ภาวะโภชนาการของลูกน้อย

นพ. สุรณัฐ แก้วณิมีย์ พ.บ., ว.ว. (กุมารเวชศาสตร์), อ.ว. (กุมารเวชศาสตร์โภชนาการ)

0
3231

ความสำคัญของโภชนาการที่ดี

การที่ลูกได้รับอาหารอย่างเหมาะสม และมีภาวะโภชนาการที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้ลูกมีการเจริญเติบโตสมบูรณ์ สุขภาพจิตดี และมีพัฒนาการสมวัย โภชนาการที่ดีตั้งแต่วัยเริ่มต้นของชีวิตส่งผลระยะยาวต่อการเรียนรู้ใน
วัยเรียนต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี

ภาวะโภชนาการที่ปกติของลูกยังขึ้นอยู่กับการเกิดครบกำหนด น้ำหนักแรกเกิด ความเจ็บป่วย การได้รับนมแม่
อย่างน้อย 6 เดือน การได้รับอาหารตามวัยที่เพียงพอทั้งพลังงานและสารอาหาร ปัจจัยด้านพันธุกรรม สุขภาพของมารดาขณะตั้งครรภ์ และสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงดู เป็นต้น

ประเมินภาวะโภชนาการของลูกอย่างไร

คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้เลี้ยงดู สามารถประเมินภาวะโภชนาการของลูกได้โดยบันทึกและติดตาม น้ำหนัก ความยาว หรือความสูงของลูกอย่างสม่ำเสมอ ตามโอกาสที่มีการตรวจสุขภาพและรับวัคซีน ทั้งนี้กุมารแพทย์จะติดตามอัตราการเพิ่มขึ้นของน้ำหนัก ความยาว และเส้นรอบศีรษะ จากกราฟเส้นแสดงการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องว่าเป็นไปอย่าง
เหมาะสมหรือไม่ โดยทั่วไปจะประเมินการเจริญเติบโตและภาวะโภชนาการของลูกดังนี้

หากพบตั้งแต่เริ่มว่าลูกเริ่มมีภาวะโภชนาการที่เบี่ยงเบนไปจากเกณฑ์ปกติ เช่น น้ำหนักค่อนข้างน้อย ค่อนข้างผอม หรือในทางกลับกัน คือ น้ำหนักค่อนข้างมาก หรือค่อนข้างอ้วน ควรติดตามอย่างใกล้ชิดกับกุมารแพทย์ที่ดูแล เพื่อให้ได้รับคำแนะนำอย่างเหมาะสม กรณีที่ลูกผอม หรือเตี้ยกว่าเกณฑ์มาก อาจต้องมีการตรวจเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุและดูแลรักษาต่อไป

หลักโดยทั่วไปเพื่อให้ลูกมีภาวะโภชนาการดี

ได้แก่ ให้อาหารที่มีพลังงานและสารอาหารครบถ้วน หลากหลาย ฝึกให้ลูกกินผักและผลไม้ตั้งแต่เมื่อเริ่มอาหาร
ตามวัย กินเนื้อสัตว์เพื่อเป็นแหล่งของโปรตีนและธาตุเหล็ก เช่น หมู ตับ ปลา ใช้น้ำมันพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว เป็นแหล่งพลังงานและกรดไขมันจำเป็น กินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน หรือต่อเนื่องถึงอายุ 2 ปี ร่วมกับ
อาหารหลักสำหรับเด็กอายุ 1-2 ปี อาจเสริมนมดัดแปลงสูตรต่อเนื่อง หรือนมวัวรสจืด วันละ 2 แก้ว หรืออาจพิจารณา…

อาหารทางการแพทย์สูตรเฉพาะสำหรับทารกและเด็ก เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับเด็กที่มีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวน้อย

ซึ่งจะช่วยให้ลูกได้รับสารอาหารที่เหมาะสมและมีภาวะโภชนาการที่ดี หากเริ่มมีน้ำหนักค่อนข้างมาก หลังอายุ 2 ปีแล้ว สามารถให้นมวัวรสจืดชนิดไขมันต่ำได้ ฝึกให้ลูกกินอาหารรสธรรมชาติ หลีกเลี่ยงรสหวานจัด เค็มจัด หรือมันจัด ดื่มน้ำเปล่าสะอาด งดเครื่องดื่มรสหวาน เลือกรับประทานอาหารว่างที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่าการบริโภคอาหาร เพื่อให้ลูกมีการเติบโตที่ดี คือ การนอนหลับอย่างเพียงพอ 9-11 ชั่วโมงต่อคืน ไม่นอนดึก มีกิจกรรมทางกายหรือออกกำลังกาย สัมผัสแดดกลางแจ้ง หมั่นติดตามน้ำหนักและความยาวหรือความสูงอย่างสม่ำเสมอ

เอกสารอ้างอิง

  • กราฟแสดงน้ำหนักตามเกณฑ์อายุ ส่วนสูงตามเกณฑ์อายุ และน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูง สำนักโภชนาการ
    กรมอนามัย พ.ศ.2558
  • คู่มืออาหารตามวัยสำหรับทารกและเด็กเล็ก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2552
  • สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. กราฟแสดงเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตเด็ก. กราฟแสดงเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตเด็ก. [Cited 2021 Mar 16]. Available from http://nutrition.anamai.moph.go.th/ewt_news.php?nid=96.