รังสีจากเอกซเรย์ก่อมะเร็ง?

นพ.นริศ เจนวิริยะ ศัลยแพทย์

0
1586
รังสีก่อมะเร็ง

เอกซเรย์ถูกค้นพบโดยวิลเฮล์ม เรินท์เกนต์ ในปี ค.ศ.1895 หลังจากนั้นจึงมีการศึกษาและพัฒนาให้มาเป็นเครื่องมือสร้างภาพทางการแพทย์ ทำให้วงการแพทย์ก้าวหน้าขึ้นมาก จนกระทั่ง 77 ปีต่อมาคือปี ค.ศ.1972 จึงมีการประดิษฐ์เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (computed tomography scanner หรือ CT scan หรือ CAT scan) ซึ่งมีความสามารถสร้างภาพอวัยวะของร่างกาย (โดยใช้รังสีเอ็กซ์) ให้เห็นส่วนกว้าง ยาว และลึก ทำให้เข้าใจและวินิจฉัยโรคได้ดีขึ้นมาก ปัจจุบันนี้มีความก้าวหน้าของเครื่องซีทีมากขึ้นเรื่อย ๆ เห็นชัดยิ่งขึ้น มีการใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ๆ จนในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาวงการแพทย์มีการใช้ซีทีกันเป็นว่าเล่น แนวโน้มดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศพัฒนา แล้ว
แพร่กระจายมาสู่การแพทย์ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย

เอกซเรย์มีประโยชน์ในการสร้างภาพเพื่อวินิจฉัยโรคมาก แต่ก็มีข้อเสียคือรังสีเอ็กซ์เป็นสิ่งที่มีผลข้างเคียง เช่น ถ้าได้รับมาก ๆ ทำให้เกิดมะเร็งได้เนื่องจากรังสีไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเอในสารพันธุกรรม แต่การรับรังสีเอ็กซ์มากแค่ไหนจึงจะเกิดมะเร็งยังไม่มีใครรู้แน่

เมื่อไม่นานมานี้มีบทความในวารสารการแพทย์ชื่อดัง (NEJM) เขียนถึงการที่คนไข้ในปัจจุบันได้รับการฉายแสงจากเครื่องซีทีมาก จนเกิดความกังวลว่ามันจะไม่ดี มีตัวเลขที่ทำให้คนตกใจว่าในสหรัฐอเมริกามีคนเป็นมะเร็งจากการ
ฉายแสงปีหนึ่งสองหมื่นกว่าราย ทำให้เป็นที่ฮือฮาและถกเถียงกันมาก เพราะในวงการแพทย์สหรัฐอเมริกากระดิก
นิดหนึ่งก็ทำซีที ซีทีสมอง ทรวงอก หัวใจ ช่องท้อง ช่องเชิงกราน ในกรณีอุบัติเหตุ หลายอวัยวะพอคนไข้เข้ามาที่ห้องฉุกเฉิน บางแห่งสั่งทำซีทีทั้งตัวตั้งแต่หัวจรดเท้า โดยให้เหตุผลว่าถ้าคิดสะระตะแล้ววิธีนี้ช่วยทำให้รักษาได้เร็ว คนไข้กลับบ้านได้เร็ว ประหยัดเงินได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังใช้ซีทีช่วยในการรังสีรักษา เช่น ใช้ซีทีเป็นเครื่องนำวิถีเจาะดูดหรือทำหัตถการต่าง ๆ เช่น การเจาะฝีดูดระบายหนองในช่องท้องได้ผลดี

การทำซีทีถ้าจำเป็น มีข้อบ่งชี้ก็ควรทำ เพราะจะช่วยในการวินิจฉัยและรักษาได้ถูกต้อง ได้ผลดีขึ้น แต่ถ้าไม่จำเป็น
ก็ไม่ควรทำ เพราะรังสีมีพิษภัย ควรหลีกเลี่ยง เพื่อความเข้าใจควรพิจารณาเรื่องรังสีกันสักหน่อย

ทำความเข้าใจเรื่องรังสี

ปกติรังสีมีอยู่ในสิ่งแวดล้อมของเราจากแหล่งต่าง ๆ เช่น แสงอาทิตย์ จากหิน จากพื้นดิน โดยทั่วไปคนเราได้รับรังสีจากสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติปีละประมาณ 3 มิลิซีเวิร์ท (millisieverts; mSv) ต่อคน อย่างไรก็ตามคุณอาจจะได้รับรังสีมากหรือน้อยกว่านั้นขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่คุณอาศัยอยู่ ที่สหรัฐอเมริกาการรับรังสีจากสิ่งแวดล้อมอยู่ในพิกัด 1-20 mSv

มีประมาณการณ์ว่าอัตรารังสีที่ได้รับเฉลี่ยต่อปี (รวมทั้งรังสีจากสิ่งแวดล้อมและจากทางการแพทย์) เพิ่มขึ้น 2 เท่านับตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ.1980 เป็นต้นมา โดยเพิ่มจาก 3 เป็น 6.2 mSv ค่านี้เป็นค่าเฉลี่ยจากประชากรทั้งหมด ถ้าคุณไม่เคยได้รับรังสีทางการแพทย์ การรับรังสีของคุณก็ไม่เพิ่มขึ้น

