วัยวิกฤตสุขภาพกับปัญหากระดูกพรุน

0
1515
กระดูกพรุน

เมื่ออายุมากขึ้น ความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ก็มักจะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ มะเร็ง และโรคติดเชื้อต่าง ๆ แล้ว “โรคกระดูกพรุน” นับเป็นอีกหนึ่งโรคสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยอย่างมาก เนื่องจากมวลกระดูกที่ลดลงทำให้กระดูกไม่แข็งแรงและหักได้ง่ายกว่าปกติ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทัน สามารถดูแลและป้องกันตนเองไม่ให้เกิดภาวะกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ในงานสุขภาพเต็มร้อยครั้งที่ 21 จึงได้จัดให้มีการบรรยายเรื่อง “วัยวิกฤตสุขภาพกับปัญหากระดูกพรุน” โดยได้รับเกียรติจาก รศ. นพ.อรรณพ ใจสำราญ รองประธานมูลนิธิ
โรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทยฯ
มาเป็นวิทยากรให้ความรู้

โรคกระดูกพรุนเป็น “ภัยเงียบ” ไม่มีอาการหรือสัญญาณเตือน ส่วนใหญ่กว่าจะรู้ว่ามีปัญหากระดูกพรุนก็ต่อเมื่อมีกระดูกหักเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งตำแหน่งแรกที่มักจะหักได้ง่ายเมื่อมีปัญหากระดูกพรุน ได้แก่ “กระดูกข้อมือ” โดยพบว่า
ผู้สูงวัยที่มีกระดูกข้อมือหักจะมีความเสี่ยงที่จะเกิด “กระดูกสันหลัง” หักหรือยุบเพิ่มขึ้นมากกว่าคนทั่วไปหลายเท่า และหากมีกระดูกสันหลังยุบเกิดขึ้นแล้ว โอกาสที่จะเกิด “กระดูกสะโพก” หักจะเพิ่มขึ้นอีก 2 – 3 เท่า และมีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคกระดูกพรุน

การตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก เป็นวิธีมาตรฐานในการวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน โดยเครื่องตรวจที่นิยมใช้คือ dual-energy X-ray absorptiometry (DEXA) ซึ่งจะทำการตรวจใน 3 จุดสำคัญ ได้แก่ กระดูกข้อมือ กระดูกสันหลัง และกระดูกสะโพก โดยทั่วไปผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก ได้แก่ ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป รวมทั้งผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงโรคกระดูกพรุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ผู้ที่มีประวัติครอบครัวพ่อแม่เคยมีภาวะกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน ในกรณีที่ตรวจพบว่ามีปัญหา แพทย์จะพิจารณาให้การดูแลรักษาตามความเหมาะสม ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 วิธีหลัก ๆ คือ การรักษาแบบไม่ใช้ยา และ การรักษาแบบใช้ยา

การรักษาแบบไม่ใช้ยา ได้แก่

กระดูกพรุน

  • การออกกำลังกาย โดยเน้นการออกกำลังกายที่มีการแบกรับน้ำหนัก จะช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูกได้ ที่ทำได้ง่ายและเหมาะสำหรับผู้สูงวัย คือ “การเดินเร็ว” ไม่แนะนำให้วิ่ง เพราะผู้สูงวัยมักมีปัญหากระดูกและข้อ จึงต้องระวังตรงจุดนี้ด้วย ไม่เช่นนั้นอาจเกิดโทษได้
  • การดูแลให้ร่างกายได้รับแคลเซียมและวิตามินดีอย่างเพียงพอ โดยควรได้รับแคลเซียมวันละ 1,000 มิลลิกรัม อย่างไรก็ตาม พบว่าคนไทยได้รับแคลเซียมจากมื้ออาหารปกติที่รับประทานในแต่ละวันเพียง 400 มิลลิกรัมเท่านั้น จึงขอแนะนำให้ดื่มนมวัววันละ 2 แก้ว จะช่วยให้ร่างกายได้รับแคลเซียมที่เพียงพอ สำหรับ
    ผู้ที่ดื่มนมวัวไม่ได้ อาจเลือกเป็นนมเปรี้ยว โยเกิร์ต ร่วมกับการรับประทานปลาเล็กปลาน้อยและผักใบเขียวแทน ในส่วนของนมถั่วเหลืองนั้น หากเป็นนมถั่วเหลืองตามธรรมชาติจะมีปริมาณแคลเซียมไม่มาก ยกเว้นนมถั่วเหลืองที่
    นำมาเสริมแคลเซียม สำหรับวิตามินดี มีการศึกษาพบว่า คนไทยจำนวนมากมีภาวะพร่องวิตามินดี ซึ่งนอกจากแสงแดดแล้ว วิตามินดียังมีอยู่ในอาหารบางชนิดด้วยเช่นกัน เช่น นม เนย ปลา เห็ด และธัญพืช เป็นต้น อย่างไรก็ตามในกรณีที่มีภาวะพร่องวิตามินดี แพทย์อาจพิจารณาให้วิตามินดีเสริมตามความเหมาะสม
  • การป้องกันการล้ม เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะถึงแม้กระดูกจะบาง แต่ถ้าไม่ล้ม โอกาสที่จะเกิดกระดูกหักก็จะ
    ลดลงอย่างมาก วิธีป้องกันการล้มที่เราสามารถทำได้ เช่น สวมใส่รองเท้าที่เหมาะสม มีดอกยางกันลื่น ส้นเตี้ย
    หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อการล้ม อาทิ การปีนป่ายขึ้นที่สูง การก้มตัวเก็บของที่พื้น การเดินในบริเวณที่พื้นเปียก ลื่น ไม่เรียบ รวมทั้งระมัดระวังเรื่องสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขและแมว ที่อาจมาพันแข้งพันขาทำให้ล้มได้ นอกจากนี้ควรจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะสม โดยจัดบ้านให้มีแสงสว่างเพียงพอ เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่มีข้าวของวางระเกะระกะ เป็นต้น

การรักษาแบบใช้ยา

โดยทั่วไปแพทย์จะพิจารณาให้การรักษาด้วยยาในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น เช่น รักษาด้วยวิธีไม่ใช้ยาแล้วไม่ได้ผล หรือ
ผู้ป่วยกระดูกบางมาก หรือมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดกระดูกหัก หรือคนที่เคยมีกระดูกหักมาก่อน ปัจจุบันยาที่ใช้ในการรักษาโรคกระดูกพรุนมีด้วยกันหลายกลุ่มหลายรูปแบบ ทั้งชนิดรับประทานและชนิดฉีด เช่น ยาที่ช่วยยับยั้งการสลาย
มวลกระดูก และยาที่ช่วยเร่งการสร้างมวลกระดูก ทำให้กระดูกหนาขึ้น ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเลือกใช้ตามความ
เหมาะสมแก่ผู้ป่วยแต่ละราย

สำหรับท่านใดที่ต้องการรับทราบข้อมูลความรู้เกี่ยวกับโรคกระดูกพรุนเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ที่ Facebook “กระดูกกระเดี้ยว” โดย มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทยฯ สารพันสาระความรู้เรื่องโรคกระดูกพรุนที่เชื่อถือได้ เพื่อสุขภาพกระดูกที่ดี และคุณภาพชีวิตที่เต็มร้อย

TH-01076-PRO-2019-Dec