เดินทางสบายใจ ปลอดภัยในการขับขี่

พญ.พลอย ลักขณะวิสิฏฐ์ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป

0
1797
ขับขี่ปลอดภัย

เข้าสู่เดือนธันวาคมกันแล้ว หลังจากทำงานหนักมาตลอดทั้งปี หลายท่านคงเตรียมตัวเดินทางเพื่อไปพักผ่อนใน
วันหยุดยาวที่กำลังจะมาถึง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ “อุบัติเหตุ” ซึ่งในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจำนวนไม่น้อย
จากสถิติของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 เกิดอุบัติเหตุจำนวนทั้งสิ้น 3,841 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 423 ราย และผู้บาดเจ็บ 4,005 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา
(ร้อยละ 43.66) และ ขับรถเร็วเกินกำหนด (ร้อยละ 25.23) สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้น และสามารถป้องกัน
ไม่ให้เกิดขึ้นได้

เริ่มจากสิ่งที่สามารถป้องกันได้ง่ายที่สุด แต่หลายคนมักมองข้าม อันดับแรกคือ เมาไม่ขับ หลายคนมักคิดว่าดื่มแค่นิดหน่อยคงไม่เป็นไร น่าจะยังขับรถได้ แต่นั่นเป็นสิ่งที่ผิด มีงานวิจัยจากโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ชี้ว่า ผู้ประสบอุบัติเหตุเกือบครึ่งหนึ่ง (ประมาณ 44.2%) มีการดื่มสุราที่ทำให้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงมากกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นระดับที่ผิดกฎหมาย โดยปัจจุบัน มีการออก พรบ. จราจรฉบับใหม่สำหรับกรณีเมาแล้วขับ จากเดิมจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000 – 20,000 บาท เป็นอัตราบทลงโทษใหม่ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 10,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยศาลสามารถสั่งพักใช้ใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบขับขี่ได้ นอกจากนี้ยังสามารถสั่งยึดรถไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน แต่ถ้าหากทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายหรือถึงแก่ชีวิต โทษก็จะยิ่ง
มากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว เห็นแบบนี้แล้วในวันปีใหม่ที่จะถึงนี้หากจะดื่มฉลองนอกบ้านก็ให้เพื่อนที่ไม่ดื่มมาขับรถให้ หรือใช้รถโดยสารสาธารณะแทนนะคะ เพื่อที่ปีใหม่นี้จะได้ท่องเที่ยวอย่างสนุกและปลอดภัยค่ะ

อันดับสอง คือ การขับรถเร็วเกินกำหนด โดยปกติแล้วข้างทางจะมีป้ายจำกัดความเร็วตั้งอยู่ หากเป็นเส้นทางสายมอเตอร์เวย์ที่วิ่งระหว่างเมือง เช่น กรุงเทพ – ชลบุรี จะจำกัดความเร็วอยู่ที่ไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยจะมีกล้องและเซนเซอร์ตรวจจับความเร็วอยู่ หากขับรถเร็วเกินกำหนดจะมีใบสั่งส่งตรงถึงบ้านเลยทีเดียว การกำหนดความเร็วนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนทุกท่าน ทำให้มีระยะเวลาตัดสินใจ หากรถคันข้างหน้ามีปัญหาหรือเบรกกะทันหัน ผู้ขับขี่จะได้เหยียบเบรกชะลอรถได้ทัน

อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน คุณรู้หรือไม่ว่าในประเทศไทยมีจำนวนรถจักรยานยนต์สะสมสูงถึง 20 ล้านคัน เฉพาะเดือนตุลาคม 2561 มีรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่สูงถึง 153,478 คัน ซึ่งรถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง โดยในปี 2559 จากจำนวนผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในประเทศไทย พบว่ามีภาพรวมการสวมหมวกนิรภัยเพียงร้อยละ 43 เท่านั้น ซึ่งมีแนวโน้มค่อนข้างคงที่ แต่หากมองลึกลงในรายละเอียด ผู้ขับขี่มีอัตราการสวมหมวกนิรภัยเพียงแค่ร้อยละ 51 ในขณะที่ผู้โดยสารมีอัตราการสวมหมวกนิรภัยน้อยลงไปอีก เหลือเพียงแค่ร้อยละ 20 เท่านั้น

