การตรวจคัดกรองมะเร็ง (screening) เต้านมเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นประจำในช่วงชีวิตที่มีโอกาสเป็นโรคมาก แต่มีคำถามเกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น ควรเริ่มทำเมื่อไหร่ จะเลิกทำเมื่อไหร่จึงจะดี พร้อมกับมีความวิตกกังวลมาก
มะเร็งเต้านมเป็นโรคที่พบบ่อยในหญิง (ชายก็เป็นได้แต่น้อย) มีอัตราตายสูงอันดับต้น ๆ ของบรรดามะเร็งทั้งหลาย ผู้หญิงสมัยใหม่มีความรู้เรื่องการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม เช่น การตรวจแมมโมแกรม ว่าสามารถตรวจพบมะเร็งในระยะต้น ๆ ทำให้รักษาได้ผลดี จึงมีการขวนขวายหาทางทำแมมโมแกรมกันมาก แต่การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมทำได้หลายอย่าง
การตรวจเต้านมด้วยตนเองก็เป็นวิธีหนึ่งที่เคยมีการโต้เถียงกันมามากว่าควรจะทำหรือไม่ เพราะว่าข้อมูลจากการตรวจทางระบาดวิทยาในคนจำนวนมากพบว่าวิธีการนี้ไม่ได้ช่วยลดอัตราตาย อย่างไรก็ตามการมีความรู้ตัวทั่วพร้อมในเรื่องเต้านมของตัวเองเป็นสิ่งที่ดีที่ควรทำ ถ้าเกิดมีความเปลี่ยนแปลงของเต้านมไปในทางที่ไม่ดีแล้วสามารถตรวจพบได้เร็วก็จะได้รักษาเร็วขึ้น ได้ผลดีมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่ควรสังเกตรู้มีดังนี้
- มีก้อนในเต้านมที่มีการเปลี่ยนแปลงไป เช่น โตขึ้น แข็ง ขรุขระ โยกไม่เคลื่อนที่
- มีอาการเจ็บเต้านมมากขึ้นมาใหม่ (ปกติมะเร็งเต้านมไม่มีอาการปวดเป็นอาการนำมาก่อน)
- มีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังเต้านม เช่น มีรอยบุ๋มดึงรั้ง ผิวหนังมีลักษณะคล้ายเปลือกส้ม เหล่านี้ต้องสงสัยมะเร็งเต้านม
- มีอาการบวม แข็งตึง แดง เจ็บ อุ่น ในเต้านม
- มีการเปลี่ยนแปลงของหัวนม เช่น มีผื่นแดง มีน้ำหลั่งหรือเลือดเล็ดออกมา หรือมีการหด ดึงกลับของหัวนม แบบนี้ต้องสงสัยว่ามีรอยโรคหรือมะเร็งข้างใต้หัวนมหรือเปล่า
มีการโต้เถียงกันมากระหว่างสถาบันใหญ่ ๆ ที่ทำงานเพื่อสุขภาพของผู้หญิงว่า การทำแมมโมแกรมตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกควรทำเมื่อผู้หญิงมีอายุเท่าไหร่ บ้างว่า 40 ปี บ้างว่า 50 ปี โดยต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลมาคัดง้าง คำตอบข้อนี้ควรขึ้นอยู่กับการปรึกษาหารือกับแพทย์ของท่านซึ่งจะทำหน้าที่ให้คำแนะนำโดยต้องพึ่งพาอาศัยข้อมูลอย่างอื่น เช่น คนไข้มีญาติใกล้ชิดเป็นมะเร็งหรือไม่หรือมีปัจจัยก่อมะเร็งอย่างอื่นด้วยหรือไม่ เช่น มีพันธุกรรมก่อมะเร็งเต้านมหรือไม่
บางครั้งท่านไปทำแมมโมแกรมแล้วได้รับรายงานว่าเต้านมของท่านมีความหนาแน่นสูง (dense breast) ให้กลับมาทำเอกซเรย์เพิ่มเติมเพื่อความแน่ชัด ปกติเนื้อนมมีส่วนประกอบหลัก ๆ อยู่ 2 ส่วนคือส่วนที่เป็นไขมันกับส่วนที่เป็นเนื้อเต้านม (parenchyma) ผู้หญิงที่มีอัตราส่วนของเนื้อเต้านมมากกว่าไขมันจะมีอุบัติการณ์ของมะเร็งมากกว่า นอกจากนี้เนื้อเต้านมที่มีความหนาแน่นสูงยังทำให้การตรวจเอกซเรย์เห็นไม่ชัด ในนมหญิงสาวมักจะมีเนื้อเต้านมแน่นกว่าคนสูงอายุ (อย่างไรก็ตามหญิงหมดระดู 2 ใน 3 ก็ยังอาจจะมีเนื้อเต้านมแน่นได้) การทำแมโมแกรมในคนอายุน้อยกว่า 40 ปีจึงอาจจะพลาดการตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มต้นหรือมะเร็งก้อนเล็กได้มากกว่า เพราะเนื้อเต้านมกับมะเร็งอาจจะเห็นเป็นสีขาวเหมือนกันทำให้อ่านผิดได้ นอกจากนี้เนื้อเต้านมที่มีความหนาแน่นสูง ในเอกซเรย์อาจจะมองคล้ายก้อนเนื้องอกทำให้อ่านเป็นผลบวกลวง และจบลงด้วยการเจาะตัดชิ้นเนื้อหรือผ่าตัดเอาเนื้องอกออกแบบไม่จำเป็นมากขึ้น