ยังไม่เป็นที่ทราบชัดว่าต้องรับรังสีมากเท่าไหร่จึงจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งแน่ เขาว่าถ้ารับรังสีต่ำกว่า 100 mSv ยังไม่มีหลักฐานว่ามีความเสี่ยง แต่จากการคำนวณ มีการประมาณการณ์ว่าการได้รับรังสี 10 mSv จะเพิ่มความเสี่ยงการเสียชีวิตจากมะเร็ง 0.05% ในตลอดช่วงชีวิต คนที่ไม่ได้รับรังสีมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากมะเร็งอยู่แล้วที่ 21% ถ้าได้รับรังสีเพิ่มจากการฉายแสงเอกซเรย์ 10 mSv ก็จะทำให้ความเสี่ยงมะเร็งเพิ่มเป็น 21.05% ในตลอดช่วงชีวิต ตัวเลขนี้นับว่าน้อยเมื่อคิดว่าได้ประโยชน์มาจากการวินิจฉัย แต่สำหรับคนที่ชอบให้หมอสั่งเอกซเรย์โดยไม่จำเป็น (ถ้าไม่สั่งจะไม่ชอบใจ) ในชั่วชีวิตก็จะได้รับรังสีมากขึ้น

ปริมาณเฉลี่ยของรังสีที่คนไข้จะได้รับจากการตรวจหรือการรักษา

ที่มาของรังสี (การฉายแสง, ทำหัตถการ, จากสิ่งแวดล้อม) ปริมาณที่ได้รับ หน่วยเป็น mSv
รังสีที่ได้รับจากสิ่งแวดล้อมต่อปี 1-20
เอกซเรย์เข่า 0.005
เอกซเรย์ปอด 0.1
เอกซเรย์เต้านม (mammogram) 0.4
เอกซเรย์หัว (สมอง) 1-2
เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่ (CT colonoscopy) <3
CT ทรวงอก 2-4
เอกซเรย์ลำไส้ใหญ่ (Barium enema) 6-8
วิ่งสายพานฉีดสารกัมมันตภาพรังสีทดสอบหัวใจ 10-12
สวนหลอดเลือดหัวใจ, ฉีดสี, ใส่สเต็นท์ 15

จากตารางค่าของรังสีที่ได้รับจากการฉายรังสีเอ็กซ์ในการทำหัตถการ วินิจฉัย หรือรักษาต่าง ๆ เห็นได้ว่ามีค่าแตกต่างกันไป บางอย่างรับรังสีมาก บางอย่างรับรังสีน้อย แต่ถ้าทำโดยมีข้อบ่งชี้ย่อมได้ประโยชน์มากกว่าโทษจึงไม่ควรหลีกเลี่ยง นอกจากนี้การเกิดมะเร็งนั้นต้องใช้เวลานานหลายสิบปีกว่าจะเกิดมะเร็ง ถ้าเป็นคนไข้อายุมาก กว่าจะเกิดมะเร็งก็อาจจะตายจากสาเหตุอื่นไปก่อนแล้ว และอีกเหตุผลหนึ่งเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น ปริมาณของรังสีที่เครื่องสร้างภาพก็ใช้น้อยลงกว่าสมัยก่อน นอกจากนี้รังสีแพทย์ก็พยายามใช้ปริมาณของรังสีที่ต่ำเท่าที่จะเป็นไปได้ตามขนาดตัวของคนไข้ด้วย

อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญทางการใช้รังสีก็พยายามระวังไม่ให้ผิดพลาด ดังนั้นเขาจะกล่าวว่าการฉายรังสีไม่ว่าจะขนาดเท่าไรก็เสี่ยง และแนะนำเฉพาะการใช้รังสีในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น วิธีที่จะจำกัดปริมาณของรังสีให้น้อยที่สุดมีดังนี้

  • ถ้าหมอตรวจแล้วสั่งเอกซเรย์ คุณอาจจะถามดูว่าทำแล้วจะเปลี่ยนการรักษาหรือไม่ ถ้าไม่ก็ไม่ควรทำ
  • ถ้าคุณทำเอกซเรย์ที่โรงพยาบาลหนึ่ง แล้วย้ายไปรักษาอีกโรงพยาบาลหนึ่ง ควรเอาฟิล์มจากโรงพยาบาลแรกไปให้ หมอที่โรงพยาบาลที่สองดูเพื่อจะได้ไม่ต้องทำซ้ำ
  • เวลาทำเอกซเรย์คนไข้ควรทำตามที่แพทย์หรือเจ้าหน้าที่เทคนิคอธิบาย เช่น นอนนิ่ง ๆ ถ้ากระดิก นอนไม่นิ่ง
    ตามสั่ง ภาพอาจจะไม่ชัดต้องทำใหม่ คือต้องได้รับรังสีเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น

คนไข้จำนวนมากเข้าใจผิดว่าการได้ตรวจด้วยเอกซเรย์หมายความว่าเป็นการตรวจที่ดี ถ้าแพทย์ไม่สั่งเอกซเรย์จะ
ไม่พอใจ แพทย์หลายคนจึงสั่งตรวจด้วยเอกซเรย์

การฉายรังสีโดยไม่มีเหตุผล ไม่มีข้อบ่งชี้เป็นสิ่งที่ไม่ดี อย่าไปบังคับแพทย์เพราะเห็นว่ามีประกันสุขภาพจ่ายให้ หรือประกันสังคมจ่าย (เพราะฉันยังไม่เคยใช้บริการเลยตั้งแต่จ่ายเบี้ยมานาน) ถ้าหมอไม่สั่งเอกซเรย์ไม่ควรหัวเสีย เพราะหมอเขาหวังดี ไม่ให้คุณรับรังสีที่อาจจะก่อมะเร็งได้

Resource: HealthToday Magazine, No.209 September 2018