เยียวยาเมื่อรักลาจาก

นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ จิตแพทย์

0
2451

การผิดหวังในความรักมักสร้างความเจ็บปวดให้กับชีวิตอย่างมากมาย หลายคนโศกเศร้าจนเสียการเสียงาน ชีวิตพังทลาย หลายคนเจ็บช้ำจนกลายเป็นแผลเป็นในใจ การอกหักหรือเลิกราย่อมไม่มีใครอยากให้เกิด แต่หากเกิดขึ้นแล้ว สิ่งสำคัญคือ เราจะสามารถเยียวยาจิตใจตัวเองได้อย่างไร เพื่อที่แผลใจนั้นจะหายได้เร็วที่สุด และสามารถกลับไปเป็นคนเดิมอย่างที่ตัวเราเคยเป็นได้

ระยะของการเลิกรา

ระยะนี้ผมดัดแปลงมาจากระยะของความโศกเศร้าจากการสูญเสียของ Elisabeth Kübler-Ross ซึ่งสามารถแบ่งอาการออกได้เป็น 5 ระยะดังนี้

  1. ระยะช็อก/ปฏิเสธความจริง โดยอาการแรกเมื่อเราถูกบอกเลิกหรือโดนทิ้งก็คือ ตกใจ ช็อก และไม่ยอมรับความจริง ซึ่งอาจแสดงให้เห็น เช่น พูดว่า “ไม่จริงใช่ไหม” “ล้อเล่นใช่ไหม” เป็นต้น โดยระยะนี้อาจกินเวลาเพียงไม่กี่นาที จนถึงหลายๆ วันได้ในบางคน เช่น แฟนบอกเลิกไปแล้ว แต่ยังคิดว่าเขายังเป็นแฟนเราอยู่ เป็นต้น
  2. ระยะโกรธ เป็นระยะต่อมาเมื่อพ้นจากระยะช็อกแล้ว ในระยะนี้จะเกิดอารมณ์โกรธ โดยอาจจะโกรธได้ทั้งคนอื่น เช่น “เพราะแกคนเดียว” “แกมันเลว” หรือโกรธตัวเอง “ทำไมฉันถึงแย่แบบนี้นะ” “ทำไมตอนนั้นเราถึงทำอย่างนั้น” เป็นต้น ในบางคนหากโกรธอีกฝ่ายอย่างรุนแรงมาก อาจถึงขั้นมีความคิดอยากไปทำร้ายได้
  3. ระยะต่อรอง หรือที่ผมมักเรียกเองว่าระยะความหวังลมๆ แล้งๆ ระยะนี้ผู้ที่เลิกราจะต่อรองกับอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอีกฝ่าย หรือแม้กระทั่งสิ่งศักสิทธิ์ โดยหวังว่าเมื่อทำแล้วชีวิตคู่จะกลับคืนมา เช่น “ฉันจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง” “ฉันยอมทุกอย่าง” “ขอโอกาสหน่อย” บางคนใช้วิธีบนบานกับสิ่งศักสิทธิ์ หรืออธิฐาน สวดมนต์ เพื่อให้เขากลับคืนมา ซึ่งระยะนี้มักเป็นปัญหาที่สุดที่ทำให้คนเราติดอยู่กับความเจ็บปวด และไม่สามารถก้าวผ่านไปได้
  4. ระยะซึมเศร้า มักเกิดขึ้นตามมาเมื่อรู้ตัวว่าไม่สามารถต่อรองได้ และตระหนักว่าทำอย่างไรเขาก็ไม่กลับมา ก็จะเกิดอารมณ์ซึมเศร้า เสียใจ ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากเจอหน้าใคร บางคนอาจรู้สึกโทษตัวเอง รู้สึกตัวเองไร้ค่า หากเป็นมากๆ อาจถึงขั้นคิดว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่
  5. ระยะยอมรับ เป็นระยะสุดท้าย ระยะนี้คือการที่คนๆ นั้นยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นได้ อารมณ์จะกลับมาเป็นปกติ ไม่เศร้าอีกต่อไป