เพราะอะไรคนไทยจึงไม่นิยมสวมใส่หมวกกันน็อค? และจะทำอย่างไรเพื่อให้ผู้ที่ใช้รถจักรยานยนต์สวมหมวกกันน็อคมากขึ้น? ยังคงเป็นคำถามที่ยังไม่สามารถตอบได้อย่างกระจ่างนัก แต่มีรายงานจากมูลนิธิไทยโรดส์และเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน ปี 2559 ระบุไว้ว่า สาเหตุที่คนไทยไม่สวมหมวกนิรภัยเนื่องจากรู้สึกไม่มีความเสี่ยงที่จะถูกตรวจจับ ไม่ค่อยพบเห็นด่านตรวจ ทราบว่าด่านจะมาตรวจเวลาใด และไม่ทราบว่าการที่ผู้โดยสาร
ไม่สวมหมวกนิรภัยนั้นเป็นสิ่งที่ “ผิดกฎหมาย” แต่แท้ที่จริงแล้วจุดประสงค์ของกฎระเบียบที่สร้างขึ้นมาก็เพื่อมุ่งหวังให้เกิดความปลอดภัยขณะขับขี่ ดังนั้นหลังจากอ่านบทความนี้แล้ว หมอเชื่อว่าคงมีหลายคนที่เปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการใส่หมวกกันน็อคมากขึ้น

ขับขี่ปลอดภัย

ประเภทของหมวกกันน็อค

หมวกกันน็อคมีทั้งหมด 5 ประเภท ราคามีตั้งแต่ไม่กี่ร้อยจนถึงหลายหมื่นบาท แต่ที่ใช้กันโดยทั่วไปจะเป็น 3 ประเภทแรกเท่านั้น

ประเภทที่ 1 แบบเต็มหน้า เป็นหมวกกันน็อคที่ครอบศีรษะได้ทั้งหมด ตั้งแต่คางจนถึงท้ายทอย จึงสามารถป้องกันศีรษะของเราได้ดีที่สุด แต่ข้อเสียคือสวมใส่ยากกว่าแบบอื่น และอาจทำให้รู้สึกอึดอัดในผู้ที่ไม่เคยชินได้บ้าง

ประเภทที่ 2 แบบเต็มใบหรือเปิดหน้า เป็น
หมวกกันน็อคที่ครอบคลุมเพียงแค่สามในสี่ของศีรษะเท่านั้น ไม่มีการป้องกันบริเวณคาง แต่มีกระจกบังลมลงมาถึงบริเวณคาง สามารถกันลมและฝุ่นได้ ส่วนด้านหลังจะปิดลงมาถึงบริเวณท้ายทอย เหมาะสำหรับการขี่ระยะใกล้ ๆ หรือในเมืองที่ความเร็วไม่มากนัก

ประเภทที่ 3 แบบครึ่งใบ หมวกกันน็อคประเภทนี้สามารถปกป้องศีรษะได้เพียงแค่ครึ่งบนเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันบริเวณคางและท้ายทอยซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญได้ เป็นหมวกกันน็อคที่พบบ่อยมากที่สุด เวลาซื้อมอเตอร์ไซค์คันใหม่มักจะได้หมวกกันน็อคประเภทนี้เป็นของแถม แต่ที่จริงแล้วเป็นหมวกกันน็อคที่ปลอดภัยน้อยที่สุดในบรรดาหมวกกันน็อคทั้งหมด

