“คุณหมอค้าบบ…ช่วยใส่เฝือกดามหัวใจให้ผมที ผมอกหักมาอีกแล้วครับ เธอทิ้งผมไปอีกแล้วอ่ะครับหมอ” อืม…ผมฟังแล้วก็ยังอึ้ง สงสัยว่าพยาบาลคงส่งคนไข้มาผิดแผนก พร้อมทั้งแอบงงในใจนิด ๆ ว่าสงสัยได้ยินว่าอกหักเลยกะส่งมาให้หมอกระดูกดามหรือใส่เฝือกให้ล่ะมั้ง…ฮ่าๆๆ จะว่าไปถ้ามันสามารถดามให้หายได้ก็คงจะดีไม่น้อยนะครับ เราคงไม่ต้องมานั่งเจ็บหรือเสียใจกัน ในเมื่อพูดถึงเรื่องดามหรือใส่เฝือกกันไปแล้ว เรามาดูเรื่องกระดูกจริง ๆ จำพวกแขน ขา มือ ว่าถ้าหักแล้วเราจะมีวิธีรักษาอย่างไรกันดีกว่าครับ
หลายคนคงเคยมีประสบการณ์หกล้มหรืออุบัติเหตุแล้วกระดูกหักกันมาบ้างหรือไม่ก็คงเคยเห็น เมื่อกระดูกหักร่างกายเราก็ช่างวิเศษมาก ๆ คือจะพยายามสร้างกลไกขึ้นมาซ่อมแซมให้ทันที เหมือนกลไกในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดถึงไม่ได้หมอกระดูกรักษาร่างกายก็สามารถเชื่อมกระดูกให้ติดกันเองได้เหมือนเดิม (หมอกระดูกเตรียมตกงานได้) แต่เดี๋ยวก่อนหมอกระดูกก็ช่วยท่านได้น่ะครับ บอกคร่าวๆก็คือ ช่วยทำให้กระดูกกลับมาเข้าที่ในตำแหน่งเดิมจะได้กลับมาใช้งานได้ตามปกติกว่า 95% และสามารถช่วยให้กระดูกติดได้ตามเวลาของชนิดกระดูกที่หัก งั้นเรามาดูกลไกการเชื่อมของกระดูกกันน่ะครับ
ระยะที่ 1 เริ่มแรกเลยเมื่อกระดูกเราหัก (หมอขอยกตัวอย่างเป็นข้อมือละกัน เพราะพบบ่อยที่สุด) เราจะเห็นว่ามีอาการบวม ปวด เพราะพอกระดูกหักปุ๊บจะมีเลือดออกข้างใน และร่างกายจะหลั่งสารต่าง ๆ ออกมาทำให้ปวดเพื่อให้เราหยุดขยับเขยื้อน เป็นกลไกป้องกันการบาดเจ็บเพิ่มขึ้น หลังจากนั้นการซ่อมแซมก็จะเริ่มขึ้นทันทีพวกสารต่าง ๆ (mediator) จะไหลผ่านมาทางเลือดเพื่อทำให้เลือดบริเวณนั้นแข็งตัวรวมตัวเป็นก้อนเลือด (Hematoma) ป้องกันเลือดออก ซึ่งระยะนี้จะกินเวลาตั้งแต่กระดูกหักจนถึงประมาณ 6 ชั่วโมงแรก หรือเรียกว่าระยะ Hematoma formation
ระยะที่ 2 ต่อมาร่างกายจะพยายามรวบรวมสารเนื้อเยื่อและแคลเซียมเพื่อสร้างตัวเป็นกระดูกอ่อน ถ้าเปรียบก็จะคล้าย ๆกระดูกซี่โครงหมูอ่อนที่เรารับประทานกัน จะยังไม่มีความแข็งแรงมาก แต่ก็สามารถทนแรงต่าง ๆ พอได้ ระยะนี้จะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ถึง 1 เดือนหลังจากกระดูกหัก เรียกระยะนี้ว่า การสร้างกระดูกอ่อน Soft callus formation
ระยะที่ 3 ระยะนี้สำคัญสุด เพราะร่างกายจะทำการเปลี่ยนจากกระดูกอ่อนให้กลายเป็นกระดูกแข็งโดยได้จากการรวมตัวของแคลเซียมเพื่อใช้ในการสร้างกระดูก ดังนั้นถ้าระยะนี้มีการเคลื่อนไหวหรือกระดูกอยู่ในท่าที่ผิดไปจากตำแหน่งเดิมก็จะทำให้กระดูกที่ติดมีรูปร่างที่โค้งงอผิดรูปได้ หรือกระดูกอาจจะไม่ติดเลยก็ได้ ระยะนี้กินเวลาตั้งแต่ 1 เดือน – 3 ถึง 6 เดือน หรือถ้าเป็นกระดูกชิ้นใหญ่อาจจะถึง 9 เดือนหลังกระดูกหัก ระยะนี้เรียกว่า การสร้างกระดูกแข็ง Hard callus formation
ระยะที่ 4 ระยะนี้ร่างกายจะพยายามปรับแต่งกระดูกส่วนเกินที่ตอนแรกพยายามนำมาพอกบริเวณส่วนที่หักออก และมีการปรับรูปแบบกระดูกได้เล็กน้อย โดยกินเวลาช่วง 3 เดือน ถึง 1 ปีหลังจากกระดูกหัก เรียกว่า ช่วงการปรับแต่งกระดูก Remodeling phase
จากที่เล่ามาจะเห็นได้ว่าร่างกายของเรานั้นช่างมหัศจรรย์ สามารถที่จะซ่อมแซมกระดูกที่หักได้เอง แต่บางครั้งก็ยังต้องมีตัวช่วยในการทำให้กระดูกติดเร็วขึ้นหรืออยู่ในแนวที่กลับสู่สภาพเดิม เพราะบ่อยครั้งที่เวลากระดูกหักมักจะมีการเคลื่อนที่ของกระดูกออกจากแนวเดิมอยู่แล้ว กระดูกที่ติดในแนวที่ผิดไปจะทำให้หน้าที่หรือการใช้งานของบริเวณนั้นลดลง เช่น กระดกข้อมือได้ลดลง คว่ำหงายมือ งอเหยียดแขนหรือข้อศอกได้ลดลง จึงต้องเป็นหน้าที่ของหมอกระดูกที่จะมาช่วยจัดและใช้เครื่องมือบางอย่างมาช่วย ไว้ครั้งหน้าหมอจะมาเล่าประวัติคร่าว ๆ และเครื่องมือที่ใช้ในการดามกระดูกให้ได้ทราบกันนะครับ
ปล. ว่าแต่ขนาดกระดูกหักยังต้องใช้เวลาเป็นเดือนเป็นปีถึงจะหาย แล้วอกหักล่ะ พอจะมีใครตอบหมอได้บ้างไหมว่า…ต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ถึงจะหาย?
Resource: HealthToday Magazine, No.194 June 2017