อาหารบำบัดระดับน้ำตาล

เอกหทัย แซ่เตีย นักกำหนดอาหาร

0
10331

โรคเบาหวานเป็นอีกหนึ่งในโรคเอ็นซีดีหรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่อาหารมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับผลการรักษา ฉบับนี้ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่างกรณีศึกษาของผู้ป่วยรายหนึ่งขึ้นมาให้ผู้อ่านได้ลองคิดตามว่าถ้าท่านเป็นผู้ป่วยรายนี้จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไรเพื่อให้ตนเองมีระดับน้ำตาลในเลือดที่ดีขึ้น

ผู้ป่วยรายนี้เป็นเพศหญิง อายุ 45 ปี เมื่อ 3 ปีที่แล้วอยู่ๆ มีอาการอ่อนเพลีย ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ แพทย์วินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคเบาหวาน หลังพบแพทย์ผู้ป่วยพยายามใช้น้ำตาลเทียมแทนน้ำตาลทราย อดอาหารเย็นเพื่อลดน้ำหนักตามที่แพทย์แนะนำ แต่น้ำหนักก็ไม่ได้ลดลงอย่างที่ตั้งใจ ผู้ป่วยบ่นอยากกินขนมหวานมากๆ และรู้สึกท้อที่พยายามควบคุมอาหารแล้วแต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นเลย ทั้งที่ก็กินยาลดน้ำตาลในเลือดอย่างต่อเนื่องไม่เคยขาด เจาะน้ำตาลตอนเช้าตามที่แพทย์แนะนำทุกประการ แต่น้ำตาลที่เจาะได้อยู่ในช่วง 45 – 220 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (มก./ดล.) วันนี้อดอาหารมาพบแพทย์ตามนัด ปรากฏว่าตรวจพบน้ำตาลในเลือด 190 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร น้ำตาลสะสม (HbA1C) 8.2% น้ำหนัก 65 กิโลกรัม ส่วนสูง 155 เซนติเมตร ดัชนีมวลกาย 27.06 (อ้วน)

ผู้ป่วยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าบางคืนเธอมีอาการหิว ใจสั่น และมีเหงื่อออกมาก จนต้องลุกขึ้นมาดื่มน้ำหวาน จากนั้นอาการที่ว่าก็จะหาย ซักประวัติอาหารพบว่า เช้า กินข้าวเหนียวหมูปิ้ง 5 ไม้ กาแฟดำใส่นมจืดไขมันต่ำ 1 กล่องเล็ก ไม่ใส่น้ำตาล 1 แก้ว กลางวัน กินข้าวราดแกง 1 จาน นมเปรี้ยวสูตรน้ำตาลน้อย 1 ขวด บ่าย กินกล้วยหอม 1 ผล หรือ น้ำผลไม้ 1 แก้ว เย็น งดข้าว กินสลัดผักใส่มันฝรั่งคลุกมายองเนส ฟักทองย่าง แอปเปิ้ล 1 ลูก องุ่น 1 พวงเล็ก กล้วยหอม 1 ลูก ไม่ใส่น้ำสลัด แต่ใส่โยเกิร์ตรสธรรมชาติ 1 ถ้วยแทน ก่อนนอน นมอุ่น 1 แก้ว บางวันมื้อเย็นกินแอปเปิ้ล 1 ผล และไม่ได้ดื่มนมก่อนนอน

คำแนะนำ

จากข้อมูลดัชนีมวลกายของผู้ป่วยถือว่าเกินเกณฑ์ ดังนั้นการที่ผู้ป่วยมีความคิดที่จะลดน้ำหนักถือเป็นสิ่งที่ดี โดยปกติการลดน้ำหนักเพียง 5-10% ของน้ำหนักตัวก็สามารถช่วยให้มีน้ำตาลในเลือดที่ดีขึ้นได้

หากพิจารณารูปแบบการกินของผู้ป่วยพอสันนิษฐานได้ว่า ผู้ป่วยยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับอาหารที่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง โดยเฉพาะมื้อเย็นที่มีความตั้งใจหลีกเลี่ยงการกินข้าว เลือกกินสลัดกับผลไม้แทน ความจริงแล้วผลไม้และผักบางชนิด เช่น มันฝรั่ง ฟักทอง เป็นผักที่มีแป้งมากไม่ต่างจากข้าว อีกทั้งเครื่องดื่มประเภทนมและผลิตภัณฑ์จากนมก็มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตพอๆ กับข้าวเช่นกัน เป็นผลให้น้ำตาลที่เจาะได้ในตอนเช้าของผู้ป่วยยังคงสูงเกินเกณฑ์ (เกณฑ์ปกติ 70 – 110 มก./ดล.) อีกทั้งบางวันมีการงดอาหารเย็น กินเพียงแอปเปิ้ลผลเดียว ทำให้ร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรตไม่พอจึงทำให้มีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ (น้ำตาลน้อยกว่า 70 มก./ดล.) จนบางคืนต้องตื่นมาดื่มน้ำหวาน ดังนั้นในเบื้องต้นผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ดังนี้