อย่างไรก็ตามแมมโมแกรมแบบธรรมดา (ยังมีแบบอื่นอีก) ทั่วไปก็ใช้ได้กับเต้านมที่แน่นและไม่แน่นได้ ในเต้านมที่แน่น (เช่น หญิงสาว) อาจจะใช้อัลตราซาวน์ตรวจแทนหรือเสริมแมมโมแกรมได้
แมมโมแกรมชนิดใหม่
แมมโมแกรมชนิดใหม่มีดังนี้คือ
- 3D mammography (breast tomosynthesis) คล้ายกับแมมโมแกรมธรรมดา ต่างกันที่เขาถ่ายภาพเต้านมมากขึ้นเพื่อสร้างภาพ 3D ของเนื้อเต้านมที่มองเห็นรายละเอียดชัดกว่า ข้อดีของแมมโมแกรมชนิดสามมิติคือไม่ต้องเรียกตัวคนไข้มาเอกซเรย์เพิ่มเติม
- Molecular breast imaging (MBI) วิธีนี้เขาใช้สารกัมมันตภาพรังสี tracer ฉีดเข้าไปเพื่อไปจับกับก้อนเนื้องอกแล้วใช้เครื่องตรวจจับ MBI ตรวจจับสร้างภาพ วิธีนี้เขาได้ทดลองพบว่าสามารถตรวจพบก้อนมะเร็งในเต้านมที่มีความหนาแน่นสูงได้ดีกว่าแมมโมแกรมธรรมดา
ควรจะรู้ด้วยว่าสำหรับการตรวจสองอย่างหลังนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสียคือ ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น อาจจะต้องทำแมมโมแกรมเพิ่มขึ้น และอาจจะต้องจบลงด้วยการตรวจอย่างอื่นเพิ่ม รวมทั้งทำการผ่าตัดเอาชิ้นเนื้อไปตรวจเพิ่มขึ้นด้วย อนึ่งเทคโนโลยีใหม่นี้โรงพยาบาลในเมืองไทยทั่วไปยังคงไม่มี
จากการศึกษาพบว่าในคนที่เต้านมมีความหนาแน่นสูง เมื่อทำแมมโมแกรมแล้วถูกเรียกตัวไปเอกซเรย์เพิ่มเติมเพื่อความแน่ชัดขึ้น ส่วนใหญ่ 95% ไม่พบมะเร็ง แต่ทำให้เกิดความวิตกกังวลได้มาก
สำหรับคนที่มีประวัติญาติใกล้ชิดเป็นมะเร็งเต้านมจะทำเฉพาะแมมโมแกรมธรรมดาพอหรือไม่ คำถามนี้ต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านมะเร็งเต้านม ซึ่งเขามีวิธีคำนวณระดับความเสี่ยงจากการทำการตรวจคัดกรองมะเร็งโดยอาศัยปัจจัยหลายอย่าง เช่น ประวัติในครอบครัว เป็นต้น เมื่อได้ระดับความเสี่ยงแล้วคนไข้กับแพทย์ก็ร่วมกันตัดสินใจว่าจะทำการตรวจอย่างอื่นเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ เช่น ทำ MRI เต้านมเพิ่มจากแมมโมแกรมในกรณีที่เคยมีการตรวจยีนมะเร็งเต้านมพบ BRCA1 BRCA2 มีญาติใกล้ชิดเป็นมะเร็งเต้านม เช่น แม่ น้องสาว ลูกสาว ซึ่งมียีนมะเร็งเต้านมด้วย หญิงที่ได้รับการฉายรังสีรักษาที่หน้าอกก็มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมสูง ในกรณีอย่างนี้เขาแนะนำให้ทำ MRI เพิ่มขึ้นด้วย
ผู้หญิงรักสุขภาพหลายคนเฝ้าทำการตรวจแมมโมแกรมประจำปีหรือประจำทุก 2 ปีตามคำแนะนำของแพทย์ แต่คำถามคือเมื่อไหร่จะหยุดทำ คำตอบคือไม่มีคำตอบที่แน่ชัด แต่บางคนแนะนำว่าให้ทำไปเรื่อย ๆ จนการพยากรณ์อายุขัยของท่านน้อยกว่า 10 ปีแล้วคอยหยุด
Resource: HealthToday Magazine, No.208 August 2018