เที่ยวไป ชิมไป อิ่ม อร่อย ปลอดเชื้อโรค

พญ.พลอย ลักขณะวิสิฏฐ์ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป

0
1261

“อาหาร” ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศ เวลาที่เราเดินทางไปไหนก็ตาม เป็นธรรมดาที่เราอยากจะชิมอาหารพื้นเมืองของประเทศนั้น ๆ ใช่ไหมคะ แต่ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า อาหารก็เป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้เราเจ็บป่วยได้ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายเหลว คลื่นไส้ อาเจียน หรือหากมีอาการมากอาจทำให้มีไข้ ติดเชื้อในกระแสเลือดได้ เชื้อโรคที่มากับอาหารมีหลายชนิดด้วยกัน เช่น ตับอักเสบเอ ไทฟอยด์ แบคทีเรีย ไวรัส และโปรโตซัวต่าง ๆ แต่ในฉบับนี้เราจะกล่าวเฉพาะโรคทางเดินอาหารที่การฉีดวัคซีนสามารถช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงลงได้

โรคตับอักเสบเอ

ติดต่อผ่านทางการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนเชื้อ หลังจากที่ได้รับเชื้อจะเกิดอาการที่ 15 – 50 วัน โดยเฉลี่ยประมาณ 1 เดือน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว ที่สำคัญคืออาจมีอาการตัวเหลืองตาเหลืองได้ แต่ส่วนใหญ่มักจะหายได้เอง มีน้อยคนนักที่จะเกิดอาการตับวาย (ส่วนใหญ่มักเกิดในผู้ที่มีโรคตับอยู่เดิม หรือเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง)

ในประเทศไทยเองก็มีเชื้อตับอักเสบเอเช่นเดียวกัน มีงานวิจัยซึ่งทำในประเทศไทย1 ได้รับการตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2559 พบว่า ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่อตับอักเสบเอมีแนวโน้มลดลง โดยพบในประชากรเพียง 48.6% เท่านั้น นอกจากนี้งานวิจัยยังพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 42 ปีขึ้นไปมีภูมิคุ้มกันต่อตับอักเสบเอเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นหากท่านผู้อ่านมีแผนว่าจะเดินทางไปท่องเที่ยวยังพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เดินทางไปยังประเทศที่สุขอนามัยยังไม่ดีมากนัก เช่น กัมพูชา อินเดีย ศรีลังกา ประเทศที่อยู่ในทวีปอเมริกาใต้หรือแอฟริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าไปในพื้นที่ชนบท เดินป่า มีการเดินทางแบบสะพายเป้ (Backpacker) รับประทานอาหารที่ขายตามข้างทาง หรือรับประทานอาหารร่วมกันคนท้องถิ่น หมอขอแนะนำให้ตรวจหาภูมิคุ้มกันของตับอักเสบเอก่อนการเดินทาง เนื่องจากการฉีดวัคซีนตับอักเสบเอจะต้องฉีด 2 เข็ม โดยเข็มแรกห่างจากเข็มที่สองนาน 6-12 หรือ 6-18 เดือนขึ้นกับชนิดของวัคซีน หลังการฉีดวัคซีนเข็มแรก ภูมิคุ้มกันต่อตับอักเสบเอจะขึ้นประมาณ 95% และถ้าหากฉีดครบ 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันจะขึ้นถึงเกือบ 100% และภูมิคุ้มกันนี้จะอยู่กับตัวเราไปอย่างน้อย 10 ปี2

โรคไทฟอยด์

เกิดจากการติดเชื้อซัลโมเนลล่า (Salmonella enterica serotype Typhi) อาการที่เกิดขึ้น ได้แก่ ไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ผื่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อาจมีอาการท้องผูกหรือถ่ายเหลวก็ได้ อุจจาระมีกลิ่นเหม็น ปวดเมื่อยตามตัว หากการติดเชื้อรุนแรง จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการซึม สับสน เลือดออกในลำไส้ ลำไส้ทะลุ และนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ในรายที่มีอาการน้อย หากไม่รักษา อาจจะมีอาการนาน 3 – 4 สัปดาห์ และมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 12-30%

โรคไทฟอยด์จะติดต่อผ่านทางการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อนี้เข้าไป โดยเชื้อโรคจะอาศัยอยู่ในมนุษย์เท่านั้น  สามารถพบเชื้อนี้ในลำไส้และในกระแสเลือด นอกจากนี้เมื่อรักษาหายแล้วยังพบว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่ยังคงเป็นพาหะของโรคนี้ กล่าวคือยังสามารถแพร่เชื้อไทฟอยด์ในอุจจาระได้แม้ว่าจะไม่มีอาการแล้วก็ตาม

แม้ว่าประเทศที่สุขอนามัยยังไม่ดีนัก เช่น อินเดีย ประเทศในทวีปแอฟริกาหรืออเมริกาใต้ จะมีการติดเชื้อไทฟอยด์มากกว่าประเทศไทย แต่ในประเทศไทยเองก็พบการติดเชื้อได้เช่นเดียวกัน จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบผู้ติดเชื้อไข้ไทฟอยด์ตั้งแต่ 1 ม.ค. 60 – 5 ต.ค. 60 จำนวน 802 ราย จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ นราธิวาส บึงกาฬ และแพร่ ตามลำดับ โดยภาคใต้เป็นภาคที่พบผู้ป่วยมากที่สุด3

วัคซีนป้องกันโรคไทฟอยด์มี 2 ชนิด ชนิดแรกเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย เป็นยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ฉีดวัคซีนหนึ่งครั้งสามารถป้องกันโรคได้ 2 ปี และควรฉีดก่อนเริ่มเดินทางอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ประสิทธิภาพของวัคซีนชนิดนี้สามารถป้องกันโรคได้ประมาณ 55-74%

ส่วนวัคซีนชนิดที่ 2 เป็นวัคซีนที่มีชีวิตซึ่งทำให้อ่อนฤทธิ์ลง เป็นแบบแคปซูลสำหรับรับประทาน โดยรับประทานทั้งหมด 4 ครั้ง ก่อนมื้ออาหารอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ห่างกันวันเว้นวัน และควรรับประทานแคปซูลเม็ดสุดท้ายก่อนเดินทางอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หากยังมีการเดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงควรจะได้รับวัคซีนทุก ๆ 5 ปี โดยประสิทธิภาพของวัคซีนชนิดนี้สามารถป้องกันโรคได้ประมาณ 60%4

“สุขอนามัย” สิ่งสำคัญ ควรจำให้ขึ้นใจ

อย่างไรก็ตามยังมีเชื้อโรคอีกหลายชนิดที่วัคซีนไม่สามารถป้องกันได้ รวมไปถึงเชื้อซัลโมเนลล่าสายพันธ์อื่น ๆ เมื่อใดก็ตามที่ชาว HealthToday วางแผนจะเดินทางไปในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ควรให้ความสำคัญกับ “สุขอนามัย” เป็นอันดับแรก หากรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค และเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ก็คงทำให้ทริปนั้นหมดสนุกกันเลยทีเดียว ถ้าหากมีอาการรุนแรง เผลอ ๆ อาจจะได้ไปนอนเล่นที่โรงพยาบาลแทนก็เป็นได้

หลักการง่าย ๆ ของการเลือกรับประทานอาหารคือ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” โดยรับประทานอาหารที่ร้อน ปรุงสุกใหม่ อย่างน้อยความร้อนก็สามารถกำจัดเชื้อโรคไปได้หลายชนิด และเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น การใช้ช้อนกลางก็เป็นการลดการแพร่กระจายเชื้อ ซึ่งเราไม่สามารถทราบได้ว่าผู้ที่ร่วมื้ออาหารกับเรามีโรคติดเชื้ออะไรซ่อนอยู่หรือไม่ และที่สำคัญที่สุดคือ การล้างมือก่อนการรับประทานอาหารและหลังการขับถ่ายทุกครั้ง พยายามฝึกจนเคยชิน การล้างมือสามารถลดเชื้อโรคต่าง ๆ ที่ติดมากับมือของเราออกไปได้มากเลยทีเดียว

ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผักสด หากล้างผักไม่สะอาดเพียงพอ หรือล้างด้วยน้ำที่ไม่สะอาด ก็อาจจะทำให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรค และทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ ส่วนผลไม้ควรเลือกผลไม้ที่ต้องปอกเปลือกออก เช่น กล้วย ส้ม และควรหลีกเลี่ยงผลไม้ที่ต้องรับประทานทั้งเปลือก เช่น ฝรั่ง ถ้าหากต้องการรับประทาน ควรล้างให้สะอาด และปอกเปลือกออกก่อน

สิ่งหนึ่งที่คนไทยส่วนใหญ่มักขาดไม่ได้เลยก็คือ “น้ำแข็ง” แต่ทราบไหมคะ ว่าน้ำแข็งนี่แหละเป็นสาเหตุที่ทำให้หลาย ๆ คนท้องเสีย เนื่องจากเราไม่สามารถทราบได้เลยว่าน้ำที่นำมาทำน้ำแข็งนั้นมาจากแหล่งใด มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคหรือไม่ ดังนั้นทางที่ดีหากไปในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง หมอจะแนะนำให้ งดน้ำแข็ง และดื่มน้ำจากขวดที่มีการซีลฝามาจากโรงงานแล้วเท่านั้น รวมไปถึงน้ำอัดลมต่าง ๆ ก็ไม่ควรดื่มจากปากกระป๋องโดยตรง ควรล้างกระป๋องให้สะอาดก่อน และใช้หลอดน้ำดูดจากกระป๋องจะปลอดภัยกว่า

เมื่อมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียเกิดขึ้นแล้ว หากเป็นในระยะเริ่มแรกแนะนำให้จิบน้ำเกลือแร่บ่อย ๆ เพื่อทดแทนน้ำที่ร่างกายสูญเสียไป เฝ้าสังเกตอาการของตนเองอย่างใกล้ชิด หากถ่ายออกมามีมูกปนเลือด มีไข้ หรืออาการอื่น ๆ ที่ผิดปกติ เช่น หน้ามืดเป็นลม ปวดท้องมาก ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที โดยเฉพาะเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอาการจะแย่ลงได้อย่างรวดเร็ว

สุดท้ายนี้ หมอมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่อยากเล่าให้ฟังเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลวกช้อนส้อมที่พบเห็นได้บ่อย ๆ ตามโรงอาหาร เชื่อไหมคะว่าการลวกช้อนส้อมแทนที่จะทำให้สะอาดขึ้น กลับเป็นการเพิ่มเชื้อโรคให้มากขึ้นกว่าเดิมเสียอีก มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2556 ศึกษาที่โรงอาหารของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ พบว่า อุณหภูมิของน้ำในหม้อต้มที่สูงกว่า 65 องศาเซลเซียส สามารถกำจัดแบคทีเรียบนช้อนส้อมให้ลดจำนวนลงจนเหลือน้อยกว่าช้อนส้อมที่ไม่ได้ลวกได้ โดยเวลาในการจุ่ม ยิ่งนานยิ่งกำจัดแบคทีเรียได้มากขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือ น้ำที่อยู่ในหม้อต้มนั้นต้องเป็นน้ำที่เปลี่ยนถ่ายมาใหม่ ถ้าน้ำที่อยู่ในหม้อต้มไม่มีการเปลี่ยนถ่าย แบคทีเรียจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงแม้ว่าอุณหภูมิของน้ำจะอยู่ที่ 91-95 องศาเซลเซียสตลอดเวลา ดังนั้นการจุ่มช้อนส้อมในน้ำที่มีแบคทีเรียอยู่ สามารถเกิดการปนเปื้อน ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของแบคทีเรียบนช้อนส้อมที่ถูกจุ่มมากกว่าช้อนส้อมที่ไม่ได้ถูกจุ่มเสียอีก5

ข้อมูลอ้างอิง
  1. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4805277/pdf/pone.0151304.pdf)
  2. https://www.cdc.gov/vaccines/pubs/pinkbook/downloads/hepa.pdf)
  3. http://www.boe.moph.go.th/boedb/surdata/506wk/y60/d08_4060.pdf
  4. https://www.cdc.gov/vaccines/hcp/vis/vis-statements/typhoid.pdf
  5. http://foodsan.anamai.moph.go.th/ewt_dl_link.php?nid=564&filename=abstract

 

Resource : HealthToday Magazine, No.199 November 2017