เหล็กดามกระดูก

นพ.ไพสิทธิ์ วรปาณิ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ข้อเข่า ข้อสะโพก

0
29010

วันก่อนได้มีเวลาว่างไปดูภาพยนตร์เรื่อง Transformer เห็นพวกหุ่นทั้งหลายแปลงร่างต่อสู้กันได้สนุกเลยทีเดียว เลยมาคิดว่าอาชีพหมอผ่าตัดกระดูกนี้ก็ต้องมีการใช้เหล็กมาใช้ดามหรือแก้ไขส่วนที่ผิดปกติไม่ว่าจะเป็น คอ แขน ไหล่ หลัง สะโพก เข่า ขา ข้อเท้า เท้า ด้วยเหมือนกัน ถ้าใครได้ผ่าตัดใส่เหล็กดามทุกรยางค์ที่ว่านี้ก็คงกลายร่างตัวเองเป็น หุ่นยนต์ transformer ได้เลยทีเดียว ครั้งนี้เลยขอมาพูดถึงอุปการณ์เหล็กดามกระดูกที่หมอใช้สำหรับผ่าตัดดามเบื้องต้นให้ฟังก็แล้วกันนะครับ

โดยทั่วไปอย่างเวลาสู้กับฝ่ายตัวโกง (ยังอินอยู่ในหนัง) แล้วเกิดกระดูกหัก อย่างที่เคยเขียนในเล่มที่ผ่านมาว่าร่างกายก็สามารถที่จะเชื่อมกระดูกให้เข้าที่ได้เอง แต่ถ้ามีการแตกหักที่มากหรือผิดรูป หมอก็จะต้องทำการเปิดแผลเข้าไปในกระดูกแล้วเอาเหล็กมาดามไว้ จริง ๆ แล้วถ้าไปดูประวัติสมัยยุโรปช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ก็เริ่มมีการผ่าตัดใช้แผ่นเหล็กแล้วยึดด้วยสกรู (น็อต) แล้ว แต่มาเริ่มใช้จริง ๆ ก็ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ช่วงนั้นมีทหารได้รับบาดเจ็บที่แขนขาจำนวนมาก ทำให้ต้องหาวิธีที่จะเก็บรักษาให้ได้ดีที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้เหล็กดามกระดูกในร่างกาย ช่วงหลังก็จะมีการใช้แท่งโลหะกลวงใส่เข้าไปในโพรงกระดูกขาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความแข็งแรงมากขึ้น เริ่มถึงจุดนี้คงเกิดคำถามมากมายว่า…

เดี๋ยวนี้โลหะที่นำมาใช้ดามกระดูกทำจากเหล็กประเภทอะไร?

ส่วนใหญ่จะยังคงใช้ stainless steel ที่คุณภาพดี ปัจจุบันมีการใช้เหล็ก super-alloy และพวกโลหะไททาเนียม ( titanium) ซึ่งโลหะเหล็กพวกนี้จะมีความแข็งแรงทนทานได้ดี

โลหะเหล็กที่ใส่เข้าไปจะมาขึ้นสนิมในตัวเราไหม?

ข้อนี้เองสมัยหมอเรียนก็เคยสงสัยเช่นเดียวกันว่าเหล็กจะขึ้นสนิมในร่างกายไหม คำตอบคือ “ไม่ครับ” เพราะโดยทั่วไปก่อนจะนำมาใช้จะผ่านกระบวนการ Oxidize เพื่อไม่ให้ทำปฏิกิริยากับสารในร่างกาย ทำให้ไม่เกิดสนิมขึ้น ถึงแม้ว่าจำเป็นต้องใส่เป็นระยะเวลานานก็จะไม่ทำปฏิกิริยาเกิดสนิมขึ้นในร่างกาย

เวลาใส่ไปแล้วจำเป็นต้องเอาออกหรือไม่?

