“ความหวังดีที่อีกฝ่ายไม่ต้องการก็เท่ากับส่วนเกิน”
“หวังดีแล้วไม่ได้ดี”
“หวังดีแต่เขาไม่เห็นค่า”
“อุตส่าห์หวังดีทำไมถึงโกรธ”
“หวังดีก็หาว่าหนูแส่ไม่เข้าเรื่อง”
คำพูดน้อยใจหรือเสียใจประมาณนี้เป็นสิ่งที่ผมพบได้บ่อยถึงบ่อยมาก ซึ่งสร้างความทุกข์ใจให้กับผู้ที่หวังดีไม่มากก็น้อย แต่เมื่อฟังรายละเอียดของเหตุการณ์แล้วพบว่า ความหวังดีที่เป็นส่วนเกินที่พบได้บ่อยนี้สามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ ๆ
1. หวังดีแต่ผลร้าย
ต้องบอกก่อนว่ากรณีนี้ไม่ได้พูดถึงการ “หวังดีประสงค์ร้าย” (ซึ่งในกรณีนี้จะหมายถึงการประสงค์ร้ายตั้งแต่แรกแล้ว เพียงแต่มาทำเหมือนดีด้วย) แต่เป็นการทำด้วยความหวังดีจริงๆ แต่ผลกลับออกมาไม่ดี ตัวอย่างของความหวังดีแบบนี้ เช่น สามีต้องเอาเอกสารสำคัญไปทำงานพรุ่งนี้ ด้วยความกลัวลืมเอาไปมาก จึงเอากระเป๋าใส่เอกสารไปแขวนไว้ตรงหน้าประตู (จะได้ไม่ลืม) ภรรยาเดินผ่านมาเห็น จึง “หวังดี” เอาไปเก็บในห้องให้เพื่อความเรียบร้อย ผลคือสามีลืมเอาไป แน่นอนว่าความหวังดีที่ผลร้ายแบบนี้มักทำให้อีกฝ่ายโกรธหรือไม่พอใจ หากมาวิเคราะห์ความหวังดีประเภทนี้จะพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมักประกอบด้วย 2 องค์ประกอบ คือ
- คิดไม่รอบคอบ มักคิดเองเออเองว่าสิ่งที่ทำมันดี โดยไม่เข้าใจเหตุการณ์อย่างถ่องแท้ เช่น ตัวอย่างกรณีแรกจะเห็นว่า หากคิดให้ดีๆ ควรจะสงสัยและคิดว่าทำไมสามีต้องเอากระเป๋าไปแขวนไว้ตรงหน้าประตูด้วย น่าจะมีเหตุผลบางอย่าง แต่พอไม่ทันคิด จึงกลายเป็นคิดเอาเองว่าการเอาไปเก็บในห้องให้เรียบร้อยเป็นสิ่งที่ดี จึงเกิดปัญหาขึ้น
- ขาดการสื่อสารที่ดี ในทั้งสองกรณีที่ยกตัวอย่างจะเห็นว่าปัญหาจะไม่เกิดเลยหากเราถามอีกฝ่ายหนึ่งก่อนว่าที่ทำแบบนั้นมีเหตุผลอะไรรึเปล่า หรือก่อนจะเอาไปเก็บถามก่อนว่าอีกฝ่ายต้องการหรือไม่ ก็จะหลีกเลี่ยงผลเสียที่ตามมาได้แล้ว
แนวทางแก้ไข จากที่วิเคราะห์ไปจะเห็นว่าความหวังดีแต่ผลร้ายนี้สามารถแก้ได้ 2 แบบ คือ คิดให้รอบคอบก่อน หากไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ทำมันจะดีจริงก็ชะลอไว้ อย่าพึ่งทำ และ สื่อสารกันให้ดี ถามอีกฝ่ายหนึ่งก่อนว่าต้องการความหวังดีของเราหรือ เท่านี้ก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาได้แล้ว