  • ทำความเข้าใจเรื่องอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนประกอบหลัก เพราะอาหารเหล่านี้หากกินมากก็ทำให้น้ำตาลขึ้นได้ อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนประกอบหลัก ได้แก่
    • ข้าวแป้ง เช่น ข้าว ข้าวเหนียว เส้นขนมจีน เส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นสปาเก็ตตี้ ขนมปัง ข้าวโพด เผือก มัน
    • ผลไม้ น้ำผลไม้ และผักบางชนิด เช่น แครอท ฟักทอง
    • นมและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต ไอศกรีม
    • น้ำตาล เช่น น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลมะพร้าว น้ำผึ้ง น้ำหวาน น้ำเชื่อมต่างๆ ลูกอม
  • กินให้ครบ 3 มื้อ โดยแต่ละมื้อควรมีปริมาณอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน
  • เพิ่มผัก เนื่องจากผักอุดมไปด้วยใยอาหาร เมื่อเข้าไปที่ลำไส้จะทำหน้าที่คล้ายตาข่ายคอยขวางกั้นน้ำตาลไม่ให้เข้าเส้นเลือดไว น้ำตาลในเลือดจึงเพิ่มขึ้นอย่างช้า โดยพยายามเลือกกินผักให้ได้หลากหลายสี เพราะสารสีในผัก (รงควัตถุ) คือสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดการอักเสบในเส้นเลือดที่ต้องเจอกับน้ำตาลในเลือดสูงๆ ตลอดเวลา จึงช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของผู้ป่วยเบาหวาน
  • จำกัดผลไม้ ให้เหลือประมาณ 1 – 2 จานเล็กต่อวัน เช่น กล้วยน้ำว้า/แอปเปิ้ล/ส้ม/ฝรั่ง 2 ผลต่อวัน หรือกล้วยหอม 1 ผลต่อวัน หรือ แก้วมังกร/สับปะรด/มะละกอ/แคนตาลูป 12 – 16 ชิ้นคำต่อวัน โดยกินเป็นของว่างหลังอาหารประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง
  • ดื่มนมจืดไขมันต่ำ 1 แก้วต่อวัน
  • เลือกกินของหวาน กรณีต้องการกินของหวานให้เลือกผลไม้ลอยแก้ว เฉาก๊วย โดยงดใช้น้ำตาลหรือน้ำเชื่อม แต่ให้ใช้น้ำตาลเทียมละลายน้ำเป็นน้ำเชื่อมแทน สามารถเพิ่มรสชาติโดยการเติมน้ำมะนาวลงไปในผลไม้ลอยแก้วเล็กน้อย
  • ฝึกวิเคราะห์อาหาร เมื่อเจาะน้ำตาลในเลือดแล้วพบว่าสูง ควรย้อนกลับไปดูอาหารที่กินในมื้อก่อนหน้าแล้วฝึกวิเคราะห์ดูว่าอาหารอะไรที่ทำให้น้ำตาลในเลือดเราสูง เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงหรือลดปริมาณลงในครั้งถัดไป
  • เรียนรู้ดูแลตนเองเมื่อน้ำตาลต่ำ เมื่อมีอาการน้ำตาลต่ำให้ดื่มน้ำหวาน โดยผสมน้ำหวานเข้มข้น 2 ช้อนโต๊ะกับน้ำเปล่า หรือกินลูกอม 3 – 5 เม็ด จากนั้นรอ 15 นาที หากอาการไม่ดีขึ้นให้ทำซ้ำแบบเดิม
  • ออกกำลังกาย โดยการเดิน 30-45 นาทีต่อวัน และออกกำลังโดยการยกน้ำหนักประมาณ 15 นาที 2- 3 วันต่อสัปดาห์ เพื่อเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ ช่วยให้อัตราการเผาผลาญสารอาหารเพิ่มขึ้นจากเดิม

TIPS: กินแบบเบาหวาน

การเลือกกินอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เน้นการควบคุมปริมาณคาร์โบไฮเดรต และเพิ่มใยอาหาร โดยมีหลักในการกินต่อมื้อดังนี้

จานขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 9 นิ้ว ลึก 1/2 นิ้ว แบ่งเป็น 3 ส่วน

    • ผักครึ่งจาน โดยเลือกผักหลายสี หลากหลายชนิด จะเป็นผักสุก สลัด หรือซุปผักก็ได้ เช่น ผักกาดขาว ฟักเขียว มะเขือเทศ กะหล่ำปลี แครอท บร็อกโคลี หน่อไม้ฝรั่ง ถั่วแขก แตงกวา คื่นช่าย พริกต่างๆ
    • เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน 1 ใน 4 ของจาน เช่น เนื้อล้วน เนื้ออกไก่ ปลา เนื้อหมูไม่ติดมัน
    • ข้าวแป้งไม่ขัดสี 1 ใน 4 ของจาน เช่น ข้าวกล้อง ถั่วเมล็ดแห้ง มันฝรั่ง ข้าวโพด ฟักทอง เผือก มัน
    • ผลไม้ 1 จานเล็ก
    • นมพร่องมันเนยหรือนมขาดมันเนย 1 แก้ว
    • น้ำมัน ควรเลือกใช้เพียงเล็กน้อย

 

นอกจากการกินอาหารให้เหมาะสมแล้ว ผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ และรู้จักจัดการความเครียดด้วย เพราะมีส่วนช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ และจัดการน้ำตาลสะสมให้น้อยกว่า 6.5% ได้ จึงช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน

 

Resource : HealthToday Magazine, No.179 March 2016