ระบบทางเดินปัสสาวะทำหน้าที่กรองของเสียจากเลือดแล้วขับทิ้งออกจากร่างกายในรูปของปัสสาวะ โดยแบ่งเป็นระบบทางเดินปัสสาวะส่วนบน ประกอบด้วยไต กรวยไต ท่อไต และระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง ประกอบด้วยกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเกิดได้จากเชื้อทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นเชื้อรา เชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรีย แต่จากสถิติส่วนใหญ่มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรียเป็นหลัก
ภายหลังการติดเชื้อร่างกายจะสร้างระบบภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุผิวทางเดินปัสสาวะ เมื่อตรวจปัสสาวะอาจพบว่ามีเชื้อแบคทีเรียและเม็ดเลือดขาวปนอยู่ ทั้งนี้การติดเชื้อสามารถติดได้ทั้งระบบทางเดินปัสสาวะส่วนบนและส่วนล่าง หากติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบนมักเป็นการติดเชื้อที่กรวยไต เรียกว่า กรวยไตอักเสบ ส่วนการติดเชื้อบริเวณส่วนล่างมักเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือท่อปัสสาวะอักเสบ
โดยทั่วไปจะพบการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะส่วนล่างมากกว่าส่วนบน 20 – 30 เท่า และสามารถเป็นได้ตั้งแต่
เด็กเล็กจนถึงผู้สูงอายุ ข้อมูลทางระบาดวิทยาพบว่าทารกชายช่วงก่อนขวบปีแรกมีสถิติติดเชื้อทางเดินปัสสาวะสูงกว่าเด็กผู้หญิง 1.7 เท่า หลังจากอายุ 1 ปีจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย นอกจากนี้ 60% ของผู้หญิงจะมีการติดเชื้อ
ในทางเดินปัสสาวะอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต ที่สำคัญคือพบการติดเชื้อซ้ำภายใน 1 ปีสูงถึง 25 – 50%
รู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
อาการแสดงว่าติดเชื้อทางเดินปัสสาวะมีหลายระดับ ตั้งแต่ไม่มีอาการใด ๆ เลยจนกระทั่งมีอาการหนัก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ติดเชื้อ หากเป็นการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบนมักมีไข้ หนาวสั่น ส่วนการติดเชื้อส่วนล่างมักปัสสาวะขุ่น บางครั้งมีกลิ่นผิดปกติ หรือมีสีออกแดงจากเลือดปน ปัสสาวะบ่อยแต่ปริมาณน้อยคล้ายปัสสาวะไม่สุด แสบขัด
โดยเฉพาะช่วงถ่ายปัสสาวะท้าย ๆ อาจมีอาการปวดบั้นเอวหรือท้องน้อยร่วมด้วย
ในการรักษาแพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น หากมีอาการปวดหรือมีไข้ก็จะจ่ายยาแก้ปวดและลดไข้ ร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะสำหรับฆ่าเชื้อที่บุกรุกเข้ามาในทางเดินปัสสาวะ ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาจนหมดแม้จะไม่มีอาการแล้วก็ตาม และไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะหากได้ยาไม่ตรงกับเชื้ออาจเกิดภาวะดื้อยาได้ง่าย ในการดูแลอื่นๆ นั้นผู้ป่วยควรดื่มน้ำมาก ๆ ประมาณ 8 – 10 แก้วต่อวัน หรือวันละ 2,000 – 2,500 มิลลิลิตร เพื่อช่วยขับไล่เชื้อแบคทีเรียออกจากทางเดินปัสสาวะ ผู้ป่วยที่มีไข้ร่วมด้วยจำเป็นต้องดื่มน้ำเพิ่มขึ้นอีกเพื่อให้ร่างกายใช้น้ำสำหรับปรับลดอุณหภูมิในร่างกาย ยกเว้นในรายที่มีโรคร่วมอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องจำกัดการดื่มน้ำ ควรดื่มตามปริมาณที่แพทย์แนะนำเท่านั้น หากมีอาการปวดบั้นเอวหรือท้องน้อยอาจใช้การประคบร้อนด้วยกระเป๋าน้ำร้อนหรือแผ่นความร้อนเพื่อบรรเทาอาการปวด จะช่วยให้ผู้ป่วยสบายตัวขึ้นได้
ปัจจุบันยังไม่มีอาหารใดที่ช่วยรักษาโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ แต่มีอาหารที่สามารถช่วยป้องกันได้ อย่างไรก็ตามในขณะที่มีการติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะผู้ป่วยควรจำกัดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ไม่เกิน 1 – 2 แก้วมาตรฐาน หรือเทียบเท่ากับการดื่มเบียร์ เหล้า ไวน์ ไม่เกิน 1 – 2 แก้วต่อวัน และไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
เกิน 2 แก้วต่อวัน เพราะจะเพิ่มการระคายเคืองของกระเพาะปัสสาวะทำให้มีอาการแย่ลง 2 เท่าได้
4 อาหารที่พิสูจน์แล้วว่าช่วยป้องกันการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
- น้ำเปล่า 6 – 8 แก้วต่อวัน การดื่มน้ำเปล่า และไม่กลั้นปัสสาวะ จะช่วยขับเชื้อออกจากทางเดินปัสสาวะ ทำให้เชื้อที่ติดมามีจำนวนไม่มากพอจนสร้างอันตรายให้แก่ทางเดินปัสสาวะได้
2. แครนเบอร์รี่ แครนเบอร์รี่มีสาร proanthocyanidins ช่วยป้องกันเชื้ออี.โคไล ( coli) เกาะติดผนังของระบบย่อยอาหารและทางเดินปัสสาวะจนทำให้ติดเชื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่พบบ่อยที่สุด จากงานวิจัยจำนวนมากสรุปได้ว่า แครนเบอร์รี่ สามารถลดความเสี่ยงการ
ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ 26% ในผู้หญิงสุขภาพดี และ 35% ในผู้หญิงที่มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะที่
รับประทานแครนเบอร์รี่มากกว่า 12 เดือน
นอกจากนี้ในแครนเบอร์รี่ยังมีสารแอนโธไซยานินและกรดซาลิไซลิก ซึ่งมีฤทธิ์ต่อต้านการอักเสบ จึงช่วยบรรเทาอาการปวดได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาแอสไพรินควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำแครนเบอร์รี่ปริมาณมาก ในผู้ที่
รับประทานยาหลายชนิดควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อช่วยพิจารณาเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างยากับน้ำแครนเบอร์รี่ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เกิดปัญหายาตีกัน
- จุลินทรีย์สุขภาพ จุลินทรีย์สุขภาพในโยเกิร์ตช่วยปรับสมดุลจุลินทรีย์ในระบบทางเดินปัสสาวะ ป้องกันแบคทีเรียที่ไม่พึงประสงค์เกาะติดผนังลำไส้ ขับไล่แบคทีเรียก่อโรค นอกจากนี้ยังสามารถผลิตสารเคมีต้านเชื้อแบคทีเรียตามธรรมชาติจึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะได้ โดยเฉพาะหลังผู้ป่วยได้รับยาปฏิชีวะจึงช่วยป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้
4. ผัก ผลไม้ อุดมไปด้วยวิตามินและสารต่อต้านการอักเสบ จึงช่วยบรรเทาอาการปวดจากการติดเชื้อ ที่สำคัญ
ใยอาหารในผัก ผลไม้แม้ร่างกายเราจะไม่สามารถย่อยได้แต่ก็เป็นอาหารชั้นดีให้แก่จุลินทรีย์ตัวดี ช่วยให้จุลินทรีย์สามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้หลังจากจุลินทรีย์ย่อยใยอาหารแล้วจะได้กรดอินทรีย์ชนิดหนึ่งที่มีส่วนช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะได้
นอกจากการรับประทานอาหารป้องกันทางเดินปัสสาวะอักเสบแล้ว ควรให้ความสำคัญกับการดูแลสุขอนามัยของจุดซ่อนเร้นด้วย โดยหลังจากทำธุระส่วนตัวเรียบร้อยทุกครั้งควรทำความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลังเพื่อป้องกันเชื่อจากแพร่จากบริเวณทวารหนักไปยังช่องคลอดและท่อปัสสาวะ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาดับกลิ่นหรือน้ำยาฆ่าเชื้อต่าง ๆ
สวนล้าง และควรปัสสาวะก่อนและหลังมีเพศสัมพันธ์เพื่อลดปริมาณเชื้อที่อยู่ในทางเดินปัสสาวะ ในผู้ป่วยที่เป็น
เบาหวานร่วมด้วยควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงปกติ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะซ้ำ
Resource: HealthToday Magazine, No.203 March 2018