เครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจ

พญ.ปณิชา ตั้งตรงจิตร แพทย์เวชปฎิบัติทั่วไป

0
8251

สำหรับการคลำชีพจรเพื่อวินิจฉัยโรคต่างๆ จากอัตราการเต้นและลักษณะของชีพจรเป็นส่วนหนึ่งของการแพทย์มานานแสนนานแล้ว ทว่า…เครื่องมือที่สามารถวัดและแสดงอัตราการเต้นของหัวใจออกมาได้นั้นเพิ่งจะมีการคิดค้นขึ้นมาเมื่อไม่กี่ร้อยปีมานี้เอง และยิ่งเป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กที่ไร้สาย พกพาได้ดังเช่นที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนั้น เพิ่งถูกผลิตขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ.1977 ที่ประเทศฟินแลนด์ จุดประสงค์หลักของเจ้าเครื่องนี้คือใช้ในการฝึกฝนนักกีฬาสกีทีมชาติ แค่ประวัติความเป็นมาก็พอจะบอกให้รู้แล้วใช่ไหมล่ะค่ะว่าอุปกรณ์ชิ้นนี้เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นเพื่อนคู่ใจของคนรักกีฬาขนาดไหน ถ้าอย่างนั้นเรามาดูเลยดีกว่าค่ะว่าอุปกรณ์ชิ้นนี้มีความจำเป็นและเหมาะสมที่จะจับจองเป็นเจ้าของมากน้อยเพียงใด

ประโยชน์ใช้สอย

ถึงแม้ว่าอัตราการเต้นของหัวใจจะเป็น 1 ใน 4 สัญญาณชีพ (vital sign) เช่นเดียวกับอุณหภูมิกายดังที่ได้กล่าวไปในฉบับที่แล้วเรื่องของปรอทวัดไข้ แต่อัตราการเต้นของหัวใจกลับเป็นสัญญาณชีพที่จะมีประโยชน์ในการวินิจฉัยโรคก็ต่อเมื่อนำไปใช้ประกอบกับสัญญาณชีพอื่นๆ ดังนั้นประโยชน์หลักของการรู้อัตราการเต้นของหัวใจเดี่ยวๆ ก็คือ การนำไปใช้เพื่อกำหนดความเข้มข้นของการออกกำลังกาย

จริงๆ แล้วการออกกำลังกายมีหลายแบบ ทั้งแบบที่เป็นการฝึกฝนเพื่อเพิ่มการเผาผลาญ การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความทนทานของร่างกาย การออกกำลังกายเพื่อฝึกฝนสำหรับแข่งขัน ซึ่งการออกกำลังกายแต่ละแบบนี้มีจุดที่แตกต่างกัน นั่นก็คือ “อัตราการเต้นของหัวใจ”

สมาคมเวชศาสตร์การกีฬาแห่งสหรัฐอเมริกาได้ออกคำแนะนำในปี ค.ศ.2011 สำหรับผู้ใหญ่ทุกคน ว่าควรออกกำลังกายแบบ “แอโรบิก” เป็นเวลา 150 นาทีต่อสัปดาห์

การออกกำลังกายแบบแอโรบิก อธิบายง่ายๆ ก็คือ การออกกำลังกายแบบที่ร่างกายต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นในปริมาณที่มากพอที่จะทำให้หัวใจและปอดได้ทำงานเพิ่มขึ้น เป็นการออกกำลังหัวใจและปอดไปพร้อมๆ กับกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ วิธีสังเกตคือ เวลาออกกำลังกายแบบแอโรบิก หัวใจจะเต้นเร็ว การหายใจจะเร็วขึ้น บ่งบอกว่าร่างกายต้องเผาผลาญพลังงานเพิ่ม จะพูดให้ละเอียดก็ต้องลงลึกถึงระดับอัตราการเต้นของหัวใจ และตรงจุดนี้นี่เองที่เครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจเข้ามามีบทบาท