เยียวยาจิตใจให้ตัวเอง

  1. ยอมรับความจริง เป็นสิ่งแรกและสิ่งสำคัญที่สุด นั่นคือ “ยอมรับความจริง (เถอะ) ว่าเขาไม่อยู่กับเราแล้ว” และนี่เป็นความจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน หลายคนติดไม่สามารถไปต่อในชีวิตได้ เพราะยังยึดติดอยู่กับระยะต่อรองว่า สักวันเราอาจจะได้กลับมาดีกัน ถ้าเราทำตัว (… เติมเอาเอง…) แล้วเขาจะกลับมารักเรา เดี๋ยวสักวันเขาก็จะกลับมา ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ ต้องยอมรับ (ย้ำอีกที) ว่า ณ เวลานี้ เขาจากไปแล้ว และนี่คือความจริง ความคาดหวังว่าสักวันจะกลับมาคู่กันเป็นความคาดหวัง แต่ไม่ใช่ความเป็นจริงในปัจจุบัน
  2. หยุดหมกมุ่นกับสิ่งที่จะทำให้ทุกข์ใจ สิ่งที่พบได้เป็นประจำคือการย้ำคิดซ้ำๆ กับเรื่องความรัก ส่วนใหญ่คำถามที่คนมักถามตัวเองตลอดคือ “ทำไม” เช่น “ทำไมเขาทำแบบนี้” “ทำไมเขาเลิกกับเรา” “ทำไมคู่อื่นไม่เห็นเป็นแบบนี้” “ทำไมเขาพูดแบบนี้” “ฉันดีเกินไปยังไง ดีแล้วทำไมถึงเลิก (อยากได้คนเลวหรือไง)” ฯลฯ คำถามพวกนี้ส่วนใหญ่มักหาคำตอบจริงๆ ไม่ได้ หรือรู้ไปก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไร (ก็เลิกกันเหมือนเดิมอยู่ดี) เพราะคำถามพวกนี้เกิดขึ้นจากอารมณ์เป็นหลัก ไม่ใช่เกิดจากเหตุผล ดังนั้นต้องเลิกหมกมุ่นและถามตัวเองซ้ำๆ ในคำถามเหล่านี้
  3. เอาสิ่งซ้ำเติมแผล(ใจ)ออกไป สิ่งใดที่เห็นแล้วช้ำใจ หรือกระตุ้นให้คิดวนเวียนแต่เรื่องเดิมๆ ก็ควรเอาออกให้หมด รูปถ่าย ของขวัญ อะไรที่จะทำให้นึกถึงก็เก็บไปให้หมด (จะทิ้งก็ได้หรือเก็บซ่อนไว้ก่อนก็ได้หากเสียดาย) และที่สำคัญสำหรับยุคสังคมออนไลน์ ก็อย่าลืมบล็อกหรือซ่อนเฟสบุ๊ค และอื่นๆ ด้วยนะครับ โดยพฤติกรรมที่ห้ามทำเลย (แต่พบได้บ่อย) คือการไปส่องเฟสบุ๊คอดีตแฟนเป็นระยะ และพยายามหาทางติดต่อนิดๆ หน่อยๆ (ซึ่งหากเขาไม่ตอบก็ช้ำใจ บางทีอีกฝ่ายตอบมาแบบเป็นมารยาทเฉยๆ ก็คิดไปเองอีกว่ามีความหวัง โดยเฉพาะในคนที่อยู่ในระยะต่อรอง) สิ่งซ้ำเติมแผลใจนี่รวมถึงพวกเพลงอกหักด้วยนะครับ อกหักก็เจ็บอยู่แล้ว อย่าไปซ้ำเติมอีกด้วยเพลงอกหัก
  4. กลับไปทำสิ่งที่ต้องทำ หลายคนเมื่อเลิกกันใหม่ๆ อาจจะเสียใจจนไม่ไปเรียน ไม่ไปทำงาน ไม่ทำงานบ้าน ซึ่งอาจเป็นได้ในช่วง 1 อาทิตย์แรก แต่หลังจากนั้นให้พยายามกลับไปทำให้ได้เร็วที่สุด แม้จะรู้สึกว่าไม่มีอารมณ์หรือไม่อยากไปก็ตาม แต่ให้ไป เพราะการหยุดอยู่บ้านมักไม่ช่วยอะไร ซ้ำร้ายเวลาที่ว่างมักจะทำให้เราคิดซ้ำๆ หนักกว่าเดิม
  5. หากิจกรรมบันเทิงให้กับชีวิต เมื่อรักสิ้นสุด แน่นอนว่าอารมณ์ที่ครอบงำเราจะเป็นความเศร้า ดังนั้นแล้วอย่าปล่อยให้มันครอบงำเรามากเกินไป ให้หากิจกรรมที่ทำแล้วมีความสุข เช่น ไปดูหนัง เที่ยวต่างจังหวัด ออกกำลังกาย หรือออกไปกินข้าวกับเพื่อนสาว เป็นต้น
