เสื่อมยาก หากดูแลดี

0
2017
ความเสื่อมถอยของร่างกาย

สิ่งหนึ่งที่มาพร้อมกับอายุที่มากขึ้นก็คือ “ความเสื่อมถอยของร่างกาย” อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าเราดูแลตนเองได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ร่างกายที่แข็งแรงก็จะอยู่กับเราไปอีกนาน เพื่อส่งเสริมให้คนไทยก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างมีสุขภาพดี ในงานสุขภาพเต็มร้อยครั้งที่ 21 จึงได้จัดให้มีการบรรยายเรื่อง “เสื่อมยาก หากดูแลดี” โดยได้รับเกียรติจาก พญ.ธิศรา วีรสมัย สูตินรีแพทย์ หัวหน้าศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลพญาไท 1 มาเป็นวิทยากรให้ความรู้และคำแนะนำถึงแนวทางการชะลอความเสื่อมที่เข้าใจง่าย นำไปใช้ได้จริง

ฮอร์โมนเพศที่หมดหรือลดลงเมื่ออายุมากขึ้นเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น อ้วนลงพุง ไขมันในเลือดผิดปกติ หรือเบาหวาน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสารอนุมูลอิสระที่ร่างกายได้รับเข้าไปทั้งจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวและอาหารที่รับประทาน เหล่านี้ล้วนส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายเกิดความเสื่อมได้ทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้กระทั่ง “หัวใจ” แล้วเราควรทำอย่างไรเพื่อให้หัวใจแข็งแรง

นอกจากการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่แล้ว การได้รับ “สารอาหาร” ที่หลากหลาย ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม ก็ส่งผลดีต่อหัวใจเช่นกัน โดยสารอาหารที่ส่งผลดีต่อสุขภาพหัวใจ หลัก ๆ ได้แก่ วิตามินซี วิตามินบี น้ำมันปลา (Fish oil) แพลนท์สตานอล (Plant stanol) และ โคเอนไซม์คิวเท็น (Coenzyme Q10)

วิตามินซี

เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ได้เอง จำเป็นต้องได้รับจากอาหาร โดยพบมากในผลไม้รสเปรี้ยวตระกูลเบอร์รี่ แคนตาลูป ดอกกะหล่ำ ผักใบเขียว วิตามินซีมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ช่วยสร้างคอลลาเจน ซึ่งเป็นองค์ประกอบของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (เช่น ผิวหนัง กระดูก เหงือก ฟัน เอ็น และเม็ดเลือด) ทำให้หลอดเลือดแข็งแรง ช่วยลดคอเลสเตอรอล ช่วยในการขับถ่าย และช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

วิตามินบี

เป็นวิตามินต้านเครียด ช่วยในเรื่องระบบประสาทและกล้ามเนื้อ สำหรับวิตามินบีที่มีความสำคัญต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ วิตามินบี 3 บี 6 และบี 12 โดยวิตามินบีทั้ง 3 ชนิดนี้จะอยู่ในกระบวนการกำจัดสารอนุมูลอิสระที่มีชื่อว่า “โฮโมซิสเทอีน” ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่เรารับประทานอาหารประเภทแป้งมาก ๆ บวกกับขาดการออกกำลังกาย จะมีโอกาสเกิดโฮโมซิสเทอีนสูง กระตุ้นให้เกิดการตีบของหลอดเลือด หรือเกิดไขมันอุดตันหลอดเลือดได้ง่าย จึงเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด

ความเสื่อมของร่างกาย

น้ำมันปลา

มาจากไขมันปลา พบได้ในปลาทะเลน้ำลึกในเขตซีกโลกเหนือ ในน้ำมันปลามีโอเมก้า 3 ซึ่งประกอบด้วยสารสำคัญ 2 ชนิด คือ อีพีเอ และ ดีเอชเอ โดยประโยชน์ของ อีพีเอ คือช่วยลดไตรกลีเซอไรด์ เพิ่มคอเลสเตอรอลตัวดี (HDL) ช่วยป้องกันการอุดตันของหลอดเลือด ทำให้เส้นเลือดยืดหยุ่นได้ดี ในขณะที่ ดีเอชเอ จะเป็นสารอาหารที่เน้นในคุณแม่ตั้งครรภ์ เนื่องจากช่วยบำรุงสมองและสายตาของลูกในครรภ์ หลักการเลือกซื้อน้ำมันปลา แนะนำให้เลือกซื้อแบบมีวิตามินอีผสม เนื่องจากวิตามินอีจะช่วยป้องกันไม่ให้น้ำมันปลาเสียสภาพ และควรเลือกบรรจุภัณฑ์ที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่บุบบู้บี้ ไม่วางขายในที่ที่มีอากาศร้อน หากพบว่าเม็ดน้ำมันปลามีลักษณะเยิ้มแสดงว่าน้ำมันปลาเสียสภาพ ไม่ควรรับประทาน เพราะทำให้เกิดโทษ เพิ่มความเสี่ยงหลอดเลือดอุดตันได้

แพลนท์สตานอล

เป็นสารอาหารที่มีโครงสร้างเคมีคล้ายคอเลสเตอรอล เมื่อรับประทานเข้าไปจะแยกไปจับกับเซลล์ในลำไส้เล็ก ขัดขวางการดูดซึมคอเลสเตอรอล และเพิ่มการขจัดคอเลสเตอรอล จึงช่วยลดคอเลสเตอรอลในร่างกายได้ แพนท์สตานอลสามารถสกัดได้มาจากข้าวสาลี ข้าวโพด และธัญพืช แต่พบในอาหารทั่วไปน้อย

โคเอนไซม์คิวเท็น

นอกจากจะช่วยเรื่องผิวพรรณแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการลดไขมันในเลือดอีกด้วย สิ่งหนึ่งที่ควรทราบคือ ในผู้ป่วยที่รับประทานยากลุ่มสเตตินเพื่อลดไขมันในเลือดเป็นเวลานาน ๆ จะส่งผลให้ร่างกายขาดโคเอนไซม์คิวเท็นไปด้วย ดังนั้นใครที่รับประทานยาสเตตินเป็นเวลานาน จึงควรรับประทานโคเอ็นไซม์คิวเท็นเสริมด้วย

จะเห็นได้ว่าการชะลอความเสื่อมไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไปหรือเป็นไปไม่ได้ รู้อย่างนี้แล้วมาเริ่มต้นดูแลตนเองกันตั้งแต่วันนี้ เพื่อร่างกายที่แข็งแรงจะได้อยู่กับเราไปอีกยาวนานกันดีกว่า “Anti-aging, You can do it”