เรื่องไขมันที่ยังคาใจ

เรียบเรียงจากการบรรยายเรื่อง "ไขมันร้าย ไขมันดีมีที่ไหน?" โดย ผศ.นพ.พรพจน์ เปรมโยธิน ในงานสุขภาพเต็มร้อย ครั้งที่ 17 วันที่ 5 พฤศจิกายน 2560

0
1499

ปัจจุบันมีการแชร์ข้อมูลด้านสุขภาพมากมายผ่านทางสังคมออนไลน์ รวมทั้งเรื่องของไขมัน มีประเด็นใดบ้างที่น่าสนใจ มาไขข้อข้องใจไปพร้อม ๆ กัน

Q: น้ำมันหมูดีกว่าน้ำมันพืช เพราะช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ดีกว่า…จริงหรือ?

A: ไม่จริง เนื่องจากมีหลายการศึกษาได้ข้อมูลตรงกันว่า เมื่อเปลี่ยนจากน้ำมันหมูหรือเนยมาเป็นน้ำมันพืช (ไม่รวมน้ำมันปาล์มและน้ำมันมะพร้าว) อัตราการเกิดโรคหัวใจลดลง 26% จึงควรเลือกใช้น้ำมันพืชแทนน้ำมันหมู โดยใช้ให้ถูกปริมาณคือไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา และใช้ให้เหมาะสมกับการประกอบอาหาร

 

Q: น้ำมันมะพร้าวช่วยบำรุงสมอง ป้องกันอัลไซเมอร์ ลดอนุมูลอิสระ และป้องกันการติดเชื้อ…จริงหรือ?

A: ไม่จริง อย่าหลงเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันมะพร้าวสกัดร้อนหรือสกัดเย็นต่างก็เป็นไขมันอิ่มตัวทั้งคู่ พบว่าน้ำมันมะพร้าวมีไขมันไม่อิ่มตัวเพียง 10% เท่านั้น อีก 90% เป็นไขมันอิ่มตัว หากรับประทานเข้าไปทำให้ไขมันตัวร้ายหรือแอลดีแอลคอเลสเตอรอลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ส่วนสรรพคุณอื่น ๆ ของน้ำมันมะพร้าว เช่น ช่วยลดน้ำหนัก ลดรอบเอว บำรุงสมอง หรือฆ่าเชื้อโรคนั้น ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยัน

 

Q: กินไข่วันละ 6 ฟองไม่ต้องห่วงคอเลสเตอรอล…จริงหรือ?

A: ความสับสนในเรื่องนี้เกิดขึ้นเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงคำแนะนำในสหรัฐอเมิรกาเกี่ยวกับการรับประทานอาหารเมื่อปี ค.ศ.2015 ที่ไม่เน้นการจำกัดปริมาณคอเลสเตอรอลในอาหาร (เดิมจำกัดที่ 300 มิลลิกรัมต่อวัน) แต่เน้นย้ำถึงความสาคัญของรูปแบบการบริโภคอาหารในลักษณะที่เป็น “อาหารสุขภาพ” ประกอบไปด้วย ข้าวแป้งไม่ขัดสี ผัก ผลไม้ ไก่ ปลา ผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ เลือกรับประทานน้ำมันจากพืชและถั่ว หลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นแหล่งของไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ เครื่องดื่มที่มีรสหวาน และเนื้อแดง ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าสามารถกินไข่ได้ไม่จำกัด จริงอยู่ที่คนทั่วไปสามารถรับประทานไข่ (รวมไข่แดง) 6 ฟองได้ แต่ไม่แนะนำ แนะนำให้รับประทานเพียงวันละ 1-2 ฟอง และควรรับประทานอาหารอื่น ๆ ด้วยให้หลากหลาย ส่วนผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง เบาหวาน หรือโรคหัวใจขาดเลือด ควรปรึกษาแพทย์

 

Resource : HealthToday Magazine, No.200 December 2017