ปัญหากลิ่นตัวแรงใครไม่เป็นอาจไม่รู้ รู้แต่ว่าเมื่อไหร่เจอคนกลิ่นตัวแรงเป็นต้องกลั้นหายใจหรือเดินหนี แต่สำหรับเจ้าของกลิ่นกายคงคิดอีกแบบ ผู้เขียนเชื่อว่าเจ้าตัวส่วนใหญ่รู้ และอาจคิดว่าเป็นปัญหา ที่สำคัญคือหลายคนพยายามหาทางแก้ ลองมาแล้วสารพัดน้ำหอม โรลออน แต่ก็ไม่วายยังมีกลิ่นกวนใจไปทั่ว วันนี้จึงมีวิธีการปรับการกินมานำเสนอให้ได้ลองทำควบคู่กันไป
กลิ่นกายมีได้ทุกคน
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่ากลิ่นกายมีได้ทุกคน และจะเริ่มชัดเจนเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น กลิ่นกายแต่ละคนจะมีความจำเพาะแตกต่างกันออกไป สุนัขและสัตว์จึงอาศัยความจำเพาะเจาะจงนี้ในการแยกแยะคน หากลองสังเกตดูจะพบว่าตำแหน่งที่มักมีกลิ่นรุนแรงเป็นพิเศษมักจะเป็นตามรักแร้ ขาหนีบ ทั้งนี้เพราะร่างกายเรามีต่อมเหงื่อ 2 ประเภท คือ
- Apocrine sweat gland เป็นต่อมเหงื่อที่ผลิตเหงื่อที่มีลักษณะเหนียวใส มีไขมันมาก และมีกลิ่นแรง ต่อมประเภทนี้จะอยู่บางบริเวณของร่างกาย เช่น รักแร้ ขาหนีบ เต้านม ใบหู
- Eccrine sweat gland ต่อมเหงื่อชนิดนี้พบทั่วไปตามร่างกาย ทำหน้าที่ระบายความร้อนให้กับร่างกาย ผลิตเหงื่อที่มีลักษณะใสเหมือนน้ำและไม่มีกลิ่น
แต่เอ๊ะ…ทำไมหลายคนถึงกังวลเรื่องกลิ่นตัวในวันที่ต้องเสียเหงื่อเยอะ นั่นเพราะบนผิวหนังของเรามีเชื้อจุลินทรีย์ เมื่อจุลินทรีย์เจอเข้ากับเหงื่อก็ย่อยสลายสารในเหงื่อเพื่อใช้เป็นพลังงาน แล้วปล่อยแก๊สมีกลิ่นออกมา นอกจากนี้แบคทีเรียบางชนิดมีความสามารถในการทำปฏิกิริยากับโปรตีนในเหงื่อ แล้วปล่อยกลิ่นของกรดอะมิโนออกมา ทำให้กลิ่นตัวยิ่งแรงขึ้น กลิ่นกรดอะมิโนที่พบโดยทั่วไปมี 2 ชนิด ได้แก่ กรดโพรพิโอนิ (Propionic acid) เกิดจากแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในต่อมไขมันใต้ผิวหนังย่อยเหงื่อจนได้กรดที่มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยวคล้ายน้ำส้มสายชู อีกกลิ่นของกรดอะมิโนคือ กรดไอโซวาเลอริค (Isovaleric acid, 3-methyl butanoic acid) เป็นกลิ่นที่เกิดจากเชื้อ Staphylococcusepidermidis ทำปฏิกิริยากับโปรตีนเหมือนการหมักชีส แต่ได้กลิ่นที่ไม่น่าพิศสมัยเท่าไหร่
แล้วเราจะมีวิธีจัดการกับปัญหากลิ่นตัวกวนใจได้อย่างไร ? อันดับแรกเลยคงต้องมาใส่ใจเรื่องสุขอนามัยส่วนบุคคลกันก่อน ง่ายสุดคงหนีไม่พ้นการอาบน้ำชำระร่างกาย และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด แล้วอย่าลืมใส่ใจเหตุที่ทำให้เหงื่อต้องหลั่งมากขึ้น เช่น ความเครียด ความตื่นเต้นกังวล สำหรับการควบคุมอาหารนั้นแนะนำว่าควรทำควบคู่ไปด้วยอย่างยิ่ง
หลักการกินเพื่อลดปัญหากลิ่นตัว
- หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดร้อน ที่ทำให้เหงื่อออกเยอะ เช่น พริก พริกไทย กระชาย
- หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์และคาเฟอีน เพราะทำให้เหงื่อออกเยอะขึ้น
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เหงื่อมีกลิ่นเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องเทศ สมุนไพรที่มีกลิ่นฉุน กระเทียม หัวหอม ตะไคร้ ข่า เครื่องแกงกะหรี่ ผักผลไม้ที่มีกลิ่นแรงและมีกำมะถัน เช่น ทุเรียน สะตอ ชะอม กะหล่ำปลี บรอกโคลี ลูกเกด
- ลดอาหารที่กระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตไขมันออกมามาก โดยเฉพาะไขมันที่มาจากต่อม Apocrine sweat gland ที่กระจายอยู่ตามรักแร้ ขาหนีบ โดยหลีกเลี่ยงอาหารมัน อาหารทอด อาหาร Fast food อาหารผัดน้ำมันพืชเยิ้ม ช็อกโกแล็ต ถั่วลิสง
- ลดการรับประทานเนื้อสัตว์ มีรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Chemical Senses ของมหาวิทยาลัย Oxford พบว่า การรับประทานเนื้อแดงทำให้กลิ่นตัวแรงขึ้น และทำให้คะแนนความพึงพอใจเรื่องกลิ่นกายลดลงเมื่อเทียบกับช่วงที่ไม่ได้กินเนื้อแดง
- เพิ่มการรับประทานผักผลไม้ให้มาก เพื่อให้ได้ใยอาหารที่เพียงพอต่อการย่อย และดีท็อกซ์ลำไส้แบบวิธีธรรมชาติ
- ลดน้ำหนัก หากน้ำหนักตัวมากเกินควรลดน้ำหนักทันที เพราะการลดน้ำหนักช่วยลดการขับเหงื่อและสารไขมันจากต่อม Apocrine sweat gland ได้ และช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคที่อาจทำให้เรามีกลิ่นตัวได้
- หากป่วยเป็นโรคเบาหวาน โรคตับ หรือโรคไต ควรรักษาสุขภาพตามที่แพทย์และนักกำหนดอาหารแนะนำอย่างเคร่งครัด เพราะพยาธิสภาพของโรคที่แย่ลงอาจส่งผลให้ร่างกายมีกลิ่นไม่พึงประสงค์มากขึ้นได้
การป้องกันปัญหากลิ่นตัวแรงนั้น ควรเน้นที่การดูแลความสะอาดของร่างกาย เครื่องนุ่งห่ม และการพักผ่อนให้เพียงพอ รู้จักวิธีรับมือกับความเครียด สำหรับการกินป้องกันกลิ่นตัวแรงนั้นก็คงหนีไม่พ้นการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ และเลือกกินผักผลไม้สดให้เพียงพอ โดยรับประทานผัก 1 – 2 ทัพพีต่อมื้อ และผลไม้วันละประมาณ 1 ถุง 20 บาท รับประทานอาหารที่มีสังกะสีให้เพียงพอ ซึ่งพบมากใน ถั่ว ธัญพืช ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีตเมล็ดฟักทอง สัตว์ปีก เนื้อแดงไม่ติดมัน อาหารทะเล หอยนางรม เป็นต้น เพราะแร่ธาตุสังกะสีจะช่วยป้องกันการอุดตันของไขมัน และป้องกันการผลิตเหงื่อมากผิดปกติ รวมทั้งหมั่นออกกำลังกายควบคู่ไปด้วยเพื่อรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งเป็นปัจจัยป้องกันโรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี สุดท้ายคือหมั่นตรวจเช็คสุขภาพสแกนสภาวะสุขภาพตนเองก่อนป่วยทุกปี
Resource: HealthToday Magazine, No.191 March 2017