ท้องผูกในเด็ก ปัญหาของเจ้าตัวเล็กที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้

พญ. ณัฐธิดา ศรีบัวทอง อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลราชวิถี 

0
806

ท้องผูกเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในเด็ก โดยพบมากถึงร้อยละ 0.5-3.2 ในเด็กทั่วไป ซึ่งเป็นปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญตั้งแต่แรกเริ่ม ถึงแม้ว่าอาการท้องผูกในเด็กส่วนมากจะไม่ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพทางกาย และร้อยละ 90 ของผู้ป่วยไม่มีสาเหตุจากโรคทางกาย แต่อาการท้องผูกสามารถส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ทั้งในด้านสังคม อารมณ์ และการเรียนได้ และหากเป็นเรื้อรังโดยไม่ได้รับการแก้ไข ก็อาจทำให้การรักษายากขึ้นและเกิดผลกระทบต่อเด็กในระยะยาว 

 

ทางการแพทย์นิยามท้องผูกว่าเป็นอาการถ่ายอุจจาระที่ผิดปกติ กล่าวคือ ถ่ายห่างมากหรือถ่ายยากผิดปกติเป็นเวลานานตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป และก่อให้เกิดผลกระทบต่อเด็ก โดยอาการแสดงของท้องผูกในเด็กที่พบได้บ่อย เช่น ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 2 ครั้งใน 1 สัปดาห์ อุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนใหญ่ แข็ง หรือถ่ายอุจจาระแล้วเจ็บ อุจจาระเล็ดอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือมีพฤติกรรมกลั้นอุจจาระ 

 

การวินิจฉัยท้องผูกไร้โรคทางกายนั้น แพทย์จะต้องซักประวัติและตรวจร่างกายโดยละเอียดเพื่อหาสัญญาณเตือนก่อน หากการซักประวัติและตรวจร่างกายไม่พบสัญญาณเตือน แพทย์จึงจะให้การวินิจฉัยและพิจารณาให้การรักษาโดยสรุป 

แนวทางในการรักษาหลักดังนี้ 

  1. การใช้ยา
  • Osmotic laxatives 

ปัจจุบันแนะนำใช้ยาระบายกลุ่ม osmotic laxatives (ยาระบายกลุ่มออสโมติก) ได้แก่ lactulose (แลคตูโลส), PEG และ milk of magnesia ในการรักษาท้องผูกในเด็ก เนื่องจากเป็นยาที่มีความปลอดภัยสูงแม้ใช้ในระยะยาว ประโยชน์ของยาระบายกลุ่มนี้เพื่อปรับให้อุจจาระนิ่ม ลูกน้อยไม่เจ็บขณะขับถ่าย เบ่งอุจจาระได้ง่ายขึ้น เลิกพฤติกรรมกลั้นอุจจาระ และเพิ่มความถี่ในการขับถ่ายจนเป็นปกติ การรักษาจึงแนะนำให้รับประทานยาระบายอย่างต่อเนื่องจนลูกถ่ายเป็นปกติ และให้ต่อไปเป็นเวลานานอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์ จึงจะพิจารณาปรับลดขนาดยาระบายทีละน้อยจนหยุดยาระบายในที่สุด 

  • Stimulant laxatives 

อาจพิจารณาใช้ยากลุ่ม stimulant laxatives ได้แก่ senna และ bisacodyl ขนาดต่ำ ๆ เสริมในเด็กท้องผูกไร้โรคทางกายอายุมากกว่า 2 ปีได้ หากใช้ยากลุ่ม osmotic laxatives แล้วไม่ได้ผล และไม่แนะนำให้ใช้นานเกิน 3 เดือน 

 

  1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

คุณพ่อคุณแม่ควรช่วยฝึกให้ลูกนั่งถ่ายอุจจาระเป็นเวลา อาจฝึกให้นั่งถ่ายหลังมื้ออาหารให้เป็นนิสัย (โดยเฉพาะมื้อเช้า) นอกจากนั้นควรส่งเสริมให้ลูกออกกำลังกายเป็นประจำ 

 

  1. การปรับเปลี่ยนอาหาร

รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ควรให้ลูกน้อยได้รับกากใยอาหารและน้ำในปริมาณที่เหมาะสมกับวัย (ไม่แนะนำให้มากเกินกว่าที่ต้องการตามอายุ) โดยเน้นกากใยอาหารจากอาหารธรรมชาติที่หลากหลาย เพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพในองค์รวม 

 

ท้องผูกในเด็กเป็นภาวะที่พบได้บ่อย และสามารถรักษาได้ไม่ยากหากได้รับการวินิจฉัยและดูแลรักษาอย่างรวดเร็วคุณพ่อคุณแม่จึงต้องให้ความสำคัญกับภาวะนี้ เพื่อสุขภาพองค์รวมที่ดีของลูกน้อยในระยะยาว 

 

เอกสารอ้างอิง 

  1. แนวทางเวชปฏิบัติการดููแลรักษาเด็กท้องผูกไร้โรคทางกาย พ.ศ.2565 (Clinical Practice Guideline for Functional Constipation). Thai Society of Pediatric Gastroenterology and Hepatology. February 25, 2022. Accessed August 22, 2023. https://www.pthaigastro.org/Document_Preview.aspx?TID=221
  2. Laxatives. National Health Service. October 11, 2022. Accessed August 22, 2023. https://www.nhs.uk/conditions/laxatives/
  3. Laxatives. Europe PMC. February 7, 2019. Accessed August 22, 2023. https://europepmc.org/article/nbk/nbk537246
  4. การดููแลและป้องกันโรคท้องผูกในเด็ก. Thai Pediatrics. May 15, 2023. Accessed August 22, 2023. https://www.thaipediatrics.org/?p=2803
  5. Constipation in children. National Health Service. August 2, 2023. Accessed August 22, 2023. https://www.nhs.uk/conditions/baby/health/constipation-in-children/
  6. The Royal Children’s hospital Melbourne. The Royal Children’s Hospital Melbourne. March 2020. Accessed August 22, 2023. https://www.rch.org.au/clinicalguide/guideline_index/constipation/