อังกฤษมากกว่า 10 เท่า และบราซิลมากกว่าเรา 3.2 เท่า
ข้อมูลจาก WHO: Psychiatrists per Capita ปี พ.ศ.2557 / * ยกเว้นประเทศไทยใช้ข้อมูลปี พ.ศ.2560
ทำไมหลายประเทศถึงมีจำนวนจิตแพทย์ต่อประชากรค่อนข้างสูง?
คำตอบคือ เพราะโรคทางด้านจิตเวชเป็นโรคที่พบบ่อยมากครับ! หลายคนมักเข้าใจว่าโรคทางด้านจิตเวชนั้นเป็นโรคที่หายาก ไม่ค่อยมีใครเป็นกัน แต่คำตอบคือผิดครับ โรคทางด้านจิตเวชถือว่าเป็นกลุ่มโรคที่มีความชุกเป็นอันดับต้น ๆ ของกลุ่มโรคทั้งหมดด้วยซ้ำ เอาแค่ยกตัวอย่างโรคจิตเวชที่เป็นที่รู้จักกันจะมีความชุกของโรคดังนี้ครับ
- โรคจิตเภท ประมาณร้อยละ 1 ในประชากรทั่วไป
- โรคอารมณ์สองขั้ว ประมาณร้อยละ 1 ในประชากรทั่วไป
- โรคแพนิค ประมาณร้อยละ 2-3 ในประชากรทั่วไป
- โรคซึมเศร้า ประมาณร้อยละ 5 ในประชากรทั่วไป
- ติดเหล้า ประมาณร้อยละ 12 ในประชากรทั่วไป
จะเห็นว่าเอาแค่ 5 โรคนี้มาบวกกันก็ได้ตัวเลขเกือบร้อยละ 20 เข้าไปแล้วครับ ซึ่งหากนับทุกโรคจะพบว่าความชุกของโรคทางจิตเวชจะเท่ากับประมาณร้อยละ 25 หรือพูดง่าย ๆ คือทุก 4 คนจะมีคนเป็นโรคทางจิตเวช 1 คน จึงเป็นเหตุผลที่หลายประเทศแนะนำจำนวนจิตแพทย์ต่อประชากรที่ค่อนข้างสูง
ในประเทศไทยข้อมูลปี พ.ศ. 2560 มีผู้ป่วยโรคจิตเวชเข้ารับการรักษามากถึง 1,734,410 คนต่อปี (ข้อมูลนี้ยังไม่นับการรักษาในคลินิกเอกชน) และเนื่องจากจำนวนจิตแพทย์ที่น้อย จึงทำให้โรงพยาบาลของรัฐประสบปัญหาคนไข้รอนาน และแพทย์มีเวลาพูดคุยได้ไม่นานอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งตามหลักการจิตแพทย์ควรใช้เวลาตรวจคนไข้เก่า
10-15 นาทีต่อคนและคนไข้ใหม่ 30 นาทีต่อคน นั่นหมายถึง ใน 4 ชั่วโมงจิตแพทย์ควรจะตรวจคนไข้ไม่เกิน
20 คน แต่ในความเป็นจริงโรงพยาบาลของรัฐส่วนใหญ่ จิตแพทย์ต้องตรวจผู้ป่วย 30-50 คนภายในเวลา 3-4 ชั่วโมง จึงทำให้คุณภาพการบริการอาจจะไม่ดีนัก ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่อาจจะต้องยอมรับในสถานการณ์เช่นนี้
สำหรับทิศทางในอนาคต จำนวนจิตแพทย์คงจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากสักเท่าไหร่ อันเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนสถาบันอบรม ในปัจจุบันปีหนึ่งสามารถฝึกอบรมจิตแพทย์ได้เพียงประมาณ 60 คนเท่านั้น (รวมทั้งจิตแพทย์ทั่วไปและจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น) ถึงแม้ว่าในช่วงสองสามปีหลัง การเรียนต่อเฉพาะทางด้านจิตเวชดูจะเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ มีคนสมัครเกินจำนวนที่รับฝึกอบรมจำนวนมาก แต่เนื่องจากที่เรียนรับได้จำกัด ทำให้ถึงจะมีคนสนใจมาก ก็รับได้จำนวนที่กำหนดเท่านั้น
หลายคนอาจสงสัยว่า อ้าว…ถ้าขาดแคลนก็ไม่เห็นยาก ก็ผลิตเพิ่มเยอะ ๆ สิ! คำตอบคือ ทำไม่ได้ง่าย ๆ ครับ การจะขยายอัตราการฝึกอบรมไม่ใช่ว่าอยากขยายเท่าไหร่ก็ได้ตามใจฉัน เพราะจำนวนที่แต่ละสถาบันจะรับฝึกอบรมจะถูกจำกัดไว้ด้วยจำนวนอาจารย์จิตแพทย์ผู้สอนด้วย เช่น อย่างในสถาบันของผู้เขียน มีอาจารย์จิตแพทย์ทั่วไป 5 คน
จะรับฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางได้เพียงปีละ 2 คน ถ้าตำแหน่งอาจารย์ไม่เพิ่ม ก็จะรับเพิ่มไม่ได้ ซึ่งตำแหน่งอาจารย์ก็ไม่เคยเพิ่มเลยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นการแก้ปัญหาคงต้องเป็นการแก้ทั้งระบบ ไม่ว่าจะเพิ่มจำนวนอาจารย์ เพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาล หรือการสนับสนุนวิชาชีพอื่น เช่น นักจิตวิทยา พยาบาลจิตแพทย์ เพื่อเข้ามาร่วมกันดูแล
ผู้ป่วยต่อไป
Resource: HealthToday Magazine, No.212 December 2018