ประเภทที่ 4 หมวกกันน็อคแบบออฟโรดหรือมอเตอร์ครอส ออกแบบสำหรับขี่ในเส้นทางที่มีอุปสรรค (Off Road) ลักษณะคล้ายแบบเต็มหน้า แต่มีส่วนของที่บังแดด และส่วนของคางที่ยื่นออกมาป้องกันมากขึ้น

ประเภทที่ 5 หมวกกันน็อคแบบ Modular เป็นหมวกกันน็อคที่ผสมเอาข้อดีของหมวกกันน็อคแบบเต็มหน้าและเต็มใบมาผสมกัน สามารถดันส่วนคางยกขึ้น ทำให้สามารถพูดคุย แวะพัก ดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหารโดยที่ไม่ต้องถอดหมวกได้

หลักการในการเลือกซื้อหมวกกันน็อค

  • วัดเส้นรอบวงศีรษะ โดยวัดส่วนที่กว้างที่สุดของศีรษะ ตั้งแต่บริเวณเหนือคิ้วขึ้นไปเล็กน้อยจนถึงบริเวณท้ายทอยด้านหลังที่นูนออกมา แล้วนำค่าไปเทียบกับขนาดของแต่ละยี่ห้อ ซึ่งแต่ละยี่ห้ออาจจะไม่เท่ากัน ก่อนสวมหมวกกันน็อคให้สวมโม่งคลุมศีรษะก่อน และรัดสายรัดให้เรียบร้อย ทดสอบโดยการหันซ้ายขวาด้วยตนเอง หรือให้ผู้อื่นช่วยจับหันซ้ายขวา หากหมวกพอดีกับศีรษะ หมวกจะหันตามศีรษะไปทางเดียวกัน แต่ถ้าหากไม่พอดี จะรู้สึกว่าศีรษะจะสามารถขยับภายในหมวกได้ รวมถึงบริเวณอื่น ๆ ของหมวกกันน็อคจะต้องไม่กดบีบศีรษะ ใบหน้า และคาง
  • ควรเลือกหมวกกันน็อคที่น้ำหนักไม่มากเกินไป หากน้ำหนักมากจะทำให้เกิดความเมื่อยล้าและลดความคล่องตัวลง
  • เลือกกระจกบังลมที่แข็งแรง กันรอยขีดข่วน และรองรับแรงกระแทกจากเศษดินหรือหินได้เป็นอย่างดี
  • เวลาที่เกิดอุบัติเหตุต้องสามารถถอดหมวกกันน็อคได้อย่างรวดเร็วภายใน 30 วินาที และหากหมวกกันน็อคใบนั้นเคยเกิดอุบัติเหตุมาแล้ว ควรเปลี่ยนเป็นหมวกกันน็อคใบใหม่ เนื่องจากโฟมด้านในจะไม่คืนตัวหลังจากได้รับแรงกระแทก ซึ่งหมวกกันน็อคใบนั้นจะไม่สามารถป้องกันศีรษะได้อีก
  • ตัวเลือกเสริมอื่น ๆ สำหรับหมวกกันน็อค เช่น สามารถถอดบุนวมออกมาทำความสะอาดได้หรือไม่ หรือมีการติด Bluetooth เชื่อมต่อกับโทรศัพท์ ก็จะทำให้สามารถรับสายโทรศัพท์ได้สะดวกยิ่งขึ้น

ในปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง นอกจากการวางแผนท่องเที่ยวแล้ว อย่าลืมใส่ใจกับความปลอดภัยบนท้องถนน เพื่อให้ปีใหม่นี้เป็นปีใหม่ที่มีความสุข อยู่พร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว ไม่เกิดความสูญเสียทั้งต่อตัวเราเองและคนที่เรารักนะคะ…หมอพลอย

ข้อมูลอ้างอิง

  • มูลนิธิไทยโรดส์และเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน
  • http://trso.thairoads.org/resources/5938
  • http://medinfo.psu.ac.th/smj2/26_2/pdf26_2/03prasert.pdf
  • http://apps.dlt.go.th/statistics_web/statistics.html

Resource: HealthToday Magazine, No.212 December 2018