เฝือกดามกระดูก

นพ.ไพสิทธิ์ วรปาณิ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ข้อเข่า ข้อสะโพก

0
28159

ต่อเนื่องจากครั้งที่แล้ว ที่หมอได้พูดถึงความมหัศจรรย์ของร่างกายที่สามารถรักษากระดูกที่หักได้เอง แต่ในบางครั้งเราก็ต้องการตัวช่วยบ้างเหมือนกัน จุดมุ่งหมายของการรักษากระดูกที่หักก็เพื่อ 1.ให้กระดูกติดตามกำหนดโดยพยายามให้กระดูกได้อยู่นิ่งที่สุด และ 2.ให้กระดูกติดตามแนวเดิมและสามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ ดังนั้นจึงมีวิธีการรักษาต่าง ๆ นานา ซึ่งเราจะมาดูกันในบทความนี้ครับ

แรกทีเดียวลองหลับตาย้อนไปในสมัยอียิปต์ ก็เริ่มมีการค้นพบภาพเขียนที่มีการดามกระดูกที่หักด้วยเปลือกไม้ห่อด้วยผ้าลินินกันแล้ว คงเลียนแบบมาจากต้นไม้ที่จะโคนล้มแล้วเราหาไม้อะไรมาดามไว้ จนมาถึงยุคกรีกโรมัน ฮิปโปเครติส (บิดาแห่งวงการแพทย์) ก็ทำที่ดามโดยใช้ยางไม้และแวกซ์มาผสมทำเป็นเฝือกให้ทหารที่บาดเจ็บ ต่อมาช่วงศตวรรษที่ 15 Ambroise Paré เดิมทีเป็นช่างตัดผม (สมัยก่อนช่างตัดผมมักจะชำนาญพวกการใช้มีด กรรไกร เลยมักทำหน้าที่รักษาทหารที่บาดเจ็บ ) ก็พยายามหาวัสดุที่จะมาทำเป็นเฝือก มีการใช้แป้ง ไขมันสัตว์ หรือพวกกระดาษผสมแวกซ์มาประยุกต์ทำเป็นเฝือกดามทหารจนได้รับแต่งตั้งเป็นแพทย์ประจำกองทัพฝรั่งเศส แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องการเซ็ตตัวของเฝือกที่ต้องใช้เวลา 2-3 วันเต็ม ๆ ทำให้ไม่สามารถตรึงกระดูกที่หักให้อยู่ในแนวในช่วงแรกได้ กระดูกที่หักก็เลยมักจะติดแบบบิด ๆ เบี้ยว ๆ แต่ก็ถือว่าดีในระดับหนึ่ง จนถึงช่วงศตวรรษที่ 18 เริ่มคิดค้นการใช้ปูนยิปซัม (Gypsum) ผสมกับเศษผ้ามาทำเป็นเฝือก พบว่าใช้เวลาในการเซ็ตตัวของเฝือกลดลงเหลือแค่ประมาณครึ่งวันปูนก็แข็งตัวแล้ว อีกทั้งยังสามารถที่จะปั้นดัดเฝือกให้เป็นรูปตามที่ต้องการได้อีกด้วย จึงเรียกเฝือกนี้ว่า Plaster of Paris ถือว่าเป็นต้นแบบเฝือกที่เราใช้งานเรื่อยมา แต่เดี๋ยวนี้ก็มีการพัฒนาขึ้นอีก โดยใช้เป็นเส้นใยไฟเบอร์สานเป็นเหมือนตาข่ายมาแทนเฝือกปูนก็จะได้ความแข็งแรงมากขึ้นและยังน้ำหนักเบาอีกด้วย

โดยทั่วไปแล้วที่หมอกระดูกใช้อยู่ในปัจจุบันมักจะมีการใส่ 2 แบบ คือ

  • เฝือกอ่อน หรือ slab เป็นการใส่แบบไม่ได้รอบทั้งแขนหรือขา บางครั้งจะทำเป็นครึ่งเดียว แล้วใช้ผ้า elastic bandage พักไว้ ใช้ดามพวกกระดูกที่แตกร้าวเล็กน้อย ชิ้นเล็ก ไม่ได้เคลื่อนออกจากที่เดิม หรือใช้ในพวกกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นที่อักเสบ จุดประสงค์ก็เพื่อให้ส่วนนั้นได้พัก ไม่ให้ขยับช่วงเวลาหนึ่ง
  • เฝือกแข็ง หรือ cast ก็เป็นเหมือนเฝือกทั่วไปที่เราเห็นคุ้นตา จะพันรอบ ๆ แขนหรือขา เฝือกพวกนี้มักจะแข็งแรงใส่ไว้ได้เป็นเดือน สามารถดามกระดูกที่หักทั้งในผู้ใหญ่และเด็กได้

หลังจากได้รับการใส่เฝือกยึดกระดูกที่หักแล้ว ในช่วง 1-2 วันแรกถือว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญนะครับ อย่างที่หมอเคยเล่าในเล่มที่แล้วว่า ช่วงนี้บริเวณที่กระดูกหักจะบวม หลังจากที่หมอใส่เฝือกไปเราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเนื้อเยื่อรอบๆ กระดูกจะบวมมากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละคน ดังนั้นในบางรายถึงใส่ได้ขนาดพอดีแต่ก็อาจจะทำให้เฝือกแน่นไปกดทับเนื้อเยื่อบริเวณนั้นได้ พวกนี้จะมีอาการปวดมาก ๆ ไปทั้งขาหรือแขนที่หัก ไม่ค่อยตอบสนองกับยาแก้ปวด บ้างครั้งมีอาการชา เหล่านี้เป็นอาการที่ควรมาพบหมอเพื่อจะได้ทำการขยายเฝือกออก

ส่วนวิธีดูแลเฝือกอย่างอื่นก็คือ พยายามอย่าให้เฝือกแตกหรือชื้นเพราะอาจจะทำให้ปูนนิ่มหรือแตกได้ นอกจากนี้ในช่วงที่ใส่เฝือก กล้ามเนื้อส่วนนั้นจะไม่ถูกใช้งาน จึงแนะนำให้บริหารกล้ามเนื้อแบบ Isometric โดยการเกร็งกล้ามเนื้อเป็นช่วง ๆ ครั้งละ 10-20 วินาทีแล้วคลาย วันละประมาณ 30-50 ครั้ง เพื่อให้กล้ามเนื้อส่วนนั้นยังได้ออกแรงอยู่ตลอดระยะเวลาที่ใส่เฝือก หลังจากถอดเฝือกจะได้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ

เหล่านี้เป็นวิธีการดูแลเฝือกคร่าว ๆ นะครับ แต่ถ้าจะให้ดี ก็ระวังอย่าให้เกิดอุบัติเหตุถึงขั้นกระดูกหัก พยายามอย่าประมาท ใช้ชิวิตทุกวันอย่างมีสติ เพียงเท่านี้เราก็จะไม่จำเป็นต้องใช้เฝือกดามกันแล้วครับ

Resource: HealthToday Magazine, No.195 July 2017