2. หวังดีแต่น่ารำคาญ
กรณีนี้อาจไม่ได้มีผลร้ายอะไรตามมา แต่ความไม่พอใจมักเกิดจากความ “เยอะ” หรือ “มาก” เกินไปของความหวังดี ตัวอย่างที่เห็นได้บ่อย คือการถามหรือบ่นอะไรซ้ำๆ เช่น แม่เป็นห่วงลูกสาวมาก เลย “หวังดี” โทรถามทุกเย็นกว่าเลิกเรียนแล้วกลับบ้านรึยัง ซึ่งทำให้ลูกสาวหงุดหงิดและรำคาญ หรือฝ่ายหญิงพูดเตือนแฟนทุกครั้งที่เล่นเกมส์เพราะ “หวังดี” กลัวเสียสายตา จนอีกฝ่ายเบื่อ
แนวทางแก้ไข กรณีนี้จะเห็นว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ผลลัพธ์ แต่สิ่งที่แต่สร้างปัญหาคือความ “มากเกินไป” ของความหวังดี ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากความกังวลของคนที่หวังดีนี่แหละ ดังนั้นการแก้คือต้องรู้ตัวแล้วลดความเยอะหรือบ่อยลงไป และหาทางจัดการกับความกังวลของตัวเองให้ได้
3. หวังดีแต่ผิดเวลา
กรณีนี้คือตัวสิ่งที่ทำไม่ใช่ปัญหาแต่ปัญหาคือดันผิดเวลา ผิดกาลเทศะ จึงทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดี เช่น รู้มาว่าเพื่อนพึ่งหย่ากับสามี พอเจอหน้าเพื่อนเลยรีบถามด้วยความเป็นห่วงว่า “แกเป็นไงมั่ง เห็นว่าพึ่งหย่าเหรอ” ต่อหน้าเพื่อนอีกเป็นสิบคน ซึ่งความจริงเพื่อนก็อยากระบายและปรึกษาอยู่ แต่ไม่ใช่ต่อหน้าคนเยอะขนาดนี้
แนวทางแก้ไข ก่อนแสดงความหวังดี ควรมองรอบๆ ก่อนสักนิดว่าจังหวะและเวลามันเหมาะสมจริงหรือไม่ก่อนที่จะแสดงความหวังดีออกไป
4. หวังดีแต่เป็นคนที่ไม่ใช่
กรณีนี้พูดง่ายๆ เลยคือ คนไม่ใช่ทำอะไรก็ผิด แม้ผลจะดียังไง อีกฝ่ายก็ไม่ชอบอยู่ดี บางครั้งอาจเกิดจากระดับความสัมพันธ์ที่ไม่ได้สนิทสนมมากเพียงพอ
แนวทางแก้ไข กรณีนี้ก่อนแสดงความหวังดีควรพิจารณาก่อนว่าความสัมพันธ์ของเรากับอีกฝ่ายเป็นอย่างไร เราเป็นคนที่อีกฝ่ายอยากได้รับความหวังดีหรือไม่ หากในกรณีที่ทำไปแล้วอีกฝ่ายไม่สนใจในความหวังดีก็คงต้องทำใจและเลิกทำไป หรือหากยังอยากพยายามทำให้ต่อไป (ซึ่งมักเกิดขึ้นในกรณีการตามจีบ) ก็ต้องทำใจยอมรับไว้ก่อนเลยว่าอีกฝ่ายอาจไม่โอเคด้วย
ดังนั้นแล้วหากให้สรุปง่ายๆ ก็คือ ต้องตระหนักไว้เสมอว่าความหวังดีไม่ได้แปลว่ามันจะดีทุกครั้ง ความหวังดีนั้นต้อง ถูกเรื่อง ถูกเวลา ถูกคน และไม่มากเกินไป จึงจะเป็นความหวังดีที่ดีจริงๆ
Resource: HealthToday Magazine, No.183 July 2016