โลหะดามกระดูกที่ใส่มักจะใส่อย่างน้อย 2-3 ปีเพื่อรอให้กระดูกติดเชื่อมอย่างสนิทก่อน ในเด็ก วัยรุ่น หรือนักกีฬามักจะผ่าตัดเอาโลหะดามออก เพราะเกรงว่าถ้าเกิดอุบัติเหตุอีกครั้งแล้ว เหล็กอาจจะหักทำให้การผ่าตัดยุ่งยากขึ้น อีกทั้งถ้าเกิดเจออากาศเย็นบางครั้งจะเกิดอาการปวดได้เนื่องจากโลหะจะรับความเย็น เนื้อเยื่อรอบ ๆ เลยอาจจะปวดได้ แต่ในกรณีผู้สูงอายุถ้าไม่มีผลข้างเคียงก็สามารถคาโลหะดามไว้ตลอดได้ หรือโลหะเหล็กบางชนิดที่ใช้ในการแก้ไขความผิดปกติที่กระดูกสันหลังหรือที่ข้อเข่าข้อสะโพกก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเอาออก

เคยได้ยินว่ามีเหล็กที่ใส่ไปหักได้ จริงหรือ?

เป็นไปได้ครับเพราะโลหะที่ออกแบบมาเพื่อดามกระดูกในช่วงต้นรอให้ร่างกายสร้างกระดูกจริงมาเชื่อมอาจจะไม่สามารถรับน้ำหนักได้ทั้งหมด ดังนั้นถ้าเกิดเราไปใช้งานหรือลงน้ำหนักที่มากเกิน หรือเกิดการล้มซ้ำก็อาจจะทำให้โลหะดามหักได้ ดังนั้นโดยส่วนใหญ่คนไข้ที่หลังผ่าตัดใส่เหล็กดามกระดูกช่วงแรก ๆ หมอกระดูกส่วนใหญ่จะแนะนำให้ลงน้ำหนักเพียงแค่ 1 ใน 10 ของน้ำหนักตัว

ทำไมผ่าตัดดามเหล็กไปแล้วบางครั้งยังต้องมาผ่าตัดซ้ำ เพราะอะไร?

จุดมุ่งหมายที่ใส่โลหะดามเพื่อช่วยยึดกระดูกรอให้ร่างกายสร้างกระดูกใหม่มาเชื่อม บางครั้งกระดูกที่สร้างมาใหม่มีไม่มากพอหรือบางกรณีน็อตที่ใส่ไปหลวมหรือถอนออกมาโดยเฉพาะผู้ป่วยกระดูกพรุน คล้ายๆเราตอกตะปูไปในไม้ที่ผุ ก็จะถอนได้ง่าย หมอก็จำเป็นต้องผ่าตัดเข้าไปทำให้น๊อตแน่นขึ้น หรือบางครั้งใส่โลหะดามไปแล้วแต่เมื่อให้ผู้ป่วยใช้งานแล้วเกิดการเคลื่อนไหวของกระดูกผิดไปจากแนวเดิมทำให้ต้องทำการผ่าตัดใหม่เพื่อปรับแนวกระดูก

เวลาเดินผ่านเครื่องตรวจโลหะ เช่นตามที่สนามบินจะมีเสียงสัญญาณเตือนร้องไหมครับ?

มีเสียงสัญญาณเตือนดังแน่นอนครับ เพราะ ไททาเนียม หรือ สแตนเลท สตีล ก็เป็นโลหะชนิดหนึ่ง เพียงแต่เราสามารถอธิบายให้เจ้าหน้าที่ฟังได้ว่าเราได้รับการผ่าตัดยึดกระดูกด้วยโลหะ และโดยทั่วไปแล้วหลังจากได้รับการผ่าตัด แพทย์จะมีสมุดบันทึกซึ่งภายในจะมีข้อมูลชนิดโลหะที่ใส่ไว้อยู่ ซึ่งสามารถแสดงกับเจ้าหน้าที่ได้ ถ้าเกิดข้อสงสัยเกิดขึ้น

Resource: HealthToday Magazine, No.197 September 2017