เคมีบำบัด ผลข้างเคียงที่รับมือได้

อ.เอกหทัย แซ่เตีย นักกำหนดอาหาร

0
6259
รับมือเคมีบำบัด

ก่อนเข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัด หากประเมินภาวะโภชนาการแล้วพบว่ามีความเสี่ยงปานกลางถึงสูง ผู้ป่วยควรเพิ่มการรับประทานอาหารว่างที่ชื่นชอบเพื่อเพิ่มน้ำหนักตัว และป้องกันน้ำหนักตัวลดลง ผู้ป่วยระยะนี้สามารถรับประทานอาหารได้ปกติ แต่ควรหลากหลายและครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ โดยอาจนอนพักช่วงกลางวันอย่างน้อย 1 – 2 ชั่วโมงต่อวัน และทำจิตใจให้พร้อมรับการรักษา ไม่เครียดหรือวิตกกังวล

เมื่ออยู่ระหว่างให้เคมีบำบัด ผู้ป่วยยังคงรับประทานอาหาร 5 หมู่ได้ตามปกติ แต่ผู้ป่วยบางส่วนมักมีอาการข้างเคียงที่ส่งผลต่อภาวะโภชนาการ สำหรับผู้ที่มีอาการข้างเคียงให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามคำแนะนำต่อไปนี้

ความอยากอาหารลดลง

  • รับประทานอาหารปริมาณน้อย แต่บ่อยมื้อ
  • เลือกเมนูที่ชอบ และให้พลังงานและโปรตีนสูง
  • หลีกเลี่ยงเมนูน้ำในอาหารมื้อหลัก
  • จัดสิ่งแวดล้อมให้ผ่อนคลาย ผู้ดูแลอาจรับประทานเป็นเพื่อน จะช่วยให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้ดีขึ้น

น้ำหนักลด เม็ดเลือดต่ำ

  • รับประทานโปรตีนเพิ่ม โดยเลือกเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่าย เช่น ปลา ไข่ เต้าหู้
  • หากน้ำหนักลดอย่างต่อเนื่องควรเพิ่มอาหารเหลว เช่น น้ำผลไม้ ซุป โยเกิร์ต ไอศกรีม เป็นต้น

โลหิตจางและเม็ดเลือดแดงต่ำ

  • รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงก่อนและหลังการได้รับเคมีบำบัด เช่น เนื้อสัตว์ ผักใบเขียวเข้ม แต่หากโลหิตจางมาก แพทย์อาจจำเป็นต้องให้ยากระตุ้นเม็ดเลือด

แผลในช่องปาก ปากแห้ง คอแห้ง

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอวันละ 10 แก้ว
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ด เปรี้ยวจัด อาหารร้อน อาหารที่แข็งหรือกรอบ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
  • อมลูกอมเพื่อกระตุ้นการหลั่งน้ำลาย
  • กลั้วคอด้วยน้ำเกลือเป็นประจำโดยผสมเกลือ 1 ช้อนชาต่อน้ำ 1 แก้ว

การรับรสและกลิ่นเปลี่ยน

  • ดูแลรสชาติอาหาร ปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม
  • อาจใช้สมุนไพรช่วยแต่งกลิ่น เช่น ใบกะเพรา โหระพา
  • หลีกเลี่ยงอาหารมัน เพราะทำให้ปุ่มรับรสทำงานแย่ลง

คลื่นไส้อาเจียน

  • อาหารอ่อน ย่อยง่าย รสไม่จัดเกินไป
  • รับประทานปริมาณน้อย แต่บ่อยมื้อ
  • เสริมของว่างที่ให้พลังงานสูง เช่น ไอศกรีม ซุปข้น
  • หลีกเลี่ยงอาหารมัน

ท้องเสีย

  • รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย
  • งดอาหารรสจัด อาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่เสี่ยงทำให้ท้องเสียเพิ่ม เช่น อาหารหมักดอง อาหารที่ปรุงไม่สุก
  • ดื่มน้ำต้มสุกให้เพียงพอ อาจดื่ม 1 แก้วทุกครั้งหลังถ่ายเหลว
  • ดูแลสุขอนามัยให้สะอาด

ท้องผูก

  • ดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว
  • รับประทานอาหารที่ให้กากใยสูง เช่น ผัก ธัญพืช ถั่วต่าง ๆ หากรับประทานได้ไม่มากให้นำไปปั่นแล้วดื่มพร้อมกาก

ท้องอืด

  • รับประทานอาหารไขมันต่ำ ย่อยง่าย
  • อาหารบางชนิดมีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการท้องอืด เช่น ขิง สาระแหน่ ขมิ้นชัน น้ำทับทิม น้ำว่านหางจระเข้ ลูกพรุน น้ำมะนาวผสมน้ำอุ่น เป็นต้น
  • งดอาหารที่ทำให้ท้องอืด เช่น ผักดิบ ถั่วงอก หน่อไม้ หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพด ขนุน น้ำอัดลม
  • หลีกเลี่ยงการดูดน้ำจากหลอด การเคี้ยวหมากฝรั่ง และลดการคุยระหว่างกินอาหาร
  • เพิ่มการเคลื่อนไหว กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้
  • หากอาการท้องอืดดีขึ้นควรค่อย ๆ เพิ่มการรับประทานผัก ธัญพืชให้มากขึ้น

หากพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามที่แนะนำข้างต้นแล้ว แต่ยังพบว่าผู้ป่วยมีมีอาการอ่อนแรง มีความเสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการในระดับปานกลางถึงสูงอยู่ ควรหาเวลาพักผ่อนเพิ่ม และปรึกษาแพทย์หรือนักกำหนดอาหารเพื่อเสริมอาหารทางการแพทย์สูตรที่เหมาะสมต่อไป

 

Resource: HealthToday Magazine, No.201 January 2018