“ไม่มีเวลาครับหมอ” เป็นคำตอบสุดคลาสสิคเมื่อผมถามผู้ป่วยเกี่ยวกับการออกกำลังกาย เป็นที่รู้กันว่าการออกกำลังกายส่งผลต่อสุขภาพที่ดีโดยรวม และลดอัตราเสี่ยงของการนําไปสู่โรคต่าง ๆ มากมาย ตั้งแต่โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ระบบไหลเวียนโลหิต ไปจนถึงโรคทางจิตเวชต่าง ๆ ผมจึงถือโอกาสนี้มาสร้างแรงบันดาลให้พวกเรามาเริ่มต้นออกกำลังกายเพื่อสิ่งดี ๆ ไปด้วยกันนะครับ
จากแนวทางขององค์การอนามัยโลก เน้นให้มีการเคลื่อนไหวออกแรงในรูปแบบใดก็ได้ ทั้งการออกกำลังกายจริง ๆ และการเคลื่อนไหวร่างกายในกิจกรรมประจำวันต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานบ้าน การเดินทาง หรือการทำงานอดิเรกอื่น ๆ โดยจะออกแรงขนาดที่ทำให้หายใจเร็ว และหัวใจเต้นแรง ทำต่อเนื่องกันอย่างน้อย 10 นาที คิดเวลารวม 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์นั่นเอง สำหรับมือใหม่ ผมคิดว่าเริ่มแรกเราต้องปรับมุมมองก่อนครับ หลายคนมองว่าการออกกำลังกายเป็น “สิ่งไกลตัว” และ “ว่างค่อยทำ” แต่ผมบังเอิญรู้มาว่าคุณน่ะ ไม่ว่างง่าย ๆ หรอกใช่ไหมครับ แต่ไม่เป็นไรครับ ในวันนี้ผมอยากให้คุณลองคิดตามผม ถ้าให้คิดซะว่า การออกกำลังกายเป็น “สิ่งที่ต้องทำ” เหมือนการอาบน้ำและแปรงฟันที่ต้องทำอยู่ทุกวัน ดังนั้นต่อให้คุณยุ่งอย่างไร สิ่งที่ต้องทำก็ย่อมต้องทำ และคุณรู้หรือไม่ว่าการออกกำลังกาย 30 นาทีต่อวัน คิดเป็นเวลาเพียงแค่ 1 ใน 48 ส่วนของเวลาทั้งหมดใน 1 วัน เทียบเท่าเวลานั่งตอบไลน์ เล่นเฟสบุค หรือดูละคร เพราะฉะนั้นการออกกำลังกายไม่ได้เสียเวลาอย่างที่คิด ที่เด็ดกว่านั้นคือคุณสามารถสะสมการออกกำลังกายได้ทีละ 10-15 นาที รวมกันได้ตลอดสัปดาห์ นั่นทำให้ผมเชื่อจริง ๆ ว่าคุณ “มีเวลา” อย่างแน่นอน
“เราออกกำลังเพื่ออะไร” มีร้อยแปดเหตุผลที่คุณจะจินตนาการได้ครับ ที่เห็นผลชัดที่สุดคือ การมีหุ่นและบุคคลิกภาพที่ดี สดชื่นและมั่นใจมากขึ้น สุดท้ายมันจะส่งผลให้ชีวิตคุณดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นโดมิโนในทุก ๆ ด้าน โรคอ้วนก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพูดถึงในที่นี้ จากการศึกษาทั่วโลกยืนยันแล้วครับว่าความอ้วนเกี่ยวโยงกับโรคต่าง ๆ มากมาย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง การออกกำลังกายจึงเป็นทั้งวิธีป้องกันและรักษาโรคนี้โดยตรง นอกจากนี้การออกกำลังกายยังช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางกาย และชะลอความแก่อีกด้วย ชัดเจนนะครับ การออกกำลังกายคือการลงทุนเพื่อชีวิตของคุณเองที่คุ้มค่าที่สุด ขอให้สลัดข้ออ้างทั้งปวงออกไป จัดเวลาส่วนหนึ่งให้การออกกำลังกาย แล้วทำตามแผนของตัวเองอย่างเคร่งครัด ในช่วงแรกผมเข้าใจว่ามันจะหนัก ๆ ท้อ ๆ หน่อย แต่เมื่อคุณเริ่มและทำต่อเนื่องได้อย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ ร่วมกับการคุมอาหารและพักผ่อนอย่างเพียงพอ ร่างกายจะปรับตัวจนชิน วันนั้นคุณจะมีความสุขกับการออกกำลังกาย และเห็นว่ามันคือส่วนหนึ่งในชีวิต วันนั้นแหละ ชีวิตใหม่เริ่มขึ้นแล้ว ชีวิตที่กระฉับกระเฉง และห่างไกลจากโรคภัย …อ่านถึงจุดนี้ คุณพร้อมจะเริ่มมันไปพร้อม ๆ กับผมแล้วหรือยังครับ?
ข้อมูลอ้างอิง: http://www.who.int/dietphysicalactivity/factsheet_adults/en/
นพ.กันตพงศ์ ทองรงค์ (เปียงยาง)
มัธยมปลาย/มัธยมต้น เตรียมอุดมศึกษา/สวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต
ผลงานและความสามารถพิเศษ ฑูตกิจกรรม MDCU ambassador 2560 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รองประธานนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2559, รางวัลชนะเลิศการออกแบบเข็มกลัดงานวันอานันทมหิดล 2559-2560 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผู้ออกแบบโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์เนื่องในวันเบาหวานโลก สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ปี 2559, ผู้ก่อตั้งชมรมความคิดสร้างสรรค์และการแสดงออกทางศิลปะ สโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฯลฯ
ความสนใจและงานอดิเรก การออกแบบและผลงานสร้างสรรค์ทางศิลปะ, การถ่ายภาพ, weight training
Resource: HealthToday Magazine, Issue no. 195, AUGUST 2016