  6. มีที่ปรึกษาที่ดี ไม่แปลกที่ในช่วงเยียวยาจิตใจนี้ บางครั้งเราจะอยากระบาย หรืออยากปรึกษาบางอย่าง ให้หาเพื่อนสักคนสองคนที่เราสามารถระบาย บ่น และสามารถให้คำปรึกษากับเราได้ หลายครั้งคนที่คิดหมกมุ่นกับความรักมักมองโลกไม่ตรงจริง หรือแม้กระทั่งหลอกตัวเอง เช่น บางคนส่งไลน์ไปแล้วเขาตอบกลับมา ก็อาจหลอกตัวเองว่า เห็นไหม เขายังมีใจ ทั้งๆ ที่เป็นเพียงการตอบธรรมดา ซึ่งเพื่อนที่เป็นคนนอกมักมองเห็นตามความเป็นจริงมากกว่า
  7. หยุดโทษตัวเอง เรื่องความรักเป็นเรื่องของคนสองคน จะรักจะเลิกก็เป็นเรื่องของความเข้ากันได้ของคนสองคน การเข้ากันไม่ได้ก็คือเข้ากันไม่ได้ ไม่ได้แปลว่าเราเป็นฝ่ายผิดโดยสมบูรณ์ ในช่วงรักษาแผลใจนี้จึงไม่ใช่เวลาที่จะมาโทษตัวเองว่าเราแย่ หรือมันเป็นความผิดของเรา
  8. ปรับตัวใหม่กับชีวิตโสด การกลับมาโสดก็เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งของชีวิต เหมือนเราเปลี่ยนที่ทำงานใหม่ แรกๆ หลายคนย่อมไม่ชิน โดยเฉพาะคนที่มีคู่มานานๆ ซึ่งก็ต้องปรับตัวกันไป เคยกินข้าวข้างนอกกับแฟนสองคนมาตลอด ก็ต้องเปลี่ยนไปกินกับเพื่อนบ้าง หรือลองไปคนเดียวบ้าง ชีวิตเคยเลิกงานแล้วก็อยู่กับแฟนตลอด ก็คงต้องเปลี่ยน เช่น ไปออกกำลังกายตอนเย็น หรือไปกับเพื่อนที่ทำงานแทน การที่เราเป็นโสดก็ต้องปรับให้ใช้ชีวิตแบบคนโสด อย่าพยายามใช้ชีวิตแบบเหมือนมีคู่
  9. ใจเย็นและอดทน แน่นอนว่าอกหักหรือเลิกกันไม่ได้หายใน 2-3 วันแน่ๆ โดยปกติมักใช้เวลาหลายเดือนถึงจะทำใจได้ การทำใจได้ในเวลาสั้นๆ มักเป็นการหลอกตัวเอง หรือเก็บกดความรู้สึกไว้อย่างมากซึ่งไม่เป็นผลดี แผลใจก็ไม่ต่างจากแผลทางกาย เวลาจะค่อยๆ เยียวยาให้แผลค่อยๆ หายดี แต่! สิ่งสำคัญคือ เราก็ต้องช่วยดูแล และไม่ซ้ำเติมบาดแผลเช่นกัน
  10. พบแพทย์หากไม่ดีขึ้น บางครั้งความเศร้าโศกจากการเลิกราอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ ดังนั้นหากเวลาผ่านไปหลายเดือนก็แล้วยังไม่ดีขึ้น อาการเป็นมากจนไม่เป็นอันทำอะไรติดต่อกันนานหลายสัปดาห์ หรือมีความคิดฆ่าตัวตายซ้ำๆ ก็ควรไปพบแพทย์ การรักษาจะช่วยให้อาการดีขึ้น

การเลิกราเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริงบางครั้งก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องรักษาจิตใจและปรับตัวกันไป อย่าปล่อยให้ตัวเองจมกับสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป แผลใจนั้นก็จะค่อยๆ จางหายไป และเราก็จะสามารถเดินต่อไปได้อย่างมีความสุข หลายคนเมื่อมองกลับมาดูจะพบว่าสิ่งนี้เป็นเพียงแค่บทชีวิตเพียงช่วงสั้น ๆ ในชีวิตของเราเท่านั้น

 

Resource: HealthToday Magazine, No.178 February 2016