การออกกำลังกายแบบแอโรบิกนั้น อัตราการเต้นของหัวใจควรจะอยู่ที่ 70-80% ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด ซึ่งเป็นค่าที่แตกต่างกันไปในแต่ละอายุ วิธีหาอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดอย่างง่ายๆ ทำได้โดย เอา 220 ตั้งแล้วหักลบด้วยอายุของตัวเอง เช่น อายุ 30 ปี อัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดก็ควรจะอยู่ที่ 190 ครั้งต่อนาที ไม่ควรเกินนี้เพราะจะเกิดอันตรายได้ และในการออกกำลังกายแบบแอโรบิก อัตราการเต้นของหัวใจก็ควรจะอยู่ที่ 70-80% ของ 190 อีกที หรือราวๆ 130 – 150 ครั้งต่อนาที เพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อหัวใจ ปอดและหลอดเลือดสูงสุด ดังนั้นเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจจึงเป็นสิ่งที่ช่วยการันตีว่าที่เราออกกำลังกายไปนั้นได้สิ่งที่ต้องการแน่ๆ และไม่เกิดอันตราย แต่ส่วนใหญ่ประโยชน์ใช้สอยจะจำกัดอยู่แค่เฉพาะกลุ่มผู้ออกกำลังกายเท่านั้น

การใช้งาน

คงจะต้องบอกว่าง่ายมากๆ ใครที่ใส่นาฬิกาข้อมือเป็น ก็ต้องใช้อุปกรณ์ชิ้นนี้ได้ ส่วนที่ยากกว่าวิธีใช้ก็คือ ใช้อย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด อย่างที่บอกในหัวข้อก่อนหน้านี้ การมานั่งคำนวณอัตราการเต้นของหัวใจอาจจะยุ่งยากไม่น้อย แต่สำหรับเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจบางรุ่นจะมีการเพิ่มฟังก์ชั่นการคำนวณตรงจุดนี้เข้ามาด้วย เพิ่มความสะดวกในการใช้งานมากยิ่งขึ้น เพียงป้อนอายุและข้อมูลส่วนตัวของเราลงไป เครื่องก็จะคำนวณออกมาให้เสร็จสรรพว่าเราต้องออกกำลังกายให้ได้อัตราการเต้นของหัวใจเท่าไหร่ แต่เนื่องจากฟังก์ชั่นนี้ไม่ได้มีอยู่ในทุกๆ เครื่อง บางเครื่องต้องคำนวณเอง การใช้งานจึงอาจจะยุ่งยากขึ้นในบางรุ่น

ราคา

อาจจะเป็นเพราะว่าเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่งจะคิดค้นมาได้แค่ไม่กี่สิบปี ราคาจึงยังไม่เป็นมิตรเท่าไรนัก ในท้องตลาดทุกวันนี้ราคาอยู่ในระดับหลายพันไปจนถึงหลักหมื่น แต่คาดว่าในอนาคต ราคาน่าจะค่อยๆ ลดลงจนอยู่ในระดับที่สามารถจับต้องได้สำหรับทุกเพศทุกวัย

ความทนทาน

เพราะความเป็นอุปกรณ์ใช้ไฟฟ้า การนำไปใช้เวลาออกกำลังกายที่เครื่องต้องสัมผัสกับเหงื่อจึงทำให้อุปกรณ์ชิ้นนี้โดยทั่วไปจะมีอายุการใช้งานอยู่ที่ประมาณ 3 ปี

โดยสรุปคือ อุปกรณ์ชิ้นนี้เหมาะกับนักกีฬา ผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำที่ต้องการเพิ่มสมรรถภาพของร่างกายและต้องการความแม่นยำในการฝึกฝนก็สมควรไปหามาครอบครอง รับรองว่าคุ้มค่าแน่นอนค่ะ

 

Resource : HealthToday Magazine, No. 178 February 2016