มะเร็งปอด ไม่สูบก็เสี่ยง

อ.นพ.ธัชธรรม์ สุขสมบูรณ์เจริญ

0
4078

คนส่วนใหญ่มักจะคุ้นเคยว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุหลักของการเป็นมะเร็งปอด แม้แต่ที่หน้าซองบุหรี่ก็ยังมีคำเตือนเหล่านี้ แต่รู้หรือไม่…แม้คุณจะไม่ได้สูบบุหรี่ก็ใช่ว่าคุณจะไม่เสี่ยง!!!

มะเร็งปอดเป็นโรคมะเร็งที่พบได้เป็นอันดับต้น ๆ ในประเทศไทย โดยพบมากเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย และอันดับ 3 ในเพศหญิง  หากย้อนกลับไปดูในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดมะเร็งปอดได้มาก ได้แก่ ผู้ที่อายุ 55 ปีขึ้นไปที่สูบบุหรี่จัด และผู้ที่อาศัยหรือทำงานในสิ่งแวดล้อมที่มีมลพิษ แต่ในปัจจุบันมะเร็งปอดกลับพบได้บ่อยขึ้นในคนอายุน้อยและผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่ หรือเป็นผู้ที่ไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปอด คือ การกลายพันธุ์ของยีน

 

 

ชนิดของมะเร็งปอด

มะเร็งปอดแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

  • มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็ก (small cell lung cancer; SCLC) เซลล์มะเร็งชนิดนี้มีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว โรคจึงแพร่กระจายได้เร็ว ถึงแม้ว่าเซลล์จะตอบสนองต่อการรักษาได้ดี แต่ก็สามารถเกิดการดื้อยาได้มากเช่นกัน มะเร็งปอดกลุ่มนี้สัมพันธ์กับการสูบบุหรี่เป็นหลัก
  • มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวไม่เล็ก (non-small cell lung cancer; NSCLC) เซลล์มะเร็งชนิดนี้มีการแบ่งตัวช้ากว่าชนิดแรก การดำเนินโรคจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เซลล์มะเร็งแบ่งตัว มักพบการกลายพันธุ์ของยีนในเซลล์มะเร็งประเภทนี้ ซึ่งประมาณ 50% เป็นการกลายพันธุ์ของยีน EGFR ส่วนการกลายพันธุ์ของยีน ALK จะพบได้น้อยกว่า

อย่างไรก็ตามการแบ่งประเภทของมะเร็งปอดตามที่กล่าวมาอาจทำให้ผู้ป่วยเข้าใจยาก และยังแบ่งได้อีกหลายชนิดย่อยที่เป็นเซลล์ตัวไม่เล็ก แพทย์จึงมักแบ่งประเภทมะเร็งตามระยะของโรคโดยสอดคล้องกับการรักษา ได้แก่

  • ระยะที่ผ่าตัดได้ จะใช้การผ่าตัดเป็นการรักษาหลัก มะเร็งระยะนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยผู้ป่วยบางรายอาจได้รับการรักษาเสริมด้วยเคมีบำบัดหรือการฉายแสง
  • ระยะที่ผ่าตัดไม่ได้ เป็นระยะที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษาจะใช้ยาเคมีบำบัดหรือยาที่ออกฤทธิ์จำเพาะ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมาพบแพทย์เมื่อโรคมีการลุกลามแล้ว ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากมะเร็งปอดในระยะแรกมักไม่ค่อยแสดงอาการหรือเป็นอาการที่ไม่จำเพาะ ผู้ป่วยจึงไม่รู้ถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น หรือเข้าใจว่าเป็นอาการเจ็บป่วยทั่ว ๆ ไป

การรักษา

การรักษามะเร็งปอดมีแนวทางการรักษาดังนี้

  • การผ่าตัด เหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะเริ่มแรกที่ก้อนมะเร็งสามารถผ่าตัดได้
  • การฉายแสง ทั้งนี้ขึ้นกับระยะและลักษณะจำเพาะผู้ป่วยเฉพาะราย
  • การให้ยาเคมีบำบัด หลักการออกฤทธิ์ของยาเคมีบำบัด คือ ยาจะฆ่าเซลล์มะเร็งซึ่งเป็นเซลล์ที่มีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ยาอาจส่งผลกระทบต่อเซลล์ปกติที่แบ่งตัวเร็วได้เช่นกัน อาการข้างเคียงที่พบ ได้แก่ ติดเชื้อได้ง่ายเนื่องจากยามีฤทธิ์กดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ผมร่วง แสบปากแสบคอ ท้องเสียหรือท้องผูก มือเท้าชา ใจสั่นหรือแน่นหน้าอก เป็นต้น
  • การให้ยาที่ออกฤทธิ์ที่จำเพาะเจาะจง ก่อนใช้ยากลุ่มนี้ต้องทำการตรวจการกลายพันธุ์ของยีน EGFR หรือ ALK ก่อน ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ หากพิสูจน์ทราบได้ว่าการเกิดมะเร็งปอดมีสาเหตุจากการกลายพันธุ์ของยีน ก็เหมือนกับเราได้เจอสวิตช์ของโรค สามารถให้ยาเพื่อปิดสวิตช์ได้ถูกตำแหน่ง ช่วยให้การรักษาแคบลง ลดการทำลายเซลล์ปกติที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่กดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ดังนั้นอาการข้างเคียงจึงพบน้อยกว่าการได้รับยาเคมีบำบัด แต่ยังสามารถพบอาการข้างเคียงเล็ก ๆ น้อย ๆ จากยาได้ เช่น ท้องเสีย อ่อนเพลีย หรือมือเท้าเป็นแผล เป็นต้น
  • ในประเทศไทยยังไม่ได้รับการแนะนำให้เป็นการรักษาหลัก ยากลุ่มนี้จะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานดีขึ้นจนสามารถตรวจจับและทำลายเซลล์มะเร็งที่ซ่อนตัวอยู่ได้ในที่สุด ข้อควรระวังในการใช้ยากลุ่มนี้คือ การใช้ยาในช่วงแรกอาจทำให้โรคที่เป็นอยู่กำเริบ ผู้ป่วยอาจมีอาการแย่ลงได้ และไม่แนะนำให้ใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ตัวเอง

การตรวจพบมะเร็งปอดในระยะเริ่มแรกจะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต ดังนั้นหากคุณเป็นผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไปที่สูบบุหรี่จัด แนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งปอดด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ในการตรจสุขภาพประจำปี หรือหากมีอาการเหล่านี้ร่วมกันอย่างน้อย 2-3 อาการ ได้แก่ ไอเรื้อรังนานกว่า 3 เดือน น้ำหนักลดลงอย่างผิดปกติโดยไม่ได้ตั้งใจลดน้ำหนัก ไอเป็นเลือด และมีไข้เป็น ๆ หาย ๆ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยว่าอาการที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากมะเร็งปอดหรือไม่

Resource: HealthToday Magazine, No.199 November 2017