แบคทีเรียรักษาโรค

นพ.นริศ เจนวิริยะ ศัลยแพทย์

0
6360

ร่างกายของเราเป็นที่อยู่ของเชื้อโรคจำนวนมาก มีข้อมูลว่าจำนวนเซลล์แบคทีเรียทั้งหมดในร่างกายมีมากกว่าจำนวนเซลล์ของร่างกายเสียอีก แบคทีเรียเหล่านี้มีชนิดที่ไม่เป็นภัยแต่อยู่ร่วมกับคนเราแบบไร้อันตรายและสร้างสรรค์ แบคทีเรียกลุ่มที่อยู่กับเรานี้เรียกรวม ๆ ได้หลายชื่อในภาษาแพทย์ เช่น microbiota, microflora, microbiome เชื้อพวกนี้พบได้บนผิวหนัง ในทางเดินหายใจ  ในทางเดินอาหาร และในทางเดินปัสสาวะ

แบคทีเรียในทางเดินอาหาร

แบคทีเรียจำนวนมากอาศัยอยู่ในทางเดินอาหาร (เช่น อุจจาระ 1 กรัมมีเชื้อแบคทีเรียจำนวนมากถึง 10 ยกกำลัง 14 หรือ 100 ล้าน ๆ ตัว) ปัจจุบันนี้มีงานวิจัยจำนวนมากที่กำลังทำกันอยู่เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อโรคในลำไส้ที่มีต่อสุขภาพของเรา และอะไรที่ทำลายสมดุลนี้ (เช่น การกินยาฆ่าเชื้อ) จะทำให้เกิดโรคขึ้น (เช่น ท้องเดิน) ได้

เชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้ได้อาศัยอาหารจากลำไส้ ในขณะเดียวกันมันก็สร้างสภาวะแวดล้อมที่ดีและเอื้อต่อสุขภาพที่ทำให้เราไม่เจ็บป่วย ทั้งยังช่วยย่อยอาหารด้วย ทางเดินอาหารของเราทำงานหนัก มันมีพื้นที่ดูดซึมอาหารขนาดใหญ่รวมกันขนาดประมาณสนามเทนนิส ณ ที่แห่งนี้นี่เองมีเชื้อแบคทีเรียถึง 500 ชนิดที่คอยทำหน้าที่ช่วยการย่อยอาหาร

Microflora ของลำไส้นี้ค่อย ๆ มีวิวัฒนาการขึ้นมาจากแรงกระตุ้นของสิ่งต่าง ๆ เช่น อาหารการกิน การชราภาพ ภูมิประเทศ และปัจจัยสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการติดเชื้อ และการใช้ยาปฏิชีวนะ ในการทำงานช่วยย่อยอาหารของกลุ่มจุลินทรีย์ มันก็ช่วยผลิตสารมีประโยชน์คือ วิตามินบี (หลายตัว), วิตามินเค, โฟเลต และกรดไขมันบางตัว นอกจากนี้ผลพลอยได้จากปฏิกริยาระหว่างเชื้อจุลินทรีย์ช่วยสร้างพลังงานให้ร่างกายเราได้ถึง 10% ของพลังงานที่ร่างกายต้องการต่อวัน และจุลินทรีย์ที่อยู่ในลำไส้ยังมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาระบบภูมิต้านทานของร่างกายด้วย

โดยทั่วไปการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างเชื้อจุลินทรีย์กับมนุษย์เราอยู่ในสมดุลซึ่งทำให้คนเรามีสุขภาพที่ดี เช่น เชื้อจุลินทรีย์ช่วยควบคุมไม่ให้เกิดการติดเชื้อ อย่างไรก็ตามถ้าเกิดความไม่สมดุลระหว่างระดับของเชื้อแบคทีเรียตัวดีและตัวร้ายกับปฏิกริยาของร่างกายอาจจะทำให้เกิดการเจ็บป่วยหรือโรคขึ้นได้ ถ้าคุณเคยกินยาปฏิชีวนะแล้วเกิดท้องเดิน ไม่ใช่เรื่องแปลก คุณไม่ใช่คนเดียวที่เกิดปัญหาอย่างนั้น มีคนราว 30% ที่เป็นอย่างนั้น เนื่องจากยาปฏิชีวนะไปฆ่าเชื้อบางตัวทำให้เกิดความไม่สมดุลของแบคทีเรียชนิดต่าง ๆ ในลำไส้

โปรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์

คุณคงเคยได้ยินเรื่อง โปรไบโอติกส์ (probiotics) มาบ้างแล้วไม่มากก็น้อย แต่คุณคงอยากจะรู้เพิ่มเติม โปรไบโอติกส์เป็นสารเสริมอาหารซึ่งมีส่วนประกอบเป็นแบคทีเรียตัวดีที่ไม่ทำให้เกิดโรคหรือเชื้อยีสต์บางชนิดที่ทำให้เกิดผลดีต่อสุขภาพ โปรไบโอติกส์สามารถช่วยให้เกิดความสมดุลของเชื้อโรคในลำไส้ เช่น ในคนที่ท้องเดินจากการกินยาปฏิชีวนะ โปรไบโอติกส์ทำให้อาการท้องเดินลดลงได้

ส่วนพรีไบโอติกส์ (prebiotics) เป็นสารที่ไม่ถูกย่อย แต่ทำหน้าที่เป็นสารอาหารให้กับโปรไบโอติกส์ เมื่อนำ 2 ตัวนี้มาผสมกันก็จะกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่เอื้อต่อกัน (synbiotic) ตัวอย่างเช่น นมเปรี้ยวอย่างโยเกิร์ตและคีเฟอร์ (kefir) มันมีส่วนประกอบเป็นเชื้อแบคทีเรียตัวดีกับสารอาหารของแบคทีเรีย

ศักยภาพของโปรไบโอติกส์ในการสร้างสมดุลของเชื้อแบคทีเรียให้เกิดในทางเดินอาหารเป็นสิ่งที่วงการวิทยาศาสตร์กำลังให้ความสนใจกันมาก ความสนใจของผู้บริโภคก็มีมากขึ้น ทำให้มีผลิตภัณฑ์โปรไบโอติกส์วางตลาดอย่างกว้างขวางในรูปของสารเสริมอาหาร เช่น นมโยเกิร์ต แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือผู้บริโภคมีความกระตือรือร้นมากเกินกว่าวิทยาศาสตร์จะมีข้อมูลมาสนับสนุนในแง่ของความปลอดภัยและความเข้าใจถึงกลไกการทำงาน ผู้บริโภคจึงควรระวัง

การใช้โปรไบโอติกส์ยังเป็นวิชาที่กำลังพัฒนาขึ้นมา ยังมีคำถามที่ยังไม่มีคำตอบอีกมาก แต่มีหลักฐานว่าโปรไบโอติกส์สามารถใช้ในการช่วยรักษาโรคทางเดินอาหารบางอย่าง เช่น โรคประสาทลงลำไส้หรือโรคลำไส้แปรปรวน (irritable bowel syndrome=IBS) โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผล (ulcerative colitis) โรคกระเปาะลำไส้อักเสบ (pouchitis)

โรคลำไส้ใหญ่อักเสบจากเชื้อ C.difficile

เชื้อ Clostridium difficile (C.difficile อ่านว่า ซี ดิฟฟิซิล) เป็นเชื้อแบคทีเรียตัวร้ายตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดการติดเชื้อของลำไส้ใหญ่ มันอาจจะทำให้เกิดอาการต่าง ๆ จากน้อยไปหามาก เช่น จากท้องเดินไปจนถึงการติดเชื้ออักเสบของลำไส้ใหญ่ปางตาย มันเป็นการติดเชื้อที่ปัจจุบันนี้พบมากขึ้น รุนแรงมากขึ้น และรักษายากขึ้น โรคนี้พบบ่อยในคนสูงอายุในโรงพยาบาลหรือในบ้านดูแลคนชราหลังการใช้ยาปฏิชีวนะ อย่างไรก็ตามในระยะหลัง ๆ นี้แม้คนที่ปกติแข็งแรงดีที่ไม่ได้เข้าโรงพยาบาลหรือกินยาปฏิชีวนะก็ยังเป็นโรคติดเชื้อเจ็บป่วยจากเชื้อ ซี.ดิฟฟิซิล ได้

การรักษาโรคนี้ก็ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ แต่หลังการรักษามักจะมีการกลับมาเป็นใหม่อีกบ่อย ๆ การรักษาทางเลือกอย่างอื่นก็มีการใช้เชื้อโรคจากอุจจาระของคนที่มีสุขภาพดีมาปลูกถ่ายสู่คนป่วย (probiotics) โดยหวังให้เชื้อที่ดีมาสร้างสมดุลใหม่ของเชื้อโรคในลำไส้ใหญ่ รายงานหนึ่งทำการทบทวนวารสารพบว่าการรักษาแบบปลูกถ่ายเชื้อโรคที่ดีเข้าสู่ลำไส้ใหญ่มีความสำเร็จถึง 92%

นอกจากนี้มีรายงานในวารสาร Journal of Infectious Disease ฉบับกรกฏาคม ปี 2016 ว่าสามารถใช้โปรไบโอติกส์ช่วยป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรคลำไส้ใหญ่อักเสบจากเชื้อ ซี.ดิฟฟิซิล ได้ถึง 96.6% โรคนี้เป็นโรคที่นับวันจะมีมากขึ้น มีอัตราตายสูง เป็นโรคสำคัญที่เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไป ที่โรงพยาบาลเมโยคลินิก สหรัฐอเมริกา ได้ใช้การปลูกถ่ายเชื้อโรคที่ดีเพื่อรักษาลำไส้ใหญ่อักเสบจากเชื้อ ซี.ดิฟฟิซิล ที่รักษาด้วยยาปฏิชีวนะไม่หาย หรือรักษาหายแล้วกลับมาเป็นใหม่อีก อย่างไรก็ตามการป้องกันการติดเชื้อ ซี.ดิฟฟิซิล ที่สำคัญคือการทำตามหลักการป้องกันการติดเชื้อรวมไปถึงการทำความสะอาดมือเป็นประจำ

ในการทำยาโปรไบโอติกส์มีกระบวนการแยกเอาเชื้อที่ดีที่ไม่ทำให้เกิดโรครวมทั้งสปอร์ออกมาจากอุจจาระ นำมาผสมกับพรีไบโอติกส์ แล้วใส่แคปซูลเป็นเม็ดยา เมื่อต้องการใช้เขาจึงให้คนไข้กินยาดังกล่าวในการทดลองหรือรักษาโรคด้วยโปรไบโอติกส์ ไม่ใช่เอาอุจจาระสด ๆ ซิง ๆ มาใช้ การที่ชาวบ้านทำน้ำหมักสมุนไพรเอามาขายเอามาแจกให้ดื่มกิน ไม่รู้ว่าสะอาดแค่ไหน มันอาจจะมีเชื้อโรคที่เป็นอันตราย อาจจะมีผลเสียมากกว่าผลดี ผู้บริโภคควรระวัง

Resource: HealthToday Magazine, No.193